พูดถึงการเลือกตั้ง เร็วๆ นี้ก็จะมีการเลือกตั้งผู้นำประเทศในบ้านเรา ซึ่งแน่นอนทำไมต้องเลือกตั้งรึ? ก็เพราะเป็นการใช้สิทธิของตนเองในฐานะราษฎรลงคะแนนเสียงเลือกตัวแทน เพื่อมาทำหน้าที่แทนตนในการปกครองแต่ละระดับของประเทศ เช่น การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด เป็นต้น และแน่นอนว่าการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตยนั้นต้องเป็นการเลือกตั้งโดยเสรี กล่าวคือต้องเปิดกว้างให้อิสระในการตัดสินใจทั้งในแง่ของผู้สมัครและผู้ออกเสียงและต้องเป็นไปโดยบริสุทธิ์และยุติธรรมไม่มีการชี้นำหรือบังคับให้เลือก
การเลือกตั้งมีความสำคัญไหม...แน่นนอนว่าเพราะประชาชนเป็นผู้มีอำนาจในการปกครองประเทศ แต่ในสภาพสังคมก็คงจะเป็นไปไม่ได้ที่ประชาชนทุกคนสามารถทำหน้าที่ปกครองประเทศพร้อมกันได้ จึงนำพาซึ่งความจำเป็นต้องเลือกผู้แทนของตนเข้าไปทำหน้าที่แทนตน และประชาชนยังสามารถเปลี่ยนผู้แทนซึ่งใช้อำนาจแทนตนได้โดยเลือกผู้ที่ตนเห็นว่าเป็นผู้เห็นประโยชน์แก่ส่วนรวมตามแนวทางที่ตนต้องการโดยพิจารณาจากนโยบายของผู้สมัครหรือพรรคของผู้สมัครนั่นเอง
แต่การเลือกตั้งผู้แทนไม่ได้มีเพียงแค่การเลือกตั้งระดับชาติ หรือการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาเท่านั้น ยังมีการเลือกตั้งอีกหลายระดับตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน เช่น การเลือกผู้ใหญ่บ้าน กรรมการหมู่บ้าน สมาชิกสภาท้องถิ่น ระดับตำบลคือ การเลือกกำนัน ผู้บริหารท้องถิ่น ระดับอำเภอคือ สมาชิกสภาเทศบาล สมาชิกสภาเมืองพัทยา ระดับจังหวัด คือ สมาชิกสภาจังหวัด และการเลือกตั้งในกรุงเทพฯ ซึ่งได้แก่ การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร การเลือกตั้งสมาชิกสภา กทม. และการเลือกตั้งสมาชิกสภาเขต เป็นต้น
เมื่อการเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของพลเมืองที่พึงต้องใช้สิทธิของตน การจัดให้มีการมีการเลือกตั้งในระดับเยาวชนก็เสมือนการซักซ้อมการเลือกตั้งผู้นำประเทศเช่นกัน เพราะในระดับอุดมศึกษาโดยเฉพาะระดับมหาวิทยาลัย เกือบทุกสถาบันต่างมีการจัดการเลือกตั้งนายก คณะกรรมการสโมสรนักศึกษาเช่น โดยผู้ใช้สิทธิก็ไม่ใช่ใครที่ไหนล้วนแล้วแต่เป็นสมาชิกหรือนักศึกษาในสถาบันนั้นๆ เลือกมาเพื่ออะไร? กลุ่มคนเหล่านี้จะเป็นตัวแทนในการออกเสียงทำหน้าที่เสนอแนะแสดงความเห็นในกิจกรรมหรือสิ่งที่ก่อให้เกิดประโยชน์เชิงสร้างสรรค์ต่างๆแก่เหล่าเพื่อนนักศึกษาด้วยกัน พร้อมทั้งเป็นการฝึกให้รู้จักบทบาทหน้าที่ ประชาธิปไตย และการทำงานร่วมกันในเครือข่ายสังคมใหญ่ระหว่างกันอีกด้วย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สรพงษ์ วงศ์ธีระธรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการนักศึกษา กล่าวว่า ที่มหาวิทยาลัยรังสิตได้มีวัฒนธรรมการเลือกตั้งที่สืบทอดกันมาหลายต่อหลายรุ่น ซึ่งรูปแบบการเลือกตั้งก็คล้ายกับการเลือกตั้งระดับชาติที่เราเห็นๆ กัน ไม่ว่าจะการเปิดรับสมัครทีมผู้สมัครที่มาจากการรวมตัวกันแต่ละวิทยาลัย/คณะ/สาขา ซึ่งก็จะมีกลุ่มผู้สมัครที่มีหลากหลายตามแนวทาง ทัศนคติ หรืออุดมการณ์ จากนั้นก็จะเปิดโอกาสให้ผู้สมัครแต่ละพรรคแต่ละทีมได้มีโอกาสแนะนำตัว หาเสียงกันได้เต็มที่ในรูปแบบที่สร้างสรรค์และเป็นไปตามกฎระเบียบของมหาวิทยาลัย และสุดท้ายพรรคไหนทีมไหนเข้าตาเหล่านักศึกษามากที่สุดไม่ว่าจะบุคลิกหน้าตา การพูดจา นโยบายของพรรค และความน่าเชื่อถือ ก็จะถูกลงคะแนนและได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งตัวแทนมาทำหน้าที่ในฐานะสโมสรนักศึกษาต่อไป
และที่ผ่านมารูปแบบการลงคะแนนเลือกตั้งของสโมสรนักศึกษา มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นรูปแบบการเข้าคูหากาเบอร์เดียว (สำหรับนายกสโมสรนักศึกษา) และเลือกยกทีม (สำหรับคณะกรรมการนักศึกษา) ซึ่งก็เป็นรูปแบบที่ใช้ปฏิบัติการมาโดยตลอด ปีนี้มหาวิทยาลัยรังสิตซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรมการศึกษา เราจึงได้เพิ่มช่องทางการเลือกตั้งแบบแมนนวล (Manual) มาเป็นรูปแบบออนไลน์เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้สิทธิมากขึ้นแม้จะติดภารกิจส่วนตัว หรือแม้กระทั่งติดเรียน ส่งงานอาจารย์ ทำกิจกรรม ออกค่ายออกแคมป์ หรือออกหน่วยช่วยเหลือสังคม ฝึกงานสหกิจ นักศึกษาแพทย์ติดการเรียน ณ ศูนย์การแพทย์ เป็นต้น สำนักงานกิจการนักศึกษาเล็งเห็นว่า ทางมหาวิทยาลัยได้มอบ iPad แก่นักศึกษาทุกคน ทำให้เกิดแนวทางของการเลือกตั้งออนไลน์ขึ้น แนวทางดังกล่าวเป็นการสร้างนวัตกรรมทางการศึกษาที่นำมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินการ นอกจากนี้ยังมี ศูนย์ให้คำปรึกษาน้องใหม่ออนไลน์ การใช้ QR Code ในการเข้าถึงข้อมูล การเรียน ร.ด. และการผ่อนผันการเกณฑ์ทหาร เป็นต้น เราต้องการให้นักศึกษารู้สึกว่าการเลือกตั้งเป็นสิ่งที่ใกล้ตัว และทุกคนสามารถแสดงออกทางความคิดผ่านการลงสมัครเลือกตั้งและการใช้สิทธิ์เลือกตั้ง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างพลังคนรุ่นใหม่ในการพัฒนากิจกรรมนักศึกษาของมหาวิทยาลัยรังสิตในก้าวหน้ามากขึ้น
นายขุนคำ ปองรักษาชีวิต ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายงานบริการซอฟต์แวร์ สำนักงานบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ กล่าวถึงความยากง่ายในการเลือกตั้งออนไลน์ว่า สำหรับขั้นตอนเลือกตั้งในระบบออนไลน์มีการใช้งานที่ง่ายมาก สามารถทำตามขั้นตอนดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 เลือกภาษา ที่ใช้งานในระบบ มีให้เลือก 2 ภาษา (EN/ไทย)
ขั้นตอนที่ 2 Login เข้าสู่ระบบเลือกตั้งออนไลน์
ขั้นตอนที่ 3 เลือกนายกสโมสรนักศึกษา
ขั้นตอนที่ 4 เลือกคณะกรรมการนักศึกษา
ขั้นตอนที่ 5 เลือกตั้งสำเร็จ
โดยระบบจะไม่มีความซับซ้อน สามารถทำตามขั้นตอนได้จนจบก็เลือกตั้งสำเร็จแล้วในส่วนรูปแบบหรือ Application ที่รองรับเป็นการใช้งานผ่าน Web Browser สามารถใช้งานได้หลากหลาย Browser อาทิ เช่น Internet Explorer, Google Chrome, Mozilla Firefox เป็นต้น และสามารถเปิดผ่านมือถือ หรือคอมพิวเตอร์เพื่อทำตามขั้นตอนการเลือกตั้งได้ทันทีไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม
เห็นไหมว่า...แค่นี้เราก็สามารถทำหน้าที่พลเมืองในรั้วมหาวิทยาลัยกันได้ พลเมืองประเทศก็เช่นกัน แต่ไม่มีออนไลน์แค่นั้นเอง!
"