การสอบวัดผล เน้นเก่งคนเดียว หรือ เก่งยกทีม?

30 Jan 2019

 

เมื่อความเจริญก้าวล้ำของเทคโนโลยี และข้อมูลข่าวสารในโลกยุคปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และต่อเนื่อง เราจะเห็นการเกิดขึ้นของนวัตกรรม สินค้า บริการใหม่ๆ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป สำหรับประเทศไทยเรามีการกำหนดนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เพื่อการคิดค้น พัฒนาเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ให้ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เพื่อให้ประเทศของเราหลุดจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน พยายามปรับตัวให้สอดรับกับพลวัต และนโยบายที่เกิดขึ้นด้วยโครงการ กิจกรรมต่างๆ นานาที่มีออกมาให้เห็นกัน การที่จะนำพาประเทศไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ สิ่งสำคัญคือต้องเร่งการพัฒนาและเตรียมความพร้อมให้กับคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่เพียงแค่ด้านเทคโนโลยีด้านเดียวแต่หมายถึงภาพรวมขององค์ความรู้ทั้งหมดที่จะส่งผลในการนำความรู้นั้นมาใช้ในการพัฒนา ประเทศจะมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีทักษะ มีประสิทธิภาพสูง พร้อมก้าวเข้าสู่โลกของนวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่ ๆ รองรับการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นต่อไปได้

 

ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น เรื่องสำคัญของประเทศเราที่ยังคงหาทางออกที่ดีที่สุดให้กับเด็กยุคใหม่ไม่ได้เสียที คือ ระบบการศึกษา ไม่ใช่ว่าระบบการศึกษาของเราไม่ดีแต่คำถามคือเหมาะสมกับบริบทปัจจุบันหรือไม่? ยกตัวอย่างเรื่องการวัดผลและประเมินผลทางการศึกษา แต่เดิมเรารู้จักการวัดและประเมินผลทางการศึกษาเป็นเรื่องของ 1) การทดสอบ (Testing) ก็คือการนำเสนอชุดคำถามที่เรียกว่าข้อสอบหรือแบบทดสอบที่มีมาตรฐานให้ผู้เรียนตอบ 2) การวัดผล (Measurement) การวัดคุณลักษณะ (Attribute) ของผู้สอบจากผลการตอบคำถามตามแบบทสอบในกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เพื่อแสดงคุณค่าเชิงปริมาณหรือตัวเลขที่วัดได้การซึ่งยังรวมถึงการนำเครื่องมืออื่นมาใช้อย่าง การสังเกตพฤติกรรม การสัมภาษณ์ การตรวจผลงานต่างๆ 3) การประเมินผล (Evaluation) หมายถึง กระบวนการอย่างมีระบบที่นำข้อมูลจากการวัดผลมาตีค่าและตัดสินคุณค่าของผู้เรียน ซึ่งการวัดผลและการประเมินผลเป็นกระบวนการที่มีความต่อเนื่อง (ไพศาล สุวรรณน้อย, 2545)


แน่นอนว่าการจัดการเรียนการสอนควรมีการตรวจสอบคุณภาพของผู้เรียน ผู้สอน และกระบวนการสอนเป็นระยะๆ (Formative evaluation) เพื่อพิจารณาตรวจสอบว่าผู้เรียนมีคุณสมบัติตรงตามวัตถุประสงค์ของการเรียนการสอนตรงตามที่กำหนดไว้หรือไม่ กระบวนการวัดและประเมินผลนี้จะพยายามทำให้ได้ข้อมูลจากการจัดการเรียนการสอนเพื่อนำมาใช้วิเคราะห์และตัดสินใจว่าการสอนนั้นบรรลุผลหรือไม่(Summative Evaluation) และนำผลการตัดสินใจมาพัฒนาปรับปรุงการเรียนการสอนต่อไป หากไม่มีการวัดและประเมินผลก็ไม่ทราบว่าผู้เรียนมีความรู้เพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด ไม่ทราบว่าการจัดการเรียนการสอนดังกล่าวมีประสิทธิภาพหรือมีความเหมาะสมหรือไม่


ในการวัดและประเมินผลด้านการศึกษานั้น สามารถใช้เครื่องมือวัดผลที่ขึ้นอยู่กับลักษณะวัตถุประสงค์ของการศึกษาและแนวทางการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ ในความเห็นส่วนตัวการสอบข้อเขียนในวิชาที่เน้น Soft Skills และตั้งกฎเกณฑ์แบบห้ามลอกกัน ห้ามปรึกษากัน ห้ามใช้เครื่องมือสื่อสาร เรียกว่าเป็นอุปสรรคต่อแนวทางพัฒนา Team Spirit อย่างมาก ผลจากการสอบมักเน้นที่การแข่งขัน สร้างคนเก่งเชิงเดี่ยว รู้คนเดียว ทำให้เสียโอกาส และความสามารถในการขับเคลื่อนชีวิตไปสู่ความสำเร็จ ผมเชื่อว่าการวัดผลควรเกิดจากจำลองการทำงานจริง เอาความเก่งแต่ละด้านของคนมารวมกัน (เพราะเราไม่ได้เก่งทุกเรื่อง) ในการทำงานที่เป็นโปรเจ็กต์ใหญ่ขึ้น (ทำคนเดียวไม่ได้) ควรจะให้ผู้เรียนเข้าใจกระบวนการทำงาน (Experiences) เปิดมุมมองใหม่ๆ (Creative) และได้ลิ้มลองความสำเร็จจาก Team Spirit แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ อย่างน้อยจะได้เข้าใจได้ว่าถ้ารวมตัวกัน เชื่อมั่นในกันและกัน ยอมรับในบทบาทที่ต่างกัน ทุกอย่างทำสำเร็จได้ไม่ยาก


การประเมินสภาพความเป็นจริงเป็นวิธีการประเมินสะท้อนให้เห็นพฤติกรรมและทักษะที่จำเป็นของผู้เรียนในสถานการณ์ที่เป็นจริง และเป็นวิธีการประเมินที่เน้นงานหรือกิจกรรมที่ผู้เรียนได้แสดงออกโดยการกระทำ เน้นระบวนการเรียนรู้ และผลงาน เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการประเมินและร่วมในการจัดกระบวนการเรียนรู้ของตนเอง วิธีการนี้เชื่อว่าจะช่วยพัฒนาการ การเรียนรู้ของผู้เรียนได้ดี และมีความต่อเนื่อง กระบวนการประเมินอาจใช้การสังเกต การบันทึก การรวบรวมข้อมูลจากผลงานและวิธีการที่ผู้เรียนปฏิบัติ สิ่งนี้น่าจะเป็นกลยุทธ์สำคัญของการวัดและประเมินผลแบบเดิมๆ นอกจากนี้ยังทำให้เห็นความสามารถทางสติปัญญา กระบวนการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล การแก้ปัญหา มากกว่าการเน้นเรื่องการท่องจำ หรือการหาคำตอบจากแบบทดสอบเพียงคนเดียว


โลกมันเปลี่ยนไป อะไรๆก็ควรปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์จริง ของเดิมที่ดีอยู่ก็ใช้ไป แต่ความเชื่อใหม่ๆที่ดีกว่าและเห็นผลดีกว่า หรือมีประสิทธิภาพดีกว่าก็ควรเริ่มปรับปรุง พัฒนา การอยู่ในสังคมโลกไม่ได้อยู่เพื่อเอาตัวรอดเพียงคนเดียว แต่เราต้องไปพร้อมกับกลุ่มคนในสังคมโลก ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะปรับเปลี่ยนทัศนคติ ความเชื่อแบบเดิมๆ ทำงานคนเดียวเก่งคนเดียวดีจริงหรือ ฉะนั้นทำไมไม่ปรับพื้นฐานการศึกษาให้มีรูปแบบเรียนด้วยกัน เก่งด้วยกัน สร้างเครือข่ายความรู้ เรียนรู้ร่วมกัน มากกว่าการมีข้อจำกัด หรือสร้างกฎเกณฑ์ สร้างกรอบ ตั้งแต่เริ่มให้การศึกษาขั้นพื้นฐานแก่เยาวชน “คนสร้างชาติ” รุ่นต่อไป

 

/////////////////////////////////
 

"

ผู้จัดทำ

บทความที่คุณอาจสนใจ