อ.ปู แห่งวิทยาลัยดนตรี บุคคลมากความสามารถในศาสตร์ประพันธ์เพลง/ผลิตดนตรี

28 Feb 2019

 

 

ชนใดไม่มีดนตรีกาล
ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก
อีกใครฟังดนตรีไม่เห็นเพราะ
เขานั้นเหมาะคิดกบฎอัปลักษณ์
ฤๅอุบายเล่ห์ร้ายขมังนัก
มโนหนักมืดมัวเหมือนราตรี
อีกดวงใจย่อมดำสกปรก
ราวนรกเช่นกล่าวมานี่
ไม่ควรใครไว้ใจในโลกนี้
เจ้าจงฟังดนตรีเถิดชื่นใจ

พระราชนิพนธ์แปล ในรัชกาลที่ ๖ (จากต้นฉบับของ วิลเลี่ยม เช็กเปียร์)

 

จะว่าไปจากบทพระราชนิพนธ์ข้างต้น ก็แสดงให้เห็นชัดแจ้งว่าไม่ว่าจะสังคมวัฒนธรรมใด ประเทศไหนไหนล้วนแล้วแต่มีศิลปะแขนงที่เรียกว่าดนตรีกันทุกชนชาติจากอดีตจวบจนปัจจุบัน ประเทศไทยเองก็เช่นกันเราเริ่มมีศิลปะ ศิลปิน นักร้อง นักดนตรี กันตั้งแต่อดีตกาลยาวนานจนมีพัฒนาการเกี่ยวกับดนตรีที่เกิดขึ้นตามยุคสมัยจนปัจจุบันกลายเป็นดนตรีสมัยใหม่

 

ศาสตร์ของดนตรีมากมายเสียเรียนรู้ไม่หมด จนมีการเรียนการสอนที่แยกออกตามความถนัด และทุกประเภทความถนัดยังคงยึดเป็นแนวทางอาชีพได้ไม่แพ้อาชีพอื่นเลยก็ว่าได้ ตัวอย่างอาชีพทางด้านเทคโนโลยีดนตรีที่หลานคนอาจรู้จักหรือไม่รู้จักเลยอยากจะพามาพบกับกูรูพร้อมเรื่องราวที่อาจทำให้กล้าที่จะเปิดมุมมองใหม่ๆ ด้านดนตรีให้กับทุกคน

 

 

อาจารย์ประดิษฐ์ แสงไกร (อ.ปู)
บุคคลท่านนี้ คือ อาจารย์ประดิษฐ์ แสงไกร อาจารย์ประจำภาควิชาการประพันธ์เพลง และภาควิชาการผลิตดนตรี วิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต อาจารย์เป็นผู้หนึ่งที่ได้รับรางวัลทุนสร้างสรรค์ศิลปกรรม ศิลป์ พีระศรี ครั้งที่ 18 ประจำปี 2559 (The 18th Silpa Bhirasri Creativity Grants 2018) โครงการ “The best of Thailand meets the best of the world” สำหรับรางวัลนี้เป็นรางวัลที่มอบให้ศิลปินโดยดูจากผลงานศิลปะต่างๆของศิลปิน แต่ปีนี้จัดให้มีรางวัลด้านการประพันธ์เพลงเป็นปีแรกโดยเน้นเรื่องของคอนเซ็ปต์และแนวคิดในการประพันธ์ตามหัวข้อ ส่วนตัวอาจารย์ได้รางวัลนี้จากการตีความส่วนตัวและหยิบยกความเป็นไทยผสมกับความเป็นสากลที่ว่าหากนำทั้งสองแบบมาผสมผสานกันควรจะออกมาอย่างไร? ซึ่งอาจารย์นำสัญลักษณ์ที่คนไทยคุ้นเคย และชาวต่างชาติพบเจอเป็นเมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทยนั่นคือ ยักษ์ในสนามบินสุวรรณภูมิ และนำเพลงไทยอย่างกราวในที่ใช้เป็นเพลงแสดงถึงตัวละครยักษ์ในการแสดงโขนมาปรับให้เข้ากับตะวันตกจึงทำให้ตรงกับคอนเซ็ปต์และได้รับรางวัล

 

 

 

สำหรับอาจารย์ประดิษฐ์ นั่นต้องบอกเลยว่าเป็นตัวอย่างของบุคคลที่มาทางสายดนตรีอาชีพที่ไม่ใช่แค่พรสวรรค์ เพราะอาจารย์เริ่มต้นพรแสวงตั้งแต่เริ่มรู้ตัวตนว่าชอบและรักที่จะมาสายวิชาชีพดนตรี อาจารย์เริ่มจากการเล่นดนตรีไทยมาก่อน เข้าเรียนมัธยมศึกษาที่โรงเรียนวัดสุทธิวราราม ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงด้านวงโยธวาทิต จึงมีโอกาสเรียนดนตรีเรื่อยมา จุดนี้ก็ทำให้รู้ว่าชอบดนตรีอยากทำอาชีพนี้ หลังจากจบชั้นม.ปลายจึงสอบเอนทรานซ์เข้าศึกษาที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สาขาการสอนเครื่องดนตรีและวงดนตรีไทย) แต่ด้านที่สนใจคือเทคโนโลยีดนตรี (การบันทึกเสียง) เนื่องจากเป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับตนเองจึงแสวงหาข้อมูลความรู้เพิ่มเติม อ่านหนังสือ ลงมือทดลองทำเอง สะสมจนกลายเป็นความชำนาญและประสบการณ์เรื่อยมา ต่อมาจึงศึกษาต่อระดับปริญญาโท ด้านการประพันธ์เพลงโดยตรงที่วิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต ด้วยความชำนาญและประสบการณ์นำพาให้มาเป็นอาจารย์โดยเริ่มสอนครั้งแรกที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ประมาณ 3 ปี และย้ายมาสอนที่มหาวิทยาลัยรังสิต กว่า 8 ปีจนถึงปัจจุบัน ในสาขาเทคโนโลยีการผลิตดนตรี

  

 

เทคโนโลยีผลิตดนตรี
สิ่งที่โดดเด่นของอาจารย์คือเป็นบุคคลที่ไม่อยากมีความรู้แบบคร่ำครึ และต้องอยู่ในเทรนด์ตลอด อะไรที่เป็นดนตรีแนวใหม่ต้องทัน เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นการนำมาเรียนรู้ร่วมกับนักศึกษาให้ตรงกันตามยุคตามสมัย รูปแบบการเรียนการสอนเทคโนโลยีผลิตดนตรี ที่เน้นการเรียนรู้ทักษะเพื่อผลิตผลงานดนตรีสมัยนิยม รวมถึงทักษะการใช้เครื่องมือในห้องบันทึกเสียง การเป็นผู้ผลิตผลงานดนตรีหรือคอนเสิร์ต (โปรดิวเซอร์) นักแต่งเพลงสมัยนิยม วิศวกรบันทึกเสียง ผู้ตัดต่อเสียงดนตรี และนักธุรกิจดนตรี อาจารย์จึงเน้นยึดความสนใจของนักศึกษาเป็นหลัก เพราะเรื่องของดนตรีมีความเป็นปัจเจก จึงมีความหลากหลายเพราะแต่ละคนฟังเพลงไม่เหมือนกัน อย่างเช่นวิชา Mix Technique (ทักษะการผสมเสียง) ก็ให้นักศึกษาเลือกเพลงที่ชอบได้ทุกแบบ ทุกสไตล์ โดยให้นักศึกษาหาโมเดลของตัวเองว่าอยากเป็นคาแรกเตอร์ในทิศทางไหน จากนั้นค่อยๆปรับจากโมเดลต้นแบบมาเป็นตัวของตัวเอง

 

“ด้วยความที่อาชีพดนตรีที่ไม่ใช่แค่นักดนตรี อาชีพดนตรีที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมบันเทิง และมีแนวโน้มจะมีการพัฒนาที่เห็นได้ชัด และได้รับกระแสตอบรับดีทั้งในและต่างประเทศ คือ การออกแบบเสียงสำหรับสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโฆษณา ภาพยนตร์ เกมส์ ซึ่งเป็นเทรนด์ที่น่าสนใจ ตรงนี้ในฐานะที่เราเป็นคนที่ค่ำหวอด และมองเห็นว่าอะไรที่จะส่งเสริมและพัฒนาให้นักศึกษาของเรามีอนาคตในทางที่ดีได้ เราจะทอดแทรกทุกประสบการณ์ให้เขาได้นำไปใช้ได้ ซึ่งปัจจุบันเราก็ให้นักศึกษาได้ลองทำไปควบคู่กับการเรียนไปด้วยซึ่งทำให้เขาได้ลองนำไปใช้จริง ก็นับว่าเป็นความภูมิใจเมื่อเขาเรียนจบก็จะเห็นได้ว่าหลายคนเข้าสู่วงการอาชีพที่เห็นผลชัด อาทิ Film Composer ทำเพลงประกอบสื่อต่างๆ Production House ทำเพลงประกอบภาพยนตร์ แม้กระทั่งเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยต่างๆ พสกเขาได้กระจายความรู้ไปสู่เวทีอื่นๆ ไป ทำประโยชน์กับคนอื่นเรียกว่าเป็นผลผลิตที่ประสบความสำเร็จของผมแล้ว”

 

 

 

 

Inspiration ใกล้ตัว
แรงบันดาลใจของอาจารย์ประดิษฐ์ที่ทำให้มีกำลังใจมาถึงทุกวันนี้ คือ “ครู” ครูที่ทำการเรียนของเราเราไม่ยึดติดกับกรอบมากเกินไปทางด้านศาสตร์ของดนตรีไทย ครูบุญยงค์ เกตุคง ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) ประจำปี ๒๕๓๑ และอาจารย์บรูซ แกสตัน นักดนตรีชาวอเมริกันผู้ที่ได้รับรางวัลศิลปาธรสาขาดนตรี ทั้งสองท่านทำให้เราได้รับการปลูกฝังแนวที่เปิดกว้างพัฒนาวัฒนธรรม ดนตรี และภาษาเข้าด้วยกัน ทำให้เราเป็นนักดนตรีที่เป็น Developer มากกว่า User หมายความว่าเราเราต้องเป็นนักดนตรีผู้พัฒนาได้ไม่ใช่นักดนตรีผู้ตามตรงนี้เองทำให้ผมได้รับโอกาสทำโปรเจ็กต์กับนักดนตรีชาวอังกฤษในการพัฒนาการเต้นร่วมสมัย ประกอบวรรณคดีไทย เรื่องพระมหาชนก ฉบับภาษาอังกฤษเขียนโดย Dr. Sarah Shaw อาจารย์ประจำ University of Oxford โดยทำงานร่วมกับนักดนตรี นักเต้น นักออกแบบท่าเต้นชาวไทย และอังกฤษ ร่วมถึงการคิด ดีไซน์ เพลงในแต่ละฉาก

 

 

 

 

ฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่จะทำให้เราพัฒนาคนอื่นได้เราต้องพัฒนาตัวเอง...อยากเป็นนักดนตรีในสายเทคโนโลยีการผลิตดนตรี ต้องฟังเพลงเยอะๆ เหมือนกับการอ่านหนังสือ ยิ่งอ่านมากยิ่งมีต้นทุนมาก การสร้างสรรค์เพลงก็เช่นกัน ฟังมากก็มีต้นทุนในการทำงานมาก เปิดใจให้กว้างแล้วเราจะสามารถทำงานของตนเองได้ทุกรูปแบบ เราจะไม่พึ่งพรสวรรค์อย่างเดียวเราต้องหาพรแสวงด้วยเพราะดนตรีเป็นเรื่องของ Skill (ทักษะ)ล้วนๆ แม้ว่าจุดเริ่มต้นของคนเราไม่เหมือนกัน แต่ถ้าเรามีปลายทางที่เราตั้งไว้แน่วแน่ จะเริ่มต้นจากนตรีไทยหรือดนตรีสากลมาก่อน เมื่อปลายทางเราคือ “นักดนตรี” ให้เริ่มต้นจากความเชื่อนั้นและค่อยๆตามมันเราก็จะเป็นหนึ่งในผู้ประสบความสำเร็จในอาชีพนี้ได้อย่างแน่นอน

 

"

ผู้จัดทำ

บทความที่คุณอาจสนใจ