สถาปัตยกรรม ‘ดิน’

08 Jul 2021

สารรังสิตออนไลน์ได้จะพาไปรู้จักกับ ศิษย์เก่าจากคณะสถาปัตย์ท่านหนึ่งที่ต่อยอดความรู้จากการเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จนค้นพบตัวตนและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านแบบที่ไม่เหมือนใคร “สถาปนิกผู้เชี่ยวชาญวัสดุดิน” คนแรกของประเทศไทย

 

 

พี่ปัจจ์ บุญกาญจน์วนิชา สถาปนิกและเจ้าของบริษัท La Terre (ลาแตร์) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายวัสดุสร้างบ้านจากดินชื่อดัง เจ้าแรกของประเทศไทย เป็นศิษย์เก่าระดับปริญญาตรีจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ รุ่นที่ 7 จากนั้นได้ไปศึกษาต่อ ณ สถาบันวิจัยดินเพื่อการก่อสร้างนานาชาติ CRA-Terre ซึ่งเป็นที่ปรึกษาขององค์การ Unesco และดูแลหลักสูตร Post Master in Earth Architecture ณ โรงเรียนสถาปัตยกรรมชั้นสูง เมืองเกรอนอบ ประเทศฝรั่งเศส (Ecole Nationale Superieure D’architecture De Grenoble, France)

 

จุดเริ่มต้นของการเลือกเป็นสถาปนิก

พี่ปัจจ์เลือกเรียนสถาปัตย์ ด้วยการค้นหาตัวตนช่วงเรียน ม.ปลาย ด้วยความไม่รู้หรอกว่าจะเรียนอะไร? แต่รู้ว่าสิ่งที่ไม่ชอบเรียนมีอยู่สองวิชา นั่นคือ วิชาเคมีและวิชาชีววิทยา แต่มีความชอบทางศิลปะพอประมาณ บวกับความชอบทางด้านวิทยาศาสตร์อยู่บ้าง ได้แก่ วิชาฟิสิกส์ และคณิตศาสตร์ จึงพยยามจับแมชดูว่าแบบนี้เข้ากับการเรียนด้านไหน มาจบที่สถาปัตย์ เพราะสถาปัตย์เป็นศาสตร์ที่อยู่ตรงกลางระหว่างศิลปะกับวิทยาศาสตร์ และเลือกเรียนที่ ม.รังสิต เพราะเอ็นทราสต์เข้าไม่ติดตามระเบียบ

ส่วนการเรียนการสอนก็เป็นไปตามจิตนาการที่คิดไว้ตั้งแต่ตอนแรกว่า เราอยากได้อะไร เราอยากเห็นอะไร วิชาความรู้ที่ได้รับแม้จะไม่ได้เรียนได้เกรดเฉลี่ยดีมากนักสามารถประคับประคองตัวเองมาเรื่อยๆ จนจบในระยะเวลา 5 ปีได้ ระหว่างที่เรียนชอบวัฒนธรรมการทำงานที่คณะ ได้ใช้ชีวิตอยู่ที่คณะตั้งแต่ ปี 1 ถึง ปี5 ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสียบาง ข้อดีคือเราได้เห็นการทำงานของรุ่นพี่ภาพรวมหมดทุกชั้นปีเลย ทำให้มองภาพออกว่าอนาคตเราจะทำอะไรต่อ เรียนปี 1 2 3 เป็นแบบนี้นะ ส่วนปี 4 5  จะทำงานแบบนี้ เป็นต้น  ทำให้เกิดการช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง หากเราไม่เข้าใจอะไรตรงไหนรุ่นพี่จะเข้ามาดู มาแวะ คอยแนะนำเราให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ เรียกว่าเป็นความสัมพันธ์ที่ดีค่อนข้างที่จะแน่นแฟ้น จนสุดท้ายสามารถจบและเข้าสู่โหมดการทำงานสถาปนิกเต็มตัว

 

 

ความท้าทายสายอาชีพสถาปนิกอาชีพ

หลังเรียนจบประมาณ ปี พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นยุคฟองสบู่แตกใหม่ๆ ทำให้ความฝันในการหางานทำงานสถาปัตย์ค่อนข้างยาก  แต่ในความโชคร้ายยังมีความโชคดีพี่ปัจจ์ได้เข้าไปทำทำงานในสายงานรับเหมาก่อสร้างประมาณ 1 ปี จากนั้นย้ายไปทำงานที่จังหวัดภูเก็ต ขณะนั้นเป็นช่วงขาขึ้นเนื่องจากมีการลงทุนจากต่างชาติค่อนข้างเยอะ ทำให้ได้ประสบการณ์การทำงานกับคนต่างชาติ เรียนรู้การทำพรีเซนต์เทชั่น ประกอบกับรับยิงตรีม ทำรูปสามมิติ และไฮไลท์ของอาชีพสถาปนิกที่ทำรายได้ให้มากพอสมควรคือ การทำโมเดล ซึ่งสมัยก่อนจังหวัดภูเก็ตไม่มีบริษัททำโมเดล บริษัทต่างชาติต้องจ้างทำโมเดลจากกรุงเทพแล้วส่งมาที่ภูเก็ต พอส่งมาเกิดความเสียหายจากการขนส่ง แตกหักอะไรต่างๆ พี่ปัจจ์เลยเริ่มจากการซ่อมก่อน จนรับทำจริงจัง เรียกว่าเป็นข้อดีข้อหนึ่งที่เอาจุดเล็กๆ จากการเรียนสถาปัตย์มาใช้จริง ทำดีทำสวยและเสร็จเร็วสร้างรายได้ให้หลายเท่าตัว

หลังจากทำงานไประยะหนึ่ง ก็ตัดสินใจไปต่างประเทศ ตั้งเป้าไปเรียนต่อปริญญาโท ที่ฝรั่งเศส แต่ยังไม่รู้จะเรียนสาขาอะไร เริ่มจากเรียนภาษาก่อน และเริ่มมองหาสาขาว่าจะทิศทางไหนที่เหมาะกับตัวเรา ซึ่งที่ต่างประเทศมีสาขาย่อยให้เลือกศึกษาเชิงลึกค่อนข้างหลากหลาย อาทิ กระจก ไม้ การรีโนเวทอาคาร ออกแบบเรือยอร์ช ออกแบบเวทีละคร พี่ปัจจ์เลือกเรียนทีละสาขาที่สนใจจนได้ปริญญามา 4 ใบ จากสาขาการจัดการสิ่งแวดล้อมในงานก่อสร้าง ที่เน้นเรียนการจัดวางของอย่างไรให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ประหยัดพลังงานมากที่สุด ขยะน้อยที่สุด สาขาที่สองเกี่ยวกับงานเสียง การจัดการเสียงภายในของอาคาร เช่น ห้องโอเปร่า ห้องแสดงละครเวที ที่มีเวที นักแสดงยืนร้องเพลงด้านหน้าเวทีกับความจุ 100 ที่นั่ง หน้าที่ของเราคือ ทำให้คนที่นั่งด้านหน้าซ้ายสุด กับคนที่นั่งด้านขวาหลังสุด ได้คุณภาพเสียงที่เท่ากัน ได้ยินเสียงพร้อมๆ กัน จากคนที่พูดอยู่เพียงหนึ่งคนตรงกลางเวทีคนเดียวพร้อมๆกัน หรือการจัดการเสียงภายนอกอาคาร เช่น บ้านใกล้รถไฟฟ้าจะมีเสียงจากการเคลื่อนตัวของรถไฟฟ้า จะจัดการกับเสียงนี้เพื่อไม่ให้เข้ามาในบ้านเราได้อย่างไร สาขาที่สามออกแบบบรรยากาศ เช่น ห้องหนึ่งห้องขนาด 3.5 ตารางเมตร เราจะทำห้องนี้เป็นอะไรอยากให้ห้องนี้มันเป็นนรก เดินเข้ามาต้องเป็นนรกเลยโดยไม่มีการก่อสร้างเพิ่มใช้เรื่อง แสง สี เสียง แพทเทิร์นรูปแบบอะไรต่างๆ ในการลำดับให้รู้สึกแบบนั้นให้ได้ และสาขาสุดท้ายเรื่องดิน การจะเรียนสาขานี้ได้นั้น หมายความว่าประเทศคนที่เรียนต้องมีสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่เป็นดินเสียก่อนถึงจะเข้าไปเรียนได้ แต่ปรากฏว่าประเทศไทยไม่มี แต่โชคดีได้รับโอกาสจึงเรียนได้ การเรียนการสอนสนใจมากจนตกหลุมรักแบบไม่ได้ตั้งใจ ได้การเรียนเรื่อง การกำเนิดดิน คือ การเกิดของดินแต่ละประเภท เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ช่วงเช้าเขาเรียนทฤษฎี บ่ายปฏิบัติจริง คือไปดูว่าดินเป็นอย่างไร อยู่ตรงไหน ทำให้ค้นพบตัวเองและสถาปัตยกรรมดิน

 

 

ตกลงปลงใจเป็นเชี่ยวชาญสถาปัตยกรรมดิน

เมื่อเรียนจบกลับประเทศไทย พี่ปัจจ์เริ่มทำการสำรวจสถาปัตยกรรมดินทั้งหมดในเมืองไทยที่เกิดขึ้นมา ได้ทำการสำรวจโดยร่วมกับมูลนิธิที่ เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับบ้านดินสำหรับผู้ที่อยากสร้างบ้านดินด้วยตัวเอง ทำให้ดินฉาบสำเร็จรูปเป็นที่รู้จักและเข้ามาพลิกโฉมวงการสถาปัตยกรรม เมื่อมีการรับรู้และเข้าใจบ้านดินมากขึ้นว่ามีความทนทาน ประหยัด และใช้อยู่อาศัยได้จริง ทำให้มีคนสนใจและอยากหันกลับมาใช้วัสดุธรรมชาติ ให้ความสำคัญกับการประหยัดพลังงานในบ้านมากขึ้น ด้วยความชำนาญเฉพาะทาง จากนั้นพี่ปัจจ์ได้เปิดบริษัท La Terre (ลาแตร์) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายวัสดุสร้างบ้านจากดินชื่อดัง เน้นการนำวัสดุดินสำเร็จรูปที่มาใช้เป็นเทคนิคในการฉาบผิวอาคารต่างๆ  เทคนิคการก่อสร้างทำผนังดินด้วยวิธีการกดอัดดินโดยมีเอกลักษณ์ของพื้นผิวที่ไม่เหมือนกับเทคนิคอื่นๆ รวมถึงนำวัสดุดินมาฉาบบนวัสดุทั่วไปอีกด้วย   
สถาปัตยกรรมดินของพี่ปัจจ์ และบริษัท La Terre (ลาแตร์) ดำเนินกิจการมากว่า 11 ปี ช่วงแรก ๆ ไม่ได้รับความสนใจด้วยความที่คนไทยยังไม่รู้จัก ทำให้ไม่ได้รับความนิยมนำมาใช้กับอาคาร หรือที่อยู่อาศัยมากนัก จึงเริ่มจากนำวัสดุดินไปสร้างโบสถ์ สร้างอุโบสถดินให้กับวัดจังหวัดเชียงใหม่ ที่ขาดแคลน โดยคอนเซ็ปต์พอเพียงที่สุดและประหยัดที่สุด ที่สำคัญมีความเป็นธรรมชาติที่สุด และได้นำผลงานนี้ส่งไปยังยังโรงเรียนเก่าที่ฝรั่งเศส ปรากฏว่าได้รับรางวัล ทำให้สถาปัตยกรรมดินเป็นที่รู้จักมากขึ้น

 

สำหรับตัวพี่ปัจจ์เรียกว่าทำงานสายอาชีพเฉพาะทางโดยเน้นสถาปัตยกรรมด้วยวัสดุดิน และปัจจุบันแนวโน้มการศึกษาต่อให้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเยอะขึ้น หากสนใจสายก่อสร้างอาจจะเรียนสถาปัตย์ในการปูพื้นฐานและไปต่อยอดในสิ่งที่เราชอบหรือถนัดเพื่อให้เกิดความเชี่ยวชาญและชำนาญมากขึ้น ประโยชน์จากการเริ่มต้นเรียนสถาปัตย์ ด้วยการเรียนการสอนที่ค่อนข้างเข้มข้น รวมถึงทักษะต่างๆ ที่ได้ แน่นอนว่าวันหนึ่งเราจะได้หยิบขึ้นมาใช้โดยไม่รู้ตัว อย่างไรก็ดีไม่ว่าจะเรียนคณะอะไรก็แล้วแต่ การเรียนในในระดับมหาวิทยาลัย ถือเป็นการฝึกกระบวนการคิด การแก้ปัญหา ทุกอย่างที่ได้เรียน พี่ปัจจ์เชื่อว่ามันมีประโยชน์ทั้งหมด เพราะมันเป็นการเพิ่มพูนทักษะให้กับตัวเรา และทุกคนจะมีทางค้นพบมันได้ด้วยตัวเอง

 

"

ผู้จัดทำ

บทความที่คุณอาจสนใจ