ม.รังสิต ชวนทีมอาจารย์แลกเปลี่ยนการเรียนการสอน สู่นวัตกรรมการศึกษาแบบ “Transformative Learning”

25 May 2023

สถาบัน Gen.Ed. ร่วมกับฝ่ายวิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดงาน "Innovative Education" เปิดเวทีเสวนาการจัดการเรียนการสอน หัวข้อ "Transformative Learning" ชวนคณาจารย์แลกเปลี่ยนองค์ความรู้กระบวนการเรียนการสอนเตรียมความพร้อมสู่นวัตกรรมการศึกษารูปแบบ “Transformative Learning” พร้อมพัฒนานักศึกษาปี 2567

 

 

ภายในงาน ดร.อรรถวิท อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต แสดงวิสัยทัศน์และนโยบายด้านการเรียนการสอนตามยแผนยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัยว่าด้วยการสร้างความเป็นเลิศทางการศึกษาการผลิตบัณฑิต “มหาวิทยาลัยรังสิตจำเป็นต้องจัดการเรียนการสอนให้ทันสมัยและทันต่อการเปลี่ยนแปลงตามทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงของเมซี่โรว์ (Mezirow) ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนได้คิดวิเคราะห์โดยการจัดสภาพการเรียนรู้ให้เผชิญกับวิกฤตการณ์ที่ไม่เป็นไปตามมุมมองเดิมของตน เกิดการใคร่ครวญอย่างมีวิจารณญาณ สนทนาเชิงวิพากษ์จนนำไปสู่การเรียนรู้สิ่งใหม่ ตัวอย่างเช่น “นักศึกษาชั้นปีที่ 1 เป็น...ได้โดยไม่ต้องรอนาน!” เป็นนิยามใหม่ของการเรียนรู้สำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยรังสิต และเป็นกรอบความคิดให้กับทีมคณาจารย์ที่ร่วมกันสร้างสรรค์แนวทางและวิสัยทัศน์แห่งการเรียนรู้แบบใหม่ของมหาวิทยาลัย โดยนวัตกรรมการศึกษา หรือ Innovative Education ของมหาวิทยาลัยรังสิตนั้นจะเน้นรูปแบบ "Transformative Learning" ที่มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาสมรรถนะ ความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะของอาจารย์ผู้สอนให้ดียิ่งขึ้น เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และแบ่งปันประสบการณ์ร่วมกันระหว่างวิทยาลัย/คณะ เพื่อให้อาจารย์สามารถนำความรู้ไปปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรให้เหมาะสมสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง ด้วยความร่วมมือจากผู้บริหารและอาจารย์ทุกท่านของทุกหน่วยงาน พร้อมมุ่งมั่นพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป”

 

 

ผศ.ดร. ปถมาพร สุกปลั่ง รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ให้แนวคิดของการ “Transformative Learning” ไว้ว่า “การปรับเปลี่ยนวิธีการสอนแบบเดิมสู่การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง จะช่วยให้ผู้เรียนมีการเปลี่ยนแปลงวิธีคิด มองโลกและมองตัวเอง ซึ่งผู้เรียนจะเข้าใจความหมายที่ลึกซึ้งของความรู้และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ โดยองค์ประกอบของการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงมี 3 เรื่องที่น่าสนใจด้วยกันคือ 1.การได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์กับการคิดเชิงวิพากษ์ 2.การอยู่ร่วมกับความตึงเครียดและความขัดแย้ง 3 การมีความรับผิดชอบต่อการกระทำของตน” (อ้างอิงข้อมูลจาก ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช) ทั้งสามประเด็นนั้นหากนำไปตีความและสร้างสรรค์กระบวนการในการจัดการเรียนการสอน จะทำให้เกิดการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงซึ่งนักศึกษาหรือผู้เรียนเป็นผู้กระทำไม่ใช่ผู้ถูกกระทำ กล่าวคือ ผู้ถูกกระทำ คือ ถูกอาจารย์จับความรู้มาใส่ให้ ผู้กระทำคือ ผู้ที่หาความรู้ด้วยตนเอง เมื่อนักศึกษาเป็นผู้กระทำเองก็จะค่อย ๆ พัฒนาตนเองไปสู่ “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง” ดังนั้นรูปแบบ Transformative Learning เรียกได้ว่าเป็นวิธีการสอนที่มีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อเทียบกับการสอนแบบปกติ นักศึกษาที่ได้รับการสอนแบบนี้จะมีความสามารถในการปรับตัวเพื่อเติบโตทั้งด้านความรู้ ทักษะ และทัศนคติในตัวเอง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาตัวเองในระยะยาว และการประกอบวิชาชีพให้สำเร็จได้”

 

 

ในส่วนของ ผศ.ดร. นฤพนธ ไชยยศ รองอธิการบดีฝ่ายแผนและพัฒนา มองแนวทางของ  Transformative Learning ต้องเน้นกระบวนการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงความคิดเห็นหรือมุมมองของนักศึกษากระบวนการเรียนรู้นี้จะเกิดขึ้นเมื่อมีการสังเคราะห์ประสบการณ์ที่แตกต่างกันของอาจารย์ ทำให้นักศึกษาต้องพัฒนาทักษะหรือความสามารถใหม่เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง สามารรับมือกับสถานการณ์ที่แตกต่างได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แนวคิด Transformative Learning สอดคล้องกับการเรียนการสอนเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นการพัฒนาทักษะเพื่อเตรียมตัวให้พร้อมกับการทำงานและการดำเนินชีวิตในอนาคต โดยนักศึกษาจะได้รับความรู้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกระบวนการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เปลี่ยนแปลงวิธีคิด พฤติกรรม และทักษะอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมกับสถานการณ์และปัญหาใหม่ ๆ ทำให้นักศึกษาสามารถมองเห็นความสำคัญของการกำหนดเป้าหมายในการเรียนรู้ เพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้ สามารถสร้างแรงจูงใจให้นักศึกษาต้องการเรียนรู้ และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง และสิ่งสำคัญที่สะท้อนต่อตัวตนของนักศึกษาเพิ่มเข้ามานั่นคือ เกิดทักษะบางอย่างที่ซึมซับเข้าไป อาทิ ความเข้าใจและเห็นภาพรวมเรื่องที่เรียนรู้มากขึ้น ทำให้มองโลกได้อย่างหลากหลายและเห็นภาพรวมของสิ่งต่าง ๆ ได้ชัดเจน ได้พัฒนาทักษะคิดเชิงวิเคราะห์เพื่อสามารถตีความและวิเคราะห์สิ่งต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และพัฒนาการเรียนรู้ที่เปิดกว้างและเปลี่ยนแปลงได้ตลอดชีวิต นำไปสู่การสร้างการเปลี่ยนแปลงตัวเอง คนรอบข้าง ชุมชนในทิศทางที่ดีขึ้นได้ในอนาคต”

 

 

ผศ. สมศักดิ์ เอื้ออัฌชาศัย ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายประกันคุณภาพ ให้มุมมองเกี่ยวกับทำไมต้องจัดการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงจากภายในมาสู่ Transformative Learning “จากความเชื่อความรู้สึกและความคิด จะมีผลอย่างมากต่อการเกิดพฤติกรรม หรือการตอบสนองทางร่างกาย เมื่อสะสมประสบการณ์ตั้งแต่เด็กจะเกิดชุดความคิดความรู้สึกที่ซับซ้อน จนเกิดเป็นระบบความคิด (Mindset) ที่ฝังแน่นจนกลายเป็นบุคลิกภาพ เมื่อมีสิ่งกระตุ้น จะแสดงออกในรูปแบบซ้ำๆ เดิม การเรียนรู้เดิมที่มีอยู่จึงเป็นอุปสรรคที่ปิดกั้นการเรียนรู้ใหม่ที่แตกต่างจากเดิม ถ้าต้องการเรียนรู้ใหม่จึงต้องยกเลิกการเรียนรู้เดิม (Unlearn) และเรียนรู้ใหม่เข้าไปแทนที่ (Relearn) ซึ่ง Transformative Learning (TL) เป็นการเรียนรู้ที่ผู้เรียนเปลี่ยนแปลงตนเองจากภายในหลังจากนักศึกษา 1.ผ่านประสบการณ์ (Experience) 2.นำมาคิดใคร่ครวญ (Contemplative Thinking) 3.สะท้อนการเรียนรู้ (Reflection) 4.แลกเปลี่ยนกัน (Rational Discourse) 5.ใช้การสนทนา (Dialogue) เพื่อให้ได้ข้อสรุป (Conceptualization) และ 6.เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตนเองจากภายใน (Behavior change/ Inside out) ซึ่งเหล่านี้ควรจะเป็นทักษะของนักศึกษามหาวิทยาลัยรังสิตในศวตวรรษที่ 21 ซึ่งได้รับการพัฒนาผ่านตัวบุคคลอย่างเต็มที่”

 

 

ทั้งนี้ สำหรับการจัดการเรียนการสอนที่เป็นโมเดลที่ประสบความสำเร็จจากวิทยาลัย/คณะ มหาวิทยาลัยรังสิต ภายใต้โครงการ Innovative Education รูปแบบ “Transformative Learning” และได้นำองค์ความรู้มาพูดคุยแลกเปลี่ยนร่วมกันในครั้งนี้ ได้แก่ โมเดลตัวอย่างจากวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ โมเดลตัวอย่างจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ โมเดลตัวอย่างจากคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม รวมถึงทิศทางการจัดการเรียนการสอนของสถาบัน Gen.Ed. เป็นต้น ทั้งหมดทั้งมวลของนวัตกรรมการศึกษาของมหาวิทยาลัยรังสิต จะค่อย ๆ นำพานักศึกษาทุกคนออกไปสู่การเป็นบัณฑิตที่พร้อมเติบโตและเผชิญโลกความจริงในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

"

ผู้จัดทำ

บทความที่คุณอาจสนใจ