คุณเคยมีความรัก ในวัยเรียนกันบ้างไหม?
เมื่อพูดถึงรักในวัยเรียน ทุกคนคงจิตนาการภาพของรุ่นพี่ เพื่อนน่ารักๆ หล่อๆ ผุดขึ้นมาในห้วงความคิดเป็นแน่ และประสบการณ์การอกหักครั้งแรก หรือการจีบสาวด้วยวิธีแปลกๆ แบบที่ไม่คิดว่าตัวเองจะทำมาก่อนก็คงจะมีให้แอบขำกันอยู่บ้าง...
สำหรับ “รักในวัยเรียน” โดยเฉพาะในระดับมหาวิทยาลัยมักจะมาพร้อมกับความรู้สึกแว็ปในใจว่า คนที่เราแอบรักอยู่นั้น จะมีโอกาสลุ้น และกลายเป็นคู่แท้ได้อยู่กันตลอดไปหรือไม่นะ?
แต่รู้ไหมว่า? ในทางกลับกันผู้ใหญ่ส่วนใหญ่ กลับมีความกังวลถึงความรักในวัยเรียนของเราๆ กันมากเลยนะ กลัวอะไร? ...กลัวว่าเมื่อเด็กวัยนี้ให้ความสำคัญกับความรักแบบนี้มากเกินไปจะต้องทำอย่างไรดี การพยายามหาวิธีการอบรมสั่งสอนเป็นประเด็นสำคัญไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับการหาคู่ครองที่เหมาะสม การป้องกันการตั้งครรภ์เมื่อไม่พร้อม การป้องกันการมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน และอื่นๆ อีกมาหมาย จนบางครั้งลืมประเด็นความรักในรูปแบบอื่นไปเลยก็มี...
และที่สำคัญไม่แพ้กัน ความรักที่วัยรุ่นวัยเรียนในยุคนี้ควรสนใจอาจเป็นรักแบบอย่างเช่น รักและภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองทำ ความรักหลงใหลในเทคโนโลยี ที่หลายคนใช้เวลาก่อนนอนและตื่นนอน ในการหยิบอุปกรณ์สมาร์ทโฟน มาเช็คความเป็นไปของผู้คนรอบตัว เช็คยอดไลค์ คอมเมนต์ต่อสิ่งที่ตัวเองโพสหรือแชร์ แม้กระทั่งความรักในความสนใจเรื่องการหารายได้ด้วยตนเอง อยากเป็นผู้ประกอบการ มีธุรกิจส่วนตัว หรืออยากมีตัวตนในสังคม ให้คนอื่นได้เห็นความสามารถของตัวเองในด้านต่างๆ หรือ รักที่อยากทำกิจกรรมเพื่อสังคม เป็นต้น
ประเด็นเหล่านี้ล้วนมีรากฐานมาจากความรักทั้งสิ้น เป็นความรักที่ก้าวข้ามเรื่องของอารมณ์ และความสัมพันธ์ไปแล้ว แต่ความรักในตัวเอง รู้คุณค่าในตัวเอง รู้จักที่จะรักผู้อื่นนั้น รู้ไหมว่า? เมื่อความรักประเภทนี้ก่อกำเนิดขึ้นจะส่งผลให้เกิดพลังบวกตามมาในหลาบรูปแบบ อาทิ ความเชื่อมั่นในตัวเอง การตั้งใจทำสิ่งต่างๆ นอกจากนี้พลังบวกจากการส่งพลังรักให้แก่ผู้อื่นด้วยความตั้งใจด้วยดีแก่คนรอบข้าง กล้าทวงสิทธิเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ผู้ถูกรังแก หรือกล้าที่จะทำสิ่งใหม่ที่สร้างสรรค์ให้แก่สังคมและประเทศชาติ
ด้วยเหตุนี้ สถาบันการศึกษา สถาบันครอบครัว จึงเป็นปัจจัยหลักที่กระตุ้นพลังความรักให้เกิดขึ้นในตัวคนรุ่นใหม่นั่นเอง ซึ่งชี้ให้เห็นถึงมิติที่หลากหลายและการมีประโยชน์ของความรัก การนำพลังแห่งรัก มาใช้ขับเคลื่อนชีวิตไปในทางที่สร้างสรรค์เป็นวัตถุประสงค์หลักที่ทำให้มหาวิทยาลัยรังสิตเกิดวิชาที่เรียกว่า “วิชา ศาสตร์แห่งรัก” ในหมวดการศึกษาทั่วไปฉบับปรับปรุงล่าสุดปีการศึกษา พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นผลผลิตในการปฏิรูปการศึกษาของมหาวิทยาลัยรังสิตที่ว่า สร้างวิชาความรู้ที่สนับสนุนการสร้างชีวิตให้คนรุ่นใหม่อย่างเข้าใจ เข้าถึง และเป็นธรรมชาติ โดยมีศาสตร์ต่างๆที่บูรณาการในวิชาการสอนอย่าง “RSU My Style” วิชา “Talent Development” ที่สร้างเพื่อมุ่งเน้นให้นักศึกษาสนใจค้นหาศักยภาพของตัวเองมากขึ้น เติมเต็มประสบการณ์ชีวิตในวัยเรียนด้วยการลงมือทำตามฝันตั้งแต่ในรั้วมหาวิทยาลัย หรือวิชา “Creative Management” ค้นหาแนวทางการประกอบกิจการที่ตนสนใจและลงมือทำ วิชา “ศาสตร์และศิลป์ในการใช้ชีวิต” คือการเรียนรู้ที่จะรักชีวิตของตัวเองและใช้ชีวิตอย่างมีศิลปะ สร้างความงดงามให้กับชีวิต เยียวยาความขัดแย้งและความทุกข์ด้วยวิธีคิดที่เหมาะสม รวมถึง วิชา “คนต่างรุ่นในสังคมสูงวัย” เป็นทางเลือกให้คนรุ่นใหม่ตระหนัก ตั้งรับและเตรียมพร้อมต่อการแปรเปลี่ยนตามกาลเวลา พร้อมที่จะอยู่ร่วมกับผู้สูงอายุได้อย่างมีความสุข ลดปัญหาสังคมและช่องว่างระหว่างวัย รวมถึงมอบพลังรักสร้างกิจกรรมสร้างสรรค์ให้แก่ผู้สูงอายุในสังคมได้
เห็นไหมว่า...ความรักในวัยเรียน (มหา’ลัย) ไม่ได้มีแค่ความรักกุ๊กกิ๊ก สนุกสนาน เสียหายเท่านั้น ปัญหาความกังวลของคุณพ่อคุณแม่จะลดน้อยลงถ้าปรับทัศนคติ ปรับใจเรียนรู้สังคมวัยรุ่นไปพร้อมกับการเรียนของพวกเขา ก็จะสามารถนำไปเป็นแนวทางในการอบรมสั่งสอน หรือชี้แนะเรื่องความรักให้กับบุตรหลานที่อยู่ในวัยรุ่น วัยเรียน หัวเลี้ยวหัวต่อได้ และสุดท้ายความรักจะกลายเป็นเรื่องความรัก ที่สร้างสรรค์สังคมที่น่าอยู่ให้เกิดขึ้นได้... รักสังคม รักประเทศ
โดย ดร.ทอแสงรัศมี ถีถะแก้ว
รองคณบดี สถาบัน RSU Gen.ed., มหาวิทยาลัยรังสิต
"