สองนักศึกษาจากสาขาวิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์ วิทยาลัยการออกแบบ มหาวิทยาลัยรังสิต สร้างสรรค์ผลงานตอบโจทย์ความก้าวล้ำนำสมัยของสังคมไทยกับผลงาน “เก้าอี้ แห่งกาลเวลา Infinity Chair” คว้ารางวัลสินค้าไทยที่มีการออกแบบดี Design Excellence Award 2020 (DEmark) และยังได้รับคัดเลือกเพื่อเข้าร่วมการพิจารณารับรางวัลระดับนานาชาติ Good Design Award 2020 (G-Mark) ณ ประเทศญี่ปุ่น
ราชดนัย ณ จำปาศักดิ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาการออกแบบผลิตภัณฑ์ วิทยาลัยการออกแบบ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า “สำหรับผลงานการออกแบบในครั้งนี้ได้รับแรงบันดาลใจมากจากสัญลักษณ์ Infinity ซึ่งในเชิงงานศิลปะจะเป็นการสื่อถึง “การสานจะไม่มีวันสิ้นสุดลง” และเป็นเก้าอี้ที่สามารถสร้างความสนุกในรูปแบบใหม่ให้กับผู้ใช้งาน สำหรับการพับเก็บนั้นสามารถทำได้ในขั้นตอนเดียว ทำให้ประหยัดพื้นที่และขนย้ายได้สะดวก โดยผลงานชิ้นนี้ถูกออกแบบตั้งแต่ช่วงเรียนชั้นปีที่ 3 เป็นการนำความรู้ในการเรียนออกแบบผลิตภัณฑ์มาประยุกต์ใช้ในการเลือกวัสดุและการควบคุมการผลิต อีกทั้งยังมีในส่วนของการคำนวณต้นทุนในการผลิตเพื่อตั้งราคาสำหรับวางจำหน่ายในอนาคต ทำให้เรียนรู้การประเมินความคุ้มค่าของผลงาน ในส่วนของวัสดุที่เลือกใช้นั้นจะยึดโครงสร้างที่ทำจากเหล็กเป็นหลัก เนื่องจากแข็งแรง และยืดหยุ่นได้ดีสามารถดัดได้จึงง่ายต่อการออกแบบ ทั้งยังมีการผสมผสานเอกลักษณ์ความเป็นไทยอย่างการสาน เข้ามาเป็นองค์ประกอบหนึ่งในผลงาน เพื่อความร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น”
“เก้าอี้ แห่งกาลเวลา Infinity Chair” เรียกว่าเป็นเก้าอี้รูปแบบใหม่ที่เข้ากับยุคสมัยที่เน้นความสะดวกสบาย ทั้งยังสร้างความสนุกในการใช้งานด้วย Function การพับเก็บได้ง่ายในขั้นตอนเดียว และนำเทคนิคการดัดมาผสมผสานกับงานสาน และคอนเซ็ปต์สุดลึกซึ้ง “การสานจะไม่มีวันสิ้นสุด” ส่งผลทำให้ผลงานชิ้นนี้เข้าตาคณะกรรมการและคว้ารางวัลสินค้าไทยที่มีการออกแบบดี Design Excellence Award 2020 (DEmark) มาได้
“สำหรับการประกวดในครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่เปิดโอกาสให้นักออกแบบ และผู้ประกอบการไทยได้แสดงผลงานออกสู่ตลาดโลก ซึ่งในโครงการนี้จะให้ความสำคัญกับคุณภาพในการผลิต การใช้งาน และแนวความคิดของการออกแบบเป็นพิเศษเพื่อเปิดประตูสู่การแข่งขันในระดับสากล ซึ่งทุกผลงานที่ได้รับรางวัลจะได้รับตราสัญลักษณ์ Demark ที่ได้การยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศว่าเป็นตราของสินค้าที่มีการออกแบบดีเด่น เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับสินค้า”
วิจิตรตรา เงื่อนไข่น้ำ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์ วิทยาลัยการออกแบบ มหาวิทยาลัยรังสิต เสริมว่า “ผลงานชิ้นนี้มีกระบวนการในการผลิตที่ค่อนข้างหลายขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การหาแหล่งผลิตชิ้นงาน การคัดสรรวัสดุที่จะนำมาขึ้นเป็นโครงสร้างของชิ้นงานที่จะต้องทนทานและสามารถดัดรูปทรงได้ การเลือกเฉดสีก็มีส่วนสำคัญ และผลงานชิ้นนี้มีองค์ประกอบในเรื่องของการสานเข้ามา ดังนั้นจะต้องมีการออกแบบลวดลายการสานที่นำมาทำในส่วนของเบาะนั่ง และหลังจากนั้นขั้นตอนสำคัญการนำไปทดสอบการใช้งานจริงเพื่อประเมินความแข็งแรงและนำจุดบกพร่องที่พบเจอไปแก้ไขให้ผลงานนั้นออกมาสมบูรณ์มากที่สุด โดยใช้ระยะเวลาในการผลิตและพัฒนาผลงานราว 1 ปี ซึ่งภายในระยะเวลาหนึ่งปีนั้น มีการผลิตเก้าอี้ออกมาอยู่หลากหลายรูปแบบ เพื่อนำมาทดสอบและหาข้อบกพร่องและทำการแก้ไขจากเก้าอี้ตัวแรกจนถึงตัวที่ 7 ที่เราคิดว่าสมบูรณ์แบบมากที่สุด การทำเก้าอี้ตัวนี้มีปัญหาและอุปสรรคค่อนข้างเยอะ เนื่องจากเป็นเก้าอี้ที่มีรูปแบบแปลกใหม่ไม่ซ้ำใคร ทั้งโยกและพับเก็บได้ไปในตัว แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งต้องมาทำกลไกการพับเก็บใหม่ และเมื่อเรารับรู้แล้วว่าปัญหาและอุปสรรคของงานคืออะไร เส้นทางต่อไปคือการปรับปรุงแก้ไข โดยการปรึกษากับช่างผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ในการทำงานทางด้านนี้ เพื่อให้ได้คำแนะนำที่ดีและตรงจุดมากที่สุด จนทำให้ในวันนี้เราสามารถรังสรรค์ผลงานเก้าอี้ออกมาได้สมบูรณ์แบบและสะดวกต่อผู้ใช้งานได้มากที่สุด”
กว่าผลงานจะออกมาสมบูรณ์แบบในวันนี้ แน่นอนว่าต้องผ่านการลองผิดลองถูกกันมาอยู่หลายครั้ง หลายคราแต่ด้วยความเพียรพยายามและเชื่อมั่นในตนเองทำให้นักศึกษาทั้ง 2 คนนี้ สามารถทำผลงานออกมาสำเร็จได้ดังใจหวัง
ขอบคุณภาพจาก DEmarkthailand
"