สร้างการ์ตูนให้มีชีวิต ด้วยปลายปากกา

21 Dec 2021

ในโลกยุคใหม่ ที่สื่อดิจิทัลมีบทบาทสำคัญ มีความเชื่อมโยงกับการใช้ชีวิตของผู้คนยุคใหม่ การเรียนการสอนในสาขา Digital Art จึงได้รับความนิยมมากขึ้นและต่อเนื่องตามไปด้วย เนื่องจากเป็นสาขาที่ยังมีโอกาสเติบโตในอาชีพได้อีกมาก เพราะหลายองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนต่างต้องการแอนิเมเตอร์ไปร่วมงานเพื่อเพิ่มโอกาสหรือต่อยอดทางธุรกิจ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมคนยุคใหม่จึงหันมาสนใจเรียนสาขา Digital Art กันเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับ ปัทมา หอมรอด ศิษย์เก่าคณะดิจิทัลอาร์ต มหาวิทยาลัยรังสิต ที่มีความฝันในวัยเด็กว่าอยากจะวาดการ์ตูน อยากมีคาแรกเตอร์การ์ตูน รวมถึงการสร้างการ์ตูนเหล่านั้นให้มีชีวิตด้วยตัวเอง

 

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าการสร้างแอนิเมชันไม่ว่าจะเป็นประเภทใดจะมีขั้นตอนการอยู่ 3 ขั้นตอนใหญ่ ๆ ได้แก่ ขั้นตอนเตรียมการก่อนการทำ (Pre-production) เป็นหัวใจสำคัญสำหรับการสร้างเนื้อหาของภาพยนตร์แอนิเมชันให้เกิดความสนุก โดยต้องมีการเขียนเรื่องหรือบท (story) เป็นสิ่งแรกเริ่มที่สำคัญที่สุดในการผลิตชิ้นงานแอนิเมชันและภาพยนตร์ทุกเรื่อง แอนิเมชันจะสนุกหรือไม่ ล้วนขึ้นอยู่กับเรื่องหรือบท ออกแบบภาพ (visual design) หลังจากได้เรื่องหรือบทมาแล้ว ก็จะคิดเกี่ยวกับตัวละครว่า ควรมีลักษณะหน้าตาอย่างไร ฉากควรจะมีลักษณะอย่างไร โทนสีเป็นแบบไหน ทำบทภาพ (storyboard) คือ การนำบทที่เขียนขึ้นนั้นมาทำการจำแนกมุมภาพต่าง ๆ โดยการร่างภาพลายเส้น ซึ่งแสดงถึงการดำเนินเรื่องพร้อมคำบรรยายอย่างคร่าว ๆ ร่างช่วงภาพ (animatic) คือ การนำบทภาพทั้งหมดมาตัดต่อร้อยเรียงพร้อมใส่เสียงพากย์ของตัวละครทั้งหมด ซึ่งตรงนี้เป็นข้อแตกต่างระหว่างภาพยนตร์แอนิเมชันและภาพยนตร์ทั่วไป เพราะภาพยนตร์แอนิเมชันจำเป็นต้องตัดต่อก่อนที่จะผลิต เพื่อจะได้รู้เวลาและการเคลื่อนไหวในแต่ละช็อตภาพ (shot) ส่วนภาพยนตร์ที่ใช้คนแสดงนั้นเป็นการตัดต่อภายหลังการถ่ายทำ

 

 

ต่อมาเป็นขั้นตอนการทำ (Production) เป็นขั้นตอนที่ทำให้ภาพตัวละครต่างๆ มีความสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้นประกอบด้วยการ วางผัง (layout) คือ การกำหนดมุมภาพ และตำแหน่งของตัวละครอย่างละเอียด รวมทั้งวางแผนในแต่ละ shot ว่าตัวละครจะต้องเคลื่อนไหว หรือแสดงสีหน้าอารมณ์อย่างไร ซึ่งหากทำภาพยนตร์แอนิเมชันที่มี scale ใหญ่ อาจต้องมีการทำงานเป็นทีม จากนั้นก็มา ทำภาพให้เคลื่อนไหว (animate) คือ การทำให้ตัวละครเคลื่อนไหวตามบทในแต่ละฉาก ฉากหลัง (background) เป็นการสร้างฉากช่วยสื่ออารมณ์อีกทางหนึ่ง หลังจากที่เราได้ส่วนประกอบทุกอย่างแล้ว ก็จะมีขั้นตอนหลังการทำ (Post-production) อย่างการประกอบภาพรวม (compositing) คือ ขั้นตอนในการนำตัวละครและฉากหลังมารวมเป็นภาพเดียวกัน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นแอนิเมชันแบบใด ก็ควรจะมีการปรับแสงและสีของภาพให้มีความกลมกลืนกัน และ การออกแบบดนตรีและเสียงประกอบ (music and sound effects design) การเลือกเสียงดนตรีประกอบ ให้เข้ากับการดำเนินเรื่อง และฉากต่าง ๆ ของการ์ตูน รวมทั้งเสียงประกอบสังเคราะห์

 

และสำหรับคนที่อยากสร้างการ์ตูน สร้างคาแรกเตอร์ และทำให้สิ่งที่เราสร้างนั้นให้มีชีวิต เคลื่อนไหวได้ในแบบที่เราต้องการนั้น พี่เบลล์บอกว่า เราต้องเริ่มจากการถามตัวเองว่าเราอยากเห็นงานแบบไหน ชอบตัวละครแบบไหน ลายเส้นแบบไหน หรืออะไรที่เป็นเอกลักษณ์ของเราเอง ซึ่งจุดนี้อาจเป็นสิ่งที่แอนิเมเตอร์หลายคนพยายามค้นหาอยู่ตลอดเวลา ต้องลองผิดลองถูกสร้างจนสุดท้ายกลายเป็นความถนัดที่เป็นธรรมชาติ สำหรับพี่เบลล์ซึ่งปัจจุบันเป็น Freelance Animator รับงานประเภท Stop-Motion เป็นการถ่ายภาพแต่ละขณะของหุ่นจำลองที่ค่อยๆ ขยับ อาจจะเป็นของเล่นหรืออาจจะสร้างจากวัสดุอย่างดินน้ำมัน โดยโมเดลที่สร้างขึ้นสามารถใช้ได้อีกหลายครั้ง และยังสามารถผลิตได้หลายชิ้น แต่การทำ Stop-Motion ต้องอาศัยเวลาและความทุ่มเทมาก นอกจากนี้ยังถนัดในงาน 2D Animation เป็นการสร้างภาพเคลื่อนไหวในรูปแบบสองมิติ ซึ่งเริ่มต้นมาจากการเรียนในวิชาที่ชอบจากวิชา Animation studio 1ผลงานออกแบบแอนิเมชัน ได้แก่ “Taste of Summer" Guldies' Summer Contest 2021, "Sepak Takraw" HEAD UPS! project (ร่วมกับ CARTUNA และ GIPHY), งานธีสิส “ด.ญ.ดั่งใจ Little Miss Dungjai” (งานคู่กับพี่พริ้ม พริ้ม สุรพักตร์ภิญโญ)

 

สำหรับคนที่อยากเป็นแอนิเมเตอร์ต้องเป็นคนช่างสังเกต มีความอดทน อาจไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานมากนักเพราะทุกขั้นตอนเราต้องเริ่มเรียนรู้ใหม่ ทดลองทำ ลองสร้าง แต่เราต้องมีความคิดสร้างสรรค์ในการที่จะคิดงาน และหากเรายิ่งเรารับงานเราต้องมีการวางแผน และพยายามสร้างงานแอนิเมชันให้ตรงกับโจทย์ที่ได้รับมา ตรงนี้จะเป็นความท้าทายในการสร้างงานใหม่ สิ่งสำคัญคือ เราต้องให้คุณค่ากับงานแอนิเมชันที่เราออกแบบทุกงาน ทุกชิ้น เพราะงานแอนิเมชันทุกชิ้นจะหมายถึงการที่เราสร้างตัวตนของเรา

 

ใครที่สงสัยว่าเรียนสาขา Digital Art จบไปแล้วทำอะไรได้บ้าง ต้องเป็นนักวาดภาพ ทำงานเกี่ยวกับสร้างเอฟเฟคภาพยนตร์ ต้องอยู่ในวงการหรือบริษัทเพียงอย่างเดียวหรือเปล่า พี่เบลล์ได้ไขข้อข้องใจให้ทราบกันว่าคนที่เรียนจบในสาขา Digital Art สามารถเลือกประยุกต์ความรู้ความสามารถให้เข้ากับอาชีพได้หลากหลายมากมายทั้งในและนอกบริษัท(รับงานอิสระ)ไม่ว่าจะเป็น กราฟิกดีไซเนอร์ (Graphic Designer) ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ (Art Director) นักวาดภาพประกอบ (Illustrator) นักออกแบบสื่อสร้างสรรค์ (Creative) ผู้กำกับภาพยนตร์ (Film Director)  ผู้เชี่ยวชาญด้านการเขียนโปรแกรมกราฟิกต่าง ๆ (Programmer) นักพัฒนาเว็บไซต์ (Web Developer) นักออกแบบเว็บไซต์ (Web Designer) นักออกแบบเกม (Game Designer) นักสร้างโมเดลสามมิติ (3D Modeller) นอกจากนี้ยังมีอาชีพอื่น ๆ ที่รองรับความสามารถด้านนี้อีกมากมาย เรียกได้ว่าเป็นสาขาที่เรียนจบไปแล้วไม่ตกงานอย่างแน่นอน

 

ติดตามผลงานแอนิเมชันของ ปัทมา หอมรอด ได้ที่ Instagram: @pattamahomrod หรือ Twitter: @pattamahomrod และ Facebook: https://www.facebook.com/pattamahomrod

 

"

ผู้จัดทำ

บทความที่คุณอาจสนใจ