“VERNADOC” สำรวจรังวัดสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นทั่วโลก

04 Nov 2019

 

...“It is not possible to protect the built vernacular environment and to maintain the local building tradition only by governmental money or regulations. More important is that people will understand the worth of their tradition and they are proud of it”

Markku Mattila. The VERNADOC Founder. (คำกล่าวของ Markku Mattila ผู้ให้กำเนิด VERNADOC)

 

คุณค่าที่ “VERNADOC” มีต่อสถาปัตยกรรมนั้นมากกว่าคิด

 

VERNADOC มีที่มาจากคำว่า Vernacular Architecture Documentation ซึ่งสถาปนิกชาวฟินแลนด์ Markku Mattila ใช้เป็นรหัสเรียกขานแนวทางการศึกษาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น โดยเน้นการเก็บข้อมูลจริงในพื้นที่ด้วยเทคนิคพื้นฐาน แต่ได้คุณภาพของผลงานในระดับสูง โดยคาดหวังว่าผลการสำรวจรังวัดจะเป็นแรงบันดาลใจให้เจ้าของอาคาร หรือคนในชุมชนเห็นคุณค่า เช่นเดียวกับที่บุคคลจากภายนอกเห็น และร่วมใจกันอนุรักษ์อาคารเหล่านั้นให้คงอยู่ต่อไป เทคนิคพื้นฐานที่ว่าก็คือการใช้เพียงมือ ไม้บรรทัด กระดาษ และปากกาเขียนแบบเท่านั้น ซึ่งด้วยเงื่อนไขเพียงเท่านี้ แต่ได้ผลงานที่สามารถสะท้อนถึงคุณค่าของอาคารนั้น และเป็นที่เข้าใจได้ง่ายสำหรับชาวบ้านทั่วไป ทำให้เป็นวิธีการที่เหมาะสมแก่การทำงานเป็นอย่างยิ่ง แม้จะอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่คับขันเพียงไร

 

 

จุดเริ่มต้นของ VERNADOC เกิดจากที่ Markku Mattila อาจารย์จาก Helsinki University of Technology ได้มีโอกาสพบปะพูดคุยถึงความเป็นไปได้ในการจัดค่ายสำรวจรังวัดสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ในรูปแบบของค่ายอาสาสมัครจากนานาชาติ ร่วมกับ ผศ.สุดจิต (เศวตจินดา) สนั่นไหว สถาปนิก และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ในการประชุมวิชาการนานาชาติ ICOMOS-CIAV 2004 ณ ประเทศญี่ปุ่น หลังจากนั้น Markku Mattila ได้เริ่มจัดค่ายสำรวจรังวัดด้วยเทคนิควิธีที่เป็นประเพณีปฏิบัติเฉพาะในหมู่สถาปนิกชาวฟินแลนด์มากว่า 100 ปี ในรูปแบบของค่ายนานาชาติเป็นครั้งแรกที่เมือง Längelmäki ประเทศฟินแลนด์ เมื่อ ค.ศ. 2005 และ ผศ.สุดจิต (เศวตจินดา) สนั่นไหว ได้นำ VERNADOC มาเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายในประเทศไทยตั้งแต่ ค.ศ. 2007 ผ่านสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ในนามของโครงการ ASA VERNADOC เพื่อฝึกอบรมเทคนิคดังกล่าวให้แก่อาสาสมัครที่สนใจ และจัดแสดงนิทรรศการภาพลายเส้นต้นฉบับ ที่ประทับใจแก่ผู้พบเห็นอย่างต่อเนื่องนับ 10 ปี ในงานสถาปนิกประจำปีที่สมาคมฯ จัด (2008-2018) โดยในแต่ละปีจะเกิดอาสาสมัครที่ผ่านการอบรมจากค่าย ASA VERNADOC หรือค่าย VERNADOC ที่จัดโดยสถาบันต่าง ๆ ซึ่งหลายคนมีความพร้อมและสนใจที่จะไปร่วมสำรวจรังวัดมรดกสถาปัตยกรรมในทุกพื้นที่ทั่วโลกอย่างกระตือรือร้น และเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุก ๆ ปี นับเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ จนอาจเรียก “VERNADOC Fever” ก็ว่าได้

 

 

สำหรับผลงาน VERNADOC ที่ได้มีการลงพื้นที่สร้างผลงานเป็นที่ประจักษ์แก่สังคม ทั้งในไทยและต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น โครงการสำรวจรังวัดบ้านไม้โบราณชานกำแพงพระนคร ชุมชนป้อมมหากาฬ กรุงรัตนโกสินทร์ อาคารบ้านพักคนไข้ในหุบเขาแห่งความหวัง (Valley of Hope : นิคมโรคเรื้อนที่ใหญ่ที่สุดในเครือจักรภพอังกฤษ ที่สร้างตั้งแต่ปี 1930) ณ เมืองสุไหงบูโลห์ ประเทศมาเลเซีย Lei Lv Tai Resident (บ้านนายธนาคารยุคใหม่คนแรกของจีน) ณ เมืองมรดกโลกผิงเหยา ประเทศจีน โบสถ์ลูเธอร์ลันอายุกว่า 240 ปี (Östmark church) ที่ประเทศสวีเดน อาคารเก่าในเมือง Amandola ประเทศอิตาลี มัสยิดและอาคารพื้นถิ่นที่สร้างด้วยดินในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ศาลเจ้า วัด มัสยิด และโบสถ์คาทอลิคในย่านกุฎีจีน กรุงเทพฯ อาคารสถานีรถไฟในหลายพื้นที่ทั่วไทย แม้กระทั่งอาคารในย่านโรงงานมักกะสัน และอาคารศุลกสถาน บางรัก กทม. โดยทุกค่ายล้วนจัดโดยเครือข่ายอาสาสมัครซึ่งเป็นสถาปนิก นักศึกษา คณาจารย์จากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั่วโลก ที่สนใจในศักยภาพของเทคนิควิธีการนี้ ที่สำคัญคือแทบทุกค่ายจะมีอาสาสมัครจากประเทศไทยเข้าร่วมด้วยไม่มากก็น้อย

นอกจากประโยชน์ในฐานะการบันทึกหลักฐานทางสถาปัตยกรรม ณ ห้วงเวลาหนึ่ง เพื่อใช้เป็นข้อมูลเพื่อการศึกษาหรือการอนุรักษ์ทางสถาปัตยกรรมแล้ว ค่าย VERNADOC ยังช่วยเปิดโลกทัศน์ให้ทั้งผู้ชมผลงาน ตลอดจนสถาปนิก และนักศึกษาอาสาสมัคร ได้เข้าใจวิถีชีวิต และภูมิปัญญาของผู้คนในสถานที่ซึ่งอาจคุ้นชิน หรือในสถานที่แปลก ๆ แตกต่างจากสิ่งแวดล้อมเดิม ๆ ผ่านความละเอียดของเส้นสายที่บันทึกไว้ และการลงทำงานในพื้นที่จริง อันสามารถนำไปสู่แรงบันดาลใจเพื่อการออกแบบ และในขณะเดียวกันก็ยังได้สร้างเครือข่ายของสถาปนิกรุ่นใหม่ เพื่อออกไปทำงานภายใต้มาตรฐานเดียวกันทั่วโลกอีกด้วย

 

 

ผู้ที่สนใจผลงานการสำรวจรังวัดมรดกสถาปัตยกรรม ด้วยเทคนิค VERNADOC สามารถติดตามผลงานได้จากเพจ VERNADOC (https://www.facebook.com/vernadoc/)

 

"

ผู้จัดทำ

บทความที่คุณอาจสนใจ