โอกาส ทางรอด ของคนออกแบบบ้าน กับอาชีพ “สถาปนิก” ในยุค Disruption และ Covid-19

02 Jun 2020

 

อาชีพสถาปนิกเป็นอาชีพที่ไม่ต่างจากอาชีพอื่นๆ ที่เป็นได้ทั้งพนักงานกินเงินเดือน freelance รับงานอิสระ เปิดบริษัทตัวเอง หรือ ร่วมงาน project base จะประสบผลสำเร็จในสายอาชีพหรือจะล้มเหลวในในยุค Disruption และ Covid-19 นี้ นอกจากสถาบันการศึกษาในฐานะผู้สอน ผู้ให้ความรู้ต้องปรับตัวแล้ว เหนือสิ่งอื่นใดคือจำเป็นต้องปลูกฝังให้ผู้เรียนมีความรู้นอกเหนือจากที่เรียนมา

 

 

แล้วความรู้ที่ควรจะมีติดตัวสำหรับเหล่าว่าที่สถาปนิกในอนาคตควรจะเป็นแบบไหน หรือต้องเพิ่มเติมองค์ความรู้อะไรเพื่อออกไปเผชิญโลกภายนอก ผมอยากแนะนำให้เพิ่มเติมสิ่งเหล่านี้ครับ 1.เข้าใจธุรกิจ : สถาปนิกหลายคนมีความสามารถ ฝีมือดี ผลงานเด่น มีความตั้งใจสูง บางคนยิ่งทำยิ่งเจ็บตัว ไม่คุ้มเมื่อเทียบกับความทุ่มเทจนต้องออกมาทำอาชีพเสริมหรือจำใจเปลี่ยนสายงานที่รายได้ดีกว่า ที่นี่ลองคิดวิเคราะห์ต้นทุนการออกแบบว่า ความคิดและเวลาการลงทุน คือ สถานที่ เครื่องมือ และ เงินเดือนพนักงาน ถ้ารู้จักสร้างสมดุลยภาพของ time cost manpower ได้ มีผลงานดีถือว่าเป็นอาชีพที่ผลตอบแทนสูงเลยทีเดียว 2.ทำในสิ่งที่ตัวเองถนัด : สถาปนิกต้องรู้ทุกเรื่อง แต่จะถนัดทุกด้านเป็นเรื่องยากมักเลือกทำเฉพาะที่สนใจ ชอบ และใช้เครื่องมือที่ถนัดจึงไม่แปลกที่ไม่อยากทำเรื่องที่ตัวเองไม่ค่อยรู้ไม่ถนัด เช่น เก็บเงินลูกค้า ทำการตลาด บริหารบุคคล งบประมาณ งานเอกสาร เป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้จะนำไปสู่ความสำเร็จของอาชีพถ้าทำงานเป็นทีม คนที่ชอบออกแบบก็ออกแบบให้เต็มที่คนที่เก่งการตลาดก็ให้ทำการตลาดคอย present งาน พวกที่ถนัดงานบริหาร มักชอบวางแผน คอยดูต้นทุนกำไรควบคุมคุณภาพ ให้สัมพันธ์กับเวลา ตามที่ลูกค้าต้องการ ซึ่งหากแต่ละคน ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก และสนใจจริงๆ จะทำให้ทำงานสนุกท้าทายตลอดเวลา และมีความสุข ที่สำคัญต้องมีเป้าหมายร่วมและมีแนวคิดไปทิศทางเดียวกันจะทำให้ "คนทำธุรกิจออกแบบ" มีความมั่นคงและยั่งยืน

 



3. เลือกลูกค้าที่ดี : หมายความว่าการออกแบบให้ผลงานดี มีคุณภาพไม่ใช่เรื่องยากแต่ปัญหาคือลูกค้าที่ไม่มีคุณภาพ ไม่เข้าใจบทบาท ขาดคุณธรรม เอาเปรียบ และ เอาตัวเองเป็นที่ตั้งถึงตกลงทำสัญญาไปแล้ว กลับใจไปมา ทำไม่ทำ ไม่แน่นอน จึงปิดงานไม่ได้ ไหลไปไม่มีวันจบสิ้นฉะนั้นต้องให้เวลา "ศึกษาตัวตนลูกค้า" เช่น ศึกษาที่มาที่ไปลูกค้า ศึกษานิสัยใจคอของเขาเคยเบี้ยวค่าแบบคนอื่นไหม เคยทำโครงการจริงไหม เคยมีปัญหาเรื่องงานกับทีมอื่นบ้างหรือไม่ เรียกว่าควรเรียนรู้การถอยเมื่อเหตุการณ์วิกฤตโดยไม่เสียเครดิตเรียนรู้สร้างความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้าเพื่ออนาคตที่ดี 4. เงินไม่ใช่ดัชนีชี้วัดกำไรขาดทุนเสมอไป : ทุกธุรกิจอยู่ได้จาก "กำไร" คำนวณจาก รายได้ลบต้นทุน สำหรับงานออกแบบ กำไรอาจเป็นได้ทั้งเงินและไม่ใช่เงิน เช่น สถาปนิกชุมชนที่ทำเพื่อสังคม งานอนุรักษ์ งานพื้นถิ่นสำหรับสถาปนิกใหม่อาจต้องสร้างผลงานสร้างชื่อเสียงก่อน ฉะนั้นก่อนที่จะเสนอราคาจำเป็นต้องพิจารณาให้รอบคอบว่าเป้าหมายคืออะไรคำนวณต้นทุนเครดิตเราบวกค่าดำเนินการ balance กับกำไรควรได้ผลตอบแทนในรูปแบบไหน คุ้มไหม 5. ใครคือคนอนุมัติ : สำคัญกว่าค่าแบบ คือ ผลงานนั้นควรต้องถูกนำไปสร้างจริง บ่อยครั้งสถาปนิกออกแบบสวย ตอบโจทย์การใช้งานได้ดีแต่กลับไม่เคยถูกนำมาสร้างจริงเลย เพราะไม่รู้ว่าใครคือคนอนุมัติอาจเป็น เจ้าของ คนคุมเงิน หุ้นส่วน ชินแส ภรรยา เลขาฯ ที่ปรึกษา ฯลฯ ซึ่งอาจเป็นคนละคนกับลูกค้าตัวจริง สิ่งที่คุณต้องทำก็ คือ คุณต้องพยายามสร้างระบบความคิดใหม่แต่ละขั้นตอนการนำเสนอต้องได้คำตอบ Yes จากลูกค้าเท่านั้นให้ลูกค้า follow ไอเดียที่วางไว้ ถ้าสามารถออกแบบครอบคลุมทุกความต้องการก็จะสามารถลดความเสี่ยงการ reject แบบได้ สถาปนิกส่วนใหญ่ focus ออกแบบเกินไปแต่ไม่ได้ให้ความสำคัญว่าใครคือคนอนุมัติโครงการ

 



สุดท้าย 6. การตลาด : แม้ว่าผลงานมีคุณภาพ บริหารและบริการได้ดี มีระบบที่ลงตัวแต่ไม่สามารถหาลูกค้าได้ คือ ไม่รู้จักการทำการตลาดนั่นเองปัจจุบันลูกค้าใช้เวลาส่วนใหญ่ online นั่นหมายความว่าต้องเรียนรู้วิธีการตลาดเชิงรุกแบบไม่ขายตรงให้ข้อคิดดี ๆ การสร้างสังคม online ในการแบ่งปันองค์ความรู้ ให้ไอเดียแชร์ประสบการณ์การออกแบบเปลี่ยนจากการตลาด offlineไปเป็น online อาชีพนี้ก็จะก้าวไปข้างหน้าได้ไม่ยากเลย

 

 

อันที่จริงแล้วสำหรับองค์ความรู้ 6 สิ่งที่ควรเรียนรู้เพิ่มเติมที่กล่าวไปแล้วนั้น เป็นเรื่องที่หลายคนทราบดีอยู่แล้ว เพียงแต่คราวนี้คงต้องเน้นรู้ให้จริงทุกข้อ ทำให้ได้ที่สำคัญนำไปใช้ให้ครบทุกด้าน และทั้งหมดนี้ในฐานะผู้สอน ผู้ให้ความรู้แก่นักศึกษาสายอาชีพสถาปัตยกรรมจึงต้องนำมาฝังให้กับนักศึกษาด้วย เพราะเราจะไม่ใช่แค่คนออกแบบบ้านอาคารอีกต่อไป แต่เราจะเป็นคนออกแบบที่ครบเครื่องเบ็ดเสร็จ และสามารถเอาตัวรอดในยุคที่น่าเป็นห่วงขณะนี้ได้

 


เรียบเรียงโดย ผศ.ดร.นฤพนธ์ ไชยยศ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.รังสิต

"

ผู้จัดทำ

บทความที่คุณอาจสนใจ