จากความร่วมมือทางวิชาการของมหาวิทยาลัยรังสิตกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศไทยมากมาย นักศึกษาหลายคนที่ร่วมโครงการการแลกเปลี่ยนหรือเวิร์กชอบเรียกว่าเป็นหนึ่งในความฝันใฝ่ของคนที่มองหาประสบการณ์ใหม่ๆ อยากลองสัมผัสอารยธรรมต่างชาติที่แตกต่างจากสถาบันเดิม และบ้านเมืองที่เราอยู่ ซึ่งนอกจากข้อดีดังกล่าวแล้ว ยังมีเหตุผลแสนคุ้มค่าอีกหลายประการในการเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนอีกมากมาย
โครงการ Winter Course Academic English & Architecture Workshops เป็นอีกหนึ่งโครงการที่มหาวิทยาลัยรังสิตจัดขึ้นเพื่อให้นักศึกษาของเราได้เรียนรู้ในโลกกว้าง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุวิชา เบญจพร อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ กล่าวว่า สำหรับโครงการดังกล่าวนี้เป็นการจัดขึ้นเพื่อพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของนักศึกษา เรียนรู้เกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมต่างประเทศ และเปิดโอกาสสร้างประสบการณ์ให้แก่นักศึกษาในด้านสถาปัตยกรรม ซึ่งมีนักศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ วิทยาลัยการออกแบบ และวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เข้าร่วมโครงการ 18 คน ได้เรียนภาษาอังกฤษเชิงวิชาการ จำนวน 21 ชั่วโมง และกิจกรรมด้านสถาปัตยกรรม ณ INTO Glasgow Caledonian University สกอตแลนด์ โดยฟังบรรยายเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ลงพื้นที่ และร่วมเวิร์กชอบกับ Glasgow School of Art, Architecture Departments
กิจกรรมหลายกิจกรรมเป็นการเสริมสร้างทักษะการใช้ภาษาอังกฤษผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ทางสถาปัตยกรรมและการใช้ชีวิตในต่างประเทศ นักศึกษาต่างสาขากันสามารถเรียนรู้เชิงสถาปัตยกรรมร่วมกันได้ถึงแม้ว่าจะมีพื้นฐานความรู้ที่แตกต่างกันก็ตาม เรียกได้ว่าเป็นการบูรณาการองค์ความรู้ร่วมกันที่นำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ของงานได้อย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากวิธีการสอนของต่างประเทศเป็นการจัดการเรียนการสอนแบบ Authentic Learning ที่สามารถนำมาประยุกต์เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนของนักศึกษาเราได้ และสามารถกระตุ้นความสนใจให้นักศึกษาสามารถคิดอย่างมีวิจารณญาณ และตัดสินใจสร้างสรรค์ผลงานให้เกิดเป็นรูปธรรมได้อย่างรวดเร็ว
นางสาวพิพัชญา เปรมใจ นักศึกษาชั้นปี 4 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ บอกเล่าเราเรื่องราวการเข้าร่วมโครงการนี้ว่า “ตนอยากหาประสบการณ์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้การเรียนการสอน และวิธีคิดของชาวต่างชาติในการออกแบบและรักษาสถาปัตยกรรมของเมือง จึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ ซึ่งตลอด 13 วัน ได้เดินทางไปที่ Glassglow Scotland ได้พักหอพักซึ่งอยู่ไม่ไกลจากตัวมหาวิทยาลัย Into Glasgow Caledonian University สะดวกในการเดินทางไปเรียน และเดินรอบเมืองมากๆ วันแรกที่เดินทางไปได้สัมผัสกับอากาศหนาว 7 องศา ซึ่งวันแรกเป็นวัน Free Day เก็บของเข้าที่พักและเดินไปสำรวจค่ะ ส่วนกิจกรรมที่ทำเป็นประจำทุกวัน คือการเรียนภาษาอังกฤษ และการ Workshop Architecture การเรียนภาษาอังกฤษนั้นสนุกมาก ได้เรียนรู้คำศัพท์ใหม่ ได้ใช้ภาษาอังกฤษแบบจริงจังมากขึ้น ทำให้กล้าคิดกล้าพูดมากขึ้น ส่วน การ Workshop Architecture ก็สนุกและดีมาก มี Mini Project ให้ออกแบบ Co Working Space โดยได้ออกไปเรียนรู้นอกห้องเรียนทุกวัน ได้เห็นสถาปัตยกรรมของ Charles Rennie Mackintosh ซึ่งเป็นสถาปนิกชื่อดังชาวสก็อตแลนด์ และมีผลงานการออกแบบที่โรแมนติกมากใส่ใจในการออกแบบทั้งภายนอกภายในและมีดีเทลเล็กๆ อย่างร้านน้ำชา ร้าน Mackintosh at The Willow ที่ทำให้รู้สึกหลงรักผลงานของ Mackintosh นอกจากได้ไปชมแล้วยังมีอาจารย์ของมหาวิทยาลัยที่นั่นและอาจารย์ที่ปรึกษาเป็นผู้อธิบายและให้ความรู้ นอกจากได้เห็นการเรียนและการจัดแสดงงานของมหาวิทยาลัย The Glasgow School of Art พอเข้าไปถึงมหาวิทยาลัยได้เห็นการเรียนการสอนการจัดแสดงงานและห้อง Workshop ต่างๆ ของมหาลัยที่มีอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกในการเรียนครบมาก จากนั้นเดินทางไป Edinburgh โดยรถไฟใช่เวลาเพียง 35 นาที ที่นี่ได้เห็นสถาปัตยกรรมที่สวยงามของเมือง Edinburgh ที่เป็นเป็นเมืองที่คนนิยมไปมากเพราะมีสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวสก็อตแลนด์ นอกจากนี้ยังได้เดินทางไปชมงานของสถาปนิกชื่อดังระดับโลกอย่าง Zaha Hadid ที่มีผลงานโด่งดังมากมาย อาทิ Riverside Museum และวันสุดท้ายของการ Workshop นั้นเราได้นำ Project ของแต่ละกลุ่มมา Presents พร้อมกับ Model ซึ่งเราทุกคนได้ลองฝึก Presents เป็นภาษาอังกฤษ อาจจะพูดถูกบ้างผิดบ้างอาจารย์ก็พยายามทำความเข้าใจ การไปเวิร์กชอปครั้งนี้เป็นประสบการณ์ที่ทำให้เราได้เปิดประสบการณ์และความคิดได้เห็นสิ่งใหม่ๆ มองโลกกว้างมากขึ้น ได้ภาษามากขึ้น ได้มุมมองการคิดการออกแบบที่ดีขึ้นและสามารถนำกลับมาใช้ได้”
นางสาวชญานิศ วงศ์สุภาร์ นักศึกษาชั้นปี 2 สาขาการประชาสัมพันธ์ วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ เล่าว่า “สนใจเข้าร่วมโครงการเพราะทราบข่าวสารจากเพจเฟสบุ๊กมหาวิทยาลัย ตอนนั้นอยากไปเรียนระยะสั้นๆ และต้องการรู้ว่าเราสามารถใช้ชีวิตในต่างประเทศ สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้มากขนาดไหน กาเข้าร่วมเวิร์กชอปนี้เป็นหลักสูตรของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เป็นกิจกรรมที่ให้นักศึกษา Sketchภาพตึก อาคาร รอบๆ พิพิธภัณฑ์ รวมทั้งให้นักศึกษาได้ออกแบบอาคารและนำเสนอเป็นต้น ซึ่งการไปครั้งนี้เหนือความคาดหมายมากเพราะอันดับแรกเลยเราเป็นเด็กนิเทศคนเดียว นอกนั้นเป็นเพื่อนๆ พี่ๆ จากคณะสถาปัตย์เกือบทั้งหมดหมดเลย แต่ด้วยความอยากรู้และอยากลองเราจึงตัดสินใจไป วันแรกที่ไปถึงตื่นเต้นมาก ตื่นไปเรียนแต่เช้า มีเจ้าที่แนะนำอาคาร สถานที่ การเข้าเรียนวันแรกแบ่งเป็น 2 ห้อง ตามระดับของ Skill ภาษาที่แบ่งไว้ ตอนแรกคิดว่าเราตัดสินใจถูกไหมที่มาคนเดียวเพราะพี่ๆเขามากับเพื่อน แต่พอวันที่ 2 เราก็เริ่มปรับตัวได้ อาจารย์ 2 ท่านดูแลเราดีมาก รวมถึงเพื่อนร่วมหอคอยแนะนำและเทคแคร์อย่างดีทำให้คิดว่าตัดสินใจไม่ผิดที่ลองมา ส่วนบรรยากาศตอนเรียนสนุกมาก อาจารย์ที่สอนเป็นกันเองและคอยกระตุ้นให้พวกเราไม่เบื่อ ในการเรียนมีบางครั้งต้องออกไปข้างนอกเป็นวิชาสเก็ตภาพ อาจารย์พาเราเดินรอบเมืองเพื่อให้เราได้เห็นทัศนียภาพทั่วเมืองและเล่าเรื่องราวการสร้างอาคารรวมถึงประวัติของแต่ละอาคารนั้นๆ และในวีคสุดท้ายอาจารย์ได้แบ่งกลุ่มให้พวกเราออกแบบอาคารโดยเอาความรู้จากการเรียนในสัปดาห์แรกมาใช้ในการออกแบบ ได้เรียนรู้การสก็ตตัวอาคารคร่าวๆ จากนั้นสร้างโมเดลอาคาร ซึ่งในระหว่างการทำโมเดลเราได้ประสบการณ์ตรงนี้เยอะมาก เพราะไม่เคยมีประสบการณ์ตรงนี้มาก่อนเลย ได้ลงมือทำ ได้ร่วมออกแบบ สร้างโมเดล วิธีการคิด ทุกอย่างเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก ที่สำคัญสามารถนำประสบการณ์ตรงนั้นมาถ่ายทอดให้อาจารย์คณะเราในรูปแบบของภาพถ่าย ซึ่งตรงกับสาขาที่เรียนทำและนำมาปรับใช้ได้ในคณะของเราได้อีกด้วย”
นางสาววรรณวรา มีนุชนารถ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาการออกแบบภายใน วิทยาลัยการออกแบบ เล่าประสบการณ์ดีดีว่า “ที่เข้าร่วมเวิร์กชอปเพราะต้องการเห็นและเรียนรู้งานสถาปัตยกรรมศาสตร์ทั้งภายในและภายนอกในรูปแบบใหม่ๆ ที่ไม่สามารถหาดูได้ที่ประเทศไทย โครงการ Winter course Glasgow, United Kingdom ที่เข้าร่วมใช้เวลาเรียนรู้อยู่ประมาณ 2 อาทิตย์ เรียนรู้รู้จัก Glasgow Cathedral, Edinburgh แต่ละสถานที่ได้ทำกิจกรรมสเก็ตบ้าง หรือให้รีโนเวทในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งตรงกับสิ่งที่เรียนสาขาวิชาอยู่แล้ว หลังจากเลิกเรียน/เวิร์กชอปได้ไปเปิดมุมมอง ดูการใช้ชีวิต วิธีคิด เรื่องราวต่างๆ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ซึ่งประสบการณ์มากขึ้นคือเรียนรู้งานด้านสถาปัตยกรรมต่างๆ ทั้งแบบเก่าและแบบทันสมัย ได้ลองคิดในรูปแบบการเรียนการสอนที่ต่างจากประเทศไทย ได้แนวคิด ได้คอนเซ็ปงานใหม่ๆเพื่อเป็นการส่งเสริมในการเรียนที่ไทยมากขึ้น”
หลังจบโครงการ แม้จะเป็นระยะสั้น หลายสิ่งหลายอย่างเป็นประโยชน์ไม่น้อยกับนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ ส่วนจะเกิดการเปลี่ยนแปลงมากน้อยอย่างไร ขึ้นอยู่กับว่านักศึกษาจะสามารถเก็บเกี่ยวไว้เต็มกระบุงได้แค่ไหนกัน โอกาสอันยิ่งใหญ่ที่ผิดแผกจากเดิมย่อมเกิดขึ้นเมื่อคุณเก็บกระเป๋า และก้าวเท้าออกมาจากบ้านเกิด
"