ปัจจุบันฝีมือการสร้างสรรค์งาน “แอนิเมชั่น” ของคนไทยพัฒนาไปไกลมากขึ้นกว่าเมื่อก่อนมาก และยิ่งมีคนเริ่มให้ความสนใจงานแอนิเมชั่นมากขึ้นทำให้ธุรกิจแอนนิเมชั่นเริ่มขยับ และเติบโตขึ้น ประเทศไทยเองเริ่มมีการรับงานจากต่างประเทศ คุณภาพงานที่คนไทยจะสร้างงานแอนิเมชั่นเข้าไปในระดับมาตรฐานของฮอลลีวู้ด รวมถึงสตูดิโอไทยเองก็สามารถผลิตงานที่ตลาดโลกต้องการได้เช่นกัน
และหนึ่งในเทรนด์ที่กำลังมาแน่นอน คงหนีไม่พ้นวิทยาการความจริงเสมือนในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น VR Virtual Reality และ XR Extended Reality ที่หลายคนอาจเคยเห็น หรือ มีโอกาสได้ชมจากภาพยนตร์ อาทิ เรื่อง Ready Player One ที่ในความเป็นจริงแล้วเทคโนโลยีนี้เริ่มที่จะก้าวพัฒนาไปถึงจุดที่ใกล้เคียงกับที่เห็นในภาพยนตร์ โดยเทคโนโลยีนี้สามารถจำลองโลกเสมือนจริงทำให้ผู้ที่เข้าไปใช้งานดื่มด่ำโลกเสมือนได้
อาจารย์โกเมศ กาญจนพายัพ อาจารย์ประจำสาขาวิชาคอมพิวเตอร์อาร์ต คณะดิจิทัลอาร์ต มหาวิทยาลัยรังสิต หนึ่งในคนไทยที่ได้รับเกียรติในการนำผลงานด้านแอนิเมชั่นไปจัดแสดง IEEE VR 2019 ประเทศญี่ปุ่น และเป็นผู้หนึ่งที่เริ่มบุกเบิกเรื่องของการปั้นและการทำ Animation ด้วยวิทยาการความจริงเสมือน ซึ่งตัวอาจารย์ได้ใช้โปรแกรม Oculus Quill VR ในการสร้างผลงาน นำเสนอในรูปแบบของ Virtual Reality นอกจากนี้อาจารย์ยังมีผลงานปั้นแนวประติมากรรม Fine Art ซึ่งทำออกมาเป็นประติมากรรมสำริด งานปั้นตัวละคร และอาร์ตทอย ซึ่งถือเป็นงานสะสมของคนรุ่นใหม่ โดยจะมีการครอส (ทำงานร่วมกับศิลปินท่านอื่น) ออกมาเป็นชิ้นงานแนวเก็บสะสม งานศิลปะผ่านสื่อสมัยใหม่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิทยาการความจริงเสมือน โดยเน้นการสร้างงานนิวมีเดียอาร์ต ที่ผู้ชมสามารถเข้าไปอยู่ในงานศิลปะได้ ที่เพิ่มระดับความสนุกและอิ่มเอมในการดูงานศิลปะ งานปั้นคอนเซ็ปต์สำหรับภาพยนตร์ และผลงานด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับแอนิเมชั่น 3D
งาน IEEE VR 2019 ที่จัดขึ้น ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติแห่งเมืองโอซาก้านั้น ภายในงานเป็นการรวมเทคโนโลยี Virtual Reality จากเหล่านักพัฒนาและบุคลากรชั้นนำในอุตสาหกรรมจากทั่วโลก มีการโชว์ผลงานวิจัยต่างๆ และ Workshop มากกว่า 18 รายการ ซึ่งถือว่าเป็นงานที่สำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวให้มีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น โดยในแต่ละหัวข้อจะเป็นการแนะนำวิธีการใช้เทคโนโลยีเสมือนจริงกับสิ่งที่อยู่รอบตัว ได้แก่ Animation, เรื่องสุขภาพ, การกีฬา หรือแม้แต่เรื่องของจริยธรรม เป็นต้น ซึ่งเทคโนโลยี Virtual Reality นั้นสามารถบูรณาการเข้ากันได้กับทุกอย่าง ผลงานของอาจารย์โกเมศใน IEEE VR 2019 ได้นำเสนอในหัวข้อแอนิเมชั่นกับการเล่าเรื่องในรูปแบบของ VR ที่เหนือกว่าการเล่าเรื่องในรูปแบบทั่วๆไป ผลงานทางวิชาการที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ใน IEEE Xplore Digital Library ซึ่งเรียกว่าเป็นการแสดงผลงานในนามตัวแทนของคนไทย ในอุตสาหกรรมแอนิเมชั่น และ Virtual Reality ของประเทศไทย
นอกจากนี้เมื่อเดือนกันยายน 2562 อาจารย์โกเมศได้มีผลงานศิลปะจากวิทยาการ Virtual Reality เข้าร่วมประกวดในเวทีศิลปะนานาชาติ Virtually Tilted ประเทศสหรัฐอเมริกา และคว้ารางวัลที่ 1 Best of Show อีกด้วย โดยผลงานมีชื่อว่า Cube of Enlightenment หรือห้องแห่งการตรัสรู้ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า งานศิลปะประเภทนิวมีเดียอาร์ตอาจารย์โกเมศใช้วิทยาการความเป็นจริงเสมือน สร้างสรรค์งานในโปรแกรม Google Tiltbrush เพื่อสืบสานพุทธศาสนาในรูปแบบใหม่ เพื่อให้เกิดการเข้าถึงต่อสากลและนำเสนอให้อยู่ยุคสมัยเป็นการผสมผสานความเชื่อทางศาสนารวมถึงวัฒนธรรมของคนไทยกับเทคโนโลยีในยุคดิจิทัลอย่างลงตัว
จากประสบการณ์ด้านงานแอนิเมชั่นของอาจารย์โกเมศ อาจารย์ได้เริ่มนำร่องเทคโนโลยี VR โดยการนำไปสอนในบางรายวิชาของคณะดิจิทัลอาร์ต เช่น วิชาเทคนิคทดลอง ของคณะดิจิทัลอาร์ต ที่เริ่มให้นักศึกษาเรียนรู้และเข้าใจหลักการทำงานเบื้องต้นของวิทยาการความจริงเสมือน รวมถึงประสบการณ์งานปั้นในวงการภาพยนตร์ “ผมได้นำความรู้ทั้งในเชิงเทคนิคการปั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการสร้างภาพยนตร์ และแอนิเมชั่น อย่าง ZBrush และโปรแกรมอื่นๆ ในกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานแอนิเมชันและภาพยนตร์ และยังได้สอนเสริมทักษะการทำงานในอุตสาหกรรมกลุ่มซอฟต์สกิลต่างๆ เพื่อให้นักศึกษาได้รู้ถึงการทำงานจริงในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานเป็นทีม ความอ่อนน้อมถ่อมตน การนำเสนองาน การกล้าแสดงออกและประสิทธิภาพในการสื่อสารแนวความคิดของตนเอง และนักศึกษาสามารถนำไปต่อยอดได้ในอนาคต
สำหรับใครที่สนใจงานแอนนิเมชั่น งาน VR Virtual Reality สามารถติดตามผลงานในรูปแบบเต็มและอัพเดทแวดวงอุตสาหกรรมแอนนิเมชั่นและ Virtual Realityu ได้ที่เฟสบุ๊ค https://www.facebook.com/ gomesh1977 อินสตราแกรม gomesh1977
"