เมื่อการเรียนหยุดอยู่กับที่ไม่ได้ เนื่องด้วยผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 วิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิตไม่ได้นิ่งนอนใจต่อผลกระทบในด้านต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และยืนยันรักษามาตรฐานคุณภาพการเรียนการสอนที่ดีและเหมาะสมที่สุดสำหรับนักศึกษาทุกคน โดยมีการวางแนวทางการเรียนการสอนหลังจากสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติเพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพการเรียนการสอนและชดเชยความรู้ให้แก่นักศึกษาในช่วงที่ขาดหายไป
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เด่น อยู่ประเสริฐ คณบดีวิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ทางวิทยาลัยดนตรีได้มีการวางแนวทางเพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพการเรียนการสอนแก่นักศึกษาทุกชั้นปีของวิทยาลัย และให้นักศึกษาได้มีโอกาสฝึกปฏิบัติกิจกรรมทางด้านดนตรีจริงตามวัตถุประสงค์การเรียนรู้ ทางวิทยาลัยดนตรีจะเปิดให้มีการเรียนการสอนทุกรายวิชาที่นักศึกษาลงทะเบียนเรียนในปีการศึกษา 2/2562 ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 14 สิงหาคม 2563 (1 เดือนก่อนเปิดเรียนปีการศึกษา 1/2563) โดยใช้เวลาเรียนตามตารางสอนเดิม ซึ่งการจัดการเรียนการเรียนการสอนเพิ่มเติมดังกล่าวนั้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อผลการเรียนปีการศึกษา 2/2562 ที่มีประกาศออกไป นอกจากนี้ยังมีแนวทางต่างๆ ที่อำนวยความสะดวกและสนับสนุนนักศึกษาให้ได้รับความรู้อย่างเต็มที่ อาทิ
1. กรณีที่นักศึกษามีข้อสงสัยเกี่ยวกับผลการเรียนที่ประกาศไปแล้ว สามารถแจ้งความประสงค์เพื่อขอสอบวัดผลการเรียนรู้ใหม่ได้หลังจากการเรียนการสอนเพิ่มเติมสิ้นสุดลง
2. นักศึกษาแขนงวิชาการผลิตดนตรี สามารถเก็บชั่วโมงการใช้ห้องบันทึกเสียงของปีการศึกษา 2/2562 เพื่อนำไปใช้สร้างสรรค์ผลงานส่วนตัวได้
3. วิทยาลัยดนตรีจะดำเนินการจัดการแสดงคอนเสิร์ต พร้อมทั้งบันทึกภาพและเสียง ให้แก่นักศึกษาที่ลงทะเบียนวิชาการแสดงเดี่ยวชั้นปีที่ 3 (Junior Recital) และวิชาการแสดงเดี่ยวชั้นปีที่ 4 (Senior Recital) การจัดการแสดงจะอยู่ในรูปแบบเทศกาลดนตรี โดยแบ่งตามแขนงวิชาหรือกลุ่มเครื่องดนตรี ภายใน 31 ธันวาคม 2563 เพื่อให้นักศึกษาสามารถนำไปใช้เป็นผลงานสำหรับการประกอบอาชีพและการศึกษาต่อในอนาคต
4. วิทยาลัยดนตรีให้สิทธิ์แก่นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา 2562 ในการใช้ห้องซ้อมดนตรีทุกประเภท และสามารถเข้าร่วมทุกกิจกรรมที่วิทยาลัยดนตรีเป็นผู้จัด โดยไม่มีค่าใช้จ่าย จนถึง 31 พฤษภาคม 2564
5. วิทยาลัยดนตรีจะดำเนินการจัดกิจกรรมสนับสนุนการเรียนการสอนเพิ่มเติม อาทิ การอบรมสัมมนา การบรรยาย การแสดง การจำลองฝึกปฏิบัติ ฯลฯ โดยคัดเลือกศิลปินและผู้ทำงานเบื้องหลังทางดนตรีที่มีชื่อเสียง เพื่อพัฒนาศักยภาพและส่งเสริมให้นักศึกษามีความรู้และความชำนาญมากยิ่งขึ้นนอกจากซึ่งหากนักศึกษามีปัญหาหรือข้อกังวลใจในเรื่องการเรียนการสอน รวมถึงปัญหาส่วนตัวอื่น
ซึ่งแนวทางทั้งหมดนี้นักศึกษาสามารถติดต่อขอคำปรึกษาจากคณาจารย์ได้ตลอดเวลา ทางคณาจารย์ทุกคนพร้อมช่วยเหลือ และสนับสนุนนักศึกษาทุกคนที่มีความกังวลใจ สำหรับนักศึกษาใหม่ หรือผู้ปกครองที่มีข้อสงสัยในการจัดการเรียนการสอนของวิทยาลัยดนตรี สามารถติดต่อขอรับคำปรึกษาได้ที่ วิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต โทร. 0-2997-2200-30 ต่อ 6259 เพจเฟสบุ๊ก @rsumusic
"