“การสอนเด็ก GEN ใหม่ในทุกวันนี้ ผู้สอนไม่ได้ทำหน้าที่เป็นแค่เพียง “ครู” สอนในสิ่งที่ผู้เรียนยังไม่รู้เท่านั้น แต่เราต้องเป็น “โค้ช” ที่ดี คอยให้คำปรึกษาแก่ผู้เรียนไปด้วย เพราะเด็กทุกวันนี้ไม่ได้ต้องการการขีดเส้นให้เดิน แต่ขณะเดียวกันเราในฐานะโค้ชสามารถช่วยชี้แนะ ประคับประคอง และเติมเต็มความรู้ให้เขาได้เดินไปสู่เป้าหมายและความสำเร็จได้”

คำพูดที่แฝงไปด้วยแววตาแห่งความมุ่งมั่น ของนักวิชาการรุ่นใหม่ ด็อกเตอร์ป้ายแดงจากหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และปัจจุบันกับบทบาทการเป็นนักวิชาการทางด้านนิเทศศาสตร์ ในตำแหน่งหัวหน้าสาขาวิชาการเขียนบทและการกำกับภาพยนตร์และโทรทัศน์ วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต วันนี้จะพาไปทำความรู้จักมุมมอง แนวคิดในการใช้ชีวิตและการทำงานของอาจารย์หนุ่มหล่อ คนนี้ไปด้วยกัน “ดร.ณชรต อิ่มณะรัญ”
จากความชอบ สู่การต่อยอด และการลงมือทำ
ดร.ณชรต อิ่มณะรัญ หรือ โค้ชนิวตัน เล่าให้ฟังว่า หลังจากเรียนจบมัธยมปลาย ตนเคยเรียนต่อในสายวิทย์ เป็นเด็กซิ่ว และสุดท้ายพบคำตอบชีวิตที่ชอบ จึงตัดสินใจเบนเข็มมาเรียนเกี่ยวกับการสื่อสาร ทางด้านนิเทศศาสตร์ ภายหลังเรียนจบมีโอกาสได้ทำงาน หาประสบการณ์ที่หลากหลายในวงการสื่อ อาทิ พิธีกร ผู้ดำเนินรายการ ผู้ประกาศข่าว นักพากษ์เสียง เป็นต้น โดยเก็บเกี่ยวชั่วโมงบินการทำงานด้านนี้อยู่ระยะเวลาหนึ่ง และรู้สึกว่าอนาคตอยากเอาประสบการณ์ทางด้านการสื่อสารมาต่อยอดในด้านวิชาการ จึงตัดสินใจศึกษาต่อในระดับปริญญาโท หลักสูตรนิเทศศาสตรมหาบัณฑิต ม.รังสิต และระหว่างนั้นจึงได้มีโอกาสผันตัวเองเข้าสู่การเป็นนักวิชาการอย่างเต็มตัว และหลังจากจบปริญญาโท จึงศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกในสาขาวิชานิเทศศาสตร์

“หลังจากเรียนจบและได้ทำงาน เรารู้สึกว่าอนาคตอยากเอาประสบการณ์ด้านวิชาการ และประสบการณ์การทำงานในวิชาชีพมาถ่ายทอด อาจจะเป็นวิทยากรหรืออะไรก็ได้ จึงตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโท ม.รังสิต ต้องบอกว่าการเรียนทำให้กระบวนทัศน์หรือวิธีคิดเปลี่ยนไป เราเริ่มรู้สึกว่าวิชาการไม่ใช่แค่ทำงานเล่มเอกสาร วิจัย แต่จะเป็นลักษณะการบูรณาการความคิดที่เป็นตัวหนังสือ ซึ่งก่อนจะเป็นตัวหนังสือได้ต้องผ่านประสบการณ์ชีวิตในการปฏิบัติมาก่อนและนำมาบูรณาการกับการทำงานเอกสาร ทำอย่างไรก็ได้ให้คนอ่านสามารถจินตนาการ และนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง ซึ่งหลังจากมีโอกาสทำงานด้านวิชาการ โดยเป็นอาจารย์ที่วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ ม.รังสิต เราเองก็ไม่ได้ทิ้งงานที่เป็นด้านวิชาชีพ เรียกว่าทำงานควบคู่ไปทั้งด้านวิชาการและงานในวิชาชีพ การสอนในรูปแบบของเราจึงไม่ใช่ การสอนที่ถอดองค์ความรู้มาจากตำราวิชาการในหนังสือมาสอน แต่เป็นการนำเอาประสบการณ์ความสำเร็จที่สั่งสมมาในวิชาชีพมาสอน”
ก้าวสู่การเป็นนักวิชาการอย่างเต็มตัว
ดร.ณชรต กล่าวต่อว่า เมื่อตัดสินใจจะเดินต่อทางสายวิชาการ การเติมเต็มองค์ความรู้ทางด้านวิชาการจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ และการเรียนปริญญาเอก ทำให้เราได้เปลี่ยนมุมมอง วิธีการคิดหลายอย่าง ซึ่งแตกต่างไปจากเมื่อครั้งเรียนปริญญาตรีและปริญญาโท ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความคิด การวางตัว วิธีการพูด เพราะเมื่อเราเป็นอาจารย์ การสอนหนังสือจึงไม่ใช่แค่การพูดให้เด็กฟัง แต่เด็กต้องเข้าใจและสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตได้

“หากพูดถึงจุดเด่น ของหลักสูตรปริญญาเอก สาขาวิชานิเทศศาสตร์ ม.รังสิต ต้องบอกว่าที่นี่มีความพร้อมของคณาจารย์ที่มีทั้งคุณวุฒิที่จบตรงทางด้านนิเทศศาสตร์ มีระบบฐานข้อมูลสำหรับการสืบค้นข้อมูลที่รองรับนักศึกษาได้อย่างเต็มศักยภาพ ที่ผ่านมาเรามีการจัดงานวิชาการจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นงานวิจัย บทความวิชาการ ที่นี่จึงเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ และอีกประเด็นสำคัญคือ คณาจารย์ของเราเป็นผู้ประเมินงานวิชาการที่เยอะมาก ผู้เรียนจึงไม่ใช่แค่โฟกัสอยู่กับงานของตนเองอย่างเดียว แต่ได้รับมอบหมายให้ไปอ่าน ศึกษาเพิ่มเติมจากงานวิชาการของคนอื่นๆ มากมาย เพื่อให้สามารถนำมาปรับใช้ได้ เรียกว่า เข้มข้นทั้งวิชาการและวิชาชีพ”
หากถามว่าวันนี้ “ความสุขในชีวิต คืออะไร?” ตอบเลยว่า...

“การได้ใช้ชีวิตในแบบที่เราเป็น ได้ตื่นมาทำงานที่เรารัก แค่นี้ก็เรียกว่าสุขแล้ว และสำหรับผมการได้เติมเต็มความรู้ให้แก่ลูกศิษย์ ในฐานะคนเป็นครู เป็นโค้ช ชีวิตก็แฮ้ปปี้แล้ว”
"