ตามรอยการเติบโตในวงการนักเขียนบทผ่านมุมมองของ “อ.พัทธ์ สุวรรณกุล”

25 Nov 2022

     อย่างที่นักวิชาการและนักวิชาชีพผู้คร่ำหวอดในวงการอุตสาหกรรมบันเทิงหลาย ๆ ท่านได้กล่าวไว้ว่า “บท” เป็นส่วนสำคัญที่เป็นพื้นฐานในการต่อยอดไปสู่การผลิตภาพยนตร์หรือละครซีรีส์ที่มีคุณภาพ นอกเหนือจากบทบาทการแสดงของนักแสดง แสง สี เสียง ภาพ พร็อพ (Props) และโลเคชั่น (Location) ที่มีความสมจริงในการถ่ายทำแล้ว ก็ขึ้นอยู่ที่ “บท” ว่าจะสามารถพาคนดูให้โลดแล่น เชื่อและอินไปกับเรื่องราวได้ตั้งแต่ต้นไปจนจบหรือไม่ ‘นักเขียนบทมือทอง’ ที่เก่งในการเขียนบทให้ครองใจคนดูจึงยังคงเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่เป็นที่ต้องการในแวดวงอุตสาหกรรมบันเทิง วันนี้เราเลยจะพาน้อง ๆ ที่มีฝันอยากเป็นนักเขียนบท มาพูดคุยกับ อาจารย์พัทธ์ สุวรรณกุล อาจารย์ประจำสาขาวิชาการเขียนบทและการกำกับภาพยนตร์และโทรทัศน์ (FWD) ตัวจริงในวงการเขียนบท เกี่ยวกับความสำคัญ ความต้องการและการเติบโตของวงการนักเขียนบทภาพยนตร์และละครซีรีส์ในไทยและเวทีโลกกัน

 

ความสำคัญของบทในงานภาพยนตร์และละครซีรีส์

     อ.พัทธ์ อธิบายให้ฟังว่า การเขียนบทสำคัญเพราะบทภาพยนตร์หรือบทละครซีรีส์เปรียบเสมือนโครงกระดูกของชิ้นงาน ที่จะเป็นตัวกำหนดว่าภาพยนตร์และซีรีส์จะมีคุณภาพหรือไม่ พูดได้ว่า ภาพยนตร์หรือซีรีส์ที่มีคุณภาพต้องเริ่มจากบทที่ดีก่อนเสมอ แต่ที่น่าเสียดายคือ อุตสาหกรรมบันเทิงในประเทศไทยเราต้องการคนเขียนบทมากๆ แต่คนที่เขียนบทเป็นมีน้อย ทั้งๆ ที่คนอยากเป็นนักเขียนบทมีจำนวนมาก เพราะการเขียนบทเป็นศาสตร์เฉพาะที่ต้องใช้เวลาในการศึกษาเรียนรู้ ซึ่งการเรียนเกี่ยวกับการเขียนบทในระดับมหาวิทยาลัยจึงเหมาะสำหรับคนที่อยากจะเป็นนักเขียนบทที่ตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมบันเทิง

 

ความนิยมซีรีส์ในไทย

     อ.พัทธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ความต้องการในเรื่องของการรับชมของผู้ชมมีพัฒนาการอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว แต่บางทีอุตสาหกรรมในประเทศไทยเองที่พัฒนาไม่ทันตามความต้องการของผู้ชม โดยเฉพาะกลุ่มผู้ชม generation ใหม่ๆ กล่าวคือ ผู้ชมดูอะไรที่เป็นสูตรที่เคยดูมาแล้วบ่อย ๆ เดี๋ยวเค้าก็เบื่อ เค้าก็ต้องหาอะไรใหม่ๆ ดู ไม่สำคัญว่าจะเป็นซีรีส์ของประเทศอะไร แต่ถ้าซีรีส์มีความแปลกใหม่ มีความ Original มีความสร้างสรรค์ ไม่ Cliché เหมือนที่เค้าเคยดูมาแล้ว ยังไงคนดูก็อยากดู อย่างซีรีส์วายเองก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่กำลังได้รับความสนใจ เพราะว่ามันมีหลายปัจจัย เช่น กลุ่มคนดูที่ขยายตัวมากขึ้น และพื้นที่ในการนำเสนอ Content ที่เปิดกว้างมากขึ้นตามรสนิยมการรับชมของผู้ชมแต่ละคน ถ้าแตะวิชาการหน่อย ก็น่าจะอธิบายได้ว่าซีรีส์วายมี Storytelling ที่น่าสนใจ มีการผสมผสาน Genre ตั้งแต่ Romantic, Comedy, Drama จนถึง Fantasy เลยทีเดียว ประกอบกับชั้นเชิงการเล่าที่ทำให้คนดูรู้สึกได้หลีกหนีจากเรื่องเหนื่อยหน่ายในชีวิตประจำวัน และที่น่าสนใจมากคือ นักศึกษานานาชาติหลายคนที่มาเรียนที่นี่ชื่นชอบซีรีส์วายของประเทศไทยมาก ทำให้เห็นว่าซีรีส์วายในไทยได้รับความนิยมไปถึงระดับสากลเลยทีเดียว อีกทั้งซีรีส์วายยังกลายเป็นแรงบันดาลใจให้นักศึกษาในสาขา FWD มีความสนใจในการเขียนบทมากขึ้นอีกด้วย

 

อนาคตของซีรีส์ในไทยและเวทีโลก

     “ปัจจุบันผู้ชมส่วนมากเลือกรับชมซีรีส์หรือภาพยนตร์ผ่านช่องทาง Streaming Media Services (Streaming Platform) เช่น Netflix, iQIYI, VIU, Amazon Prime Video, HBO max, Disney+ เพราะสามารถเลือกเรื่องที่จะดูเมื่อไหร่ก็ได้ตามที่สะดวก ถึงดูไม่จบก็สามารถกลับมาดูต่อจากที่ดูค้างไว้ได้ ทำให้ปฎิเสธไม่ได้ว่าคนยุคนี้มักเลือกรับชมผ่านช่องทาง Streaming มากกว่าผ่านช่องทีวีที่ต้องคอยนั่งรอโฆษณา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอนาคตของซีรีส์ในไทยและเวทีโลกจะมีความเป็นสากลมากขึ้น กล่าวคือ ในประเทศไทยผู้จัดก็ต้อง collaborate กับทางบริษัท Streaming ที่เป็นของต่างชาติ ในขณะเดียวกันเวทีโลกเองก็ต้องการ content ที่มีความหลากหลายมากขึ้น ที่จริงต่างชาติเค้าสนใจ content ที่แปลกใหม่สำหรับกลุ่มคนดูในประเทศเค้ามานานแล้ว แต่ประเทศเราเพิ่งเริ่มที่จะปรับตัวให้ทันตามความต้องการของสากล แล้วในอนาคตผมมั่นใจว่าเราจะเห็นประเทศไทย collaborate กับบริษัทต่างชาติเพื่อผลิตซีรีส์มากขึ้นอย่างแน่นอน” อ.พัทธ์ กล่าว

 

สาขา FWD ตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมบันเทิง ผลิตทั้งนักเขียนบทและผู้กำกับมืออาชีพ

     อ.พัทธ์ แนะนำว่า สาขาวิชาการเขียนบทและการกำกับภาพยนตร์และโทรทัศน์ ไม่ได้สอนแค่การเขียนบทอย่างเดียวแต่สาขาเราจะสอนนักศึกษาให้กลายเป็นผู้กำกับที่มีคุณภาพอีกด้วย สาขาเราเชื่อว่าซีรีส์หรือภาพยนตร์ที่ดีต้องเริ่มจากบทที่มีคุณภาพก่อนเสมอ อาจารย์ทุกท่านจะช่วยปูพื้นฐานการเขียนบทและการกำกับตั้งแต่ระดับพื้นฐานจนนักศึกษามีทักษะการเขียนบทและการกำกับที่พร้อมสำหรับการทำงานจริงในอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ยังเสริมองค์ความรู้มุมอื่นๆ เพื่อเสริมทักษะการเขียนบทและการกำกับด้วย ตั้งแต่ การผลิตภาพยนตร์ทดลอง การผลิตสารคดี การเขียนบทสำหรับ Animation และการทำเสียงในสื่อภาพยนตร์และโทรทัศน์ เป็นต้น ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาเราได้ผลิตบัณฑิตที่มีความพร้อมทำงานจริง ทั้งด้านการเขียนบท การกำกับ และด้านอื่นๆ อีกมากมาย ล่าสุดเลย มีศิษย์เก่าจากสาขาเราที่ได้รับรางวัลดีเด่น “สาขาภาพยนตร์” จากงาน Young Thai Artist Awards 2022 จากผลงานเรื่อง “Sperm Budding” นอกจากนี้ ยังมีนักศึกษาที่จบไปแล้วได้ทำงานเขียนบทกับทั้งบริษัทระดับสากลและระดับประเทศ เช่น มีศิษย์เก่าที่ตอนนี้อยู่ในทีมเขียนบทซีรีส์ของ Amazon และศิษย์เก่าที่มีผลงานเขียนบทให้ช่อง Thai PBS มาแล้วหลายเรื่อง แต่อย่างที่ได้กล่าวก่อนหน้านี้ ศิษย์เก่าสาขา FWD สามารถนำองค์ความรู้ที่เรียนมาไปทำงานในด้านต่างๆ ตั้งแต่เป็น Content Creator ใน Youtube, tiktok จนไปถึงการเป็นเจ้าของบริษัท Production House ที่รับผลิตงานให้กับลูกค้าระดับสากลเลยทีเดียว”

 

ฝากถึงน้องๆ ที่มีฝันอยากเป็นนักเขียนบท

     “ใครที่มีความฝันอยากจะเป็นนักเขียนบทหรือผู้กำกับภาพยนตร์หรือละครซีรีส์ (รวมถึงคนที่อยากทำงานด้าน Creative อื่นๆ อีกด้วย) อาจารย์ที่วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตทุกท่านพร้อมที่จะให้ความรู้ทุกคนอย่างเป็นกันเองเหมือนพี่เหมือนน้อง บรรยากาศในชั้นเรียนมีความเป็นครอบครัว เนื้อหาเข้มข้นแต่เรียนอย่างชิว พร้อมรับฟังและให้คำปรึกษาทุกเรื่อง นักศึกษาสามารถเข้าถึงอาจารย์ทุกคนได้แน่นอน! เจอกันนะครับ” อ.พัทธ์ ฝากทิ้งท้าย

     สำหรับน้องๆ ที่สนใจ สามารถเข้าไปพูดคุยหรือติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับพี่ๆ และคณาจารย์ของเราได้ที่เพจ https://www.facebook.com/NitadeRSU

"

ผู้จัดทำ

บทความที่คุณอาจสนใจ