ว่าด้วยวิชา Interactive Design (UX/UI) ที่เด็กนิเทศศิลป์รังสิตต้องได้เรียน

11 Jun 2022

 

 

ความรู้ในห้องเรียนก็สำคัญ นอกห้องเรียนยิ่งสำคัญ เพราะมันคือประสบการณ์ที่นักศึกษาทุกคนต้องได้เจอ สำหรับนักศึกษาที่เลือกเรียนสาขาวิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ต้องได้เรียนแน่  ๆ คือ วิชา Interactive Design (UX/UI) ที่เน้นการออกแบบประสบการณ์ใช้งานเพื่อให้ผู้ใช้เกิดความพึงพอใจสูงสุด และการออกแบบที่เชื่อมประสานระหว่างผู้ใช้งานกับระบบหรือผลิตภัณฑ์ ซึ่งมุ่งเน้นไปที่หน้าตาการออกแบบ และหากออกแบบ UX/UI แล้ว ผู้ใช้งานสามารถใช้งานได้อย่างถูกต้องและเกิดความพึงพอใจ จะถือว่าเราประสบความสำเร็จกับการออกแบบนั่นเอง ซึ่งวันนี้อาจารย์โกศัย ศรีภักดี สาขาวิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ วิทยาลัยการออกแบบ มหาวิทยาลัยรังสิต และ Design Director จาก Infinity Studio มาแชร์ประสบการณ์การเรียนการสอนวิชา Interactive Design (UX/UI) พร้อมตัวอย่างผลงานที่นักศึกษาต้องได้เรียนแน่นอนมาฝากกัน         

 

 

วิชา Interactive Design (UX/UI) ของสาขาวิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ วิทยาลัยออกแบบ มหาวิทยาลัยรังสิตนั้น นักศึกษาชั้นปีที่ 2 และ 3 จะได้เรียนวิชานี้ ซึ่งเป็นวิชาออกแบบการสื่อการ ผ่านสื่อดิจิตัล ทั้งเชิงประสบการณ์การใช้งาน และการออกแบบหน้าตาการใช้งานสื่อที่อยู่บนอุปกรณ์ดิจิทัลต่าง ๆ ตัวอย่างเช่นแอปพลิเคชัน หรือ เว็บไซต์ เป็นต้น ก่อนอื่นทำต้องทำความเข้าใจก่อนว่า UX/UI Design นั่นมีที่มาแบบทางการ คือ UX ย่อมาจาก User Experience การออกแบบประสบการณ์ใช้งานเพื่อให้ผู้ใช้เกิดความพึงพอใจสูงสุด เช่น ใช้งานง่าย มีลำดับขั้นตอนชัดเจน เป็นการสร้างความรู้สึกจดจำให้ผู้ใช้งานอยากกลับมาใช้งานอีก ส่วน UI ย่อมาจาก User Interface การออกแบบที่เชื่อมประสานระหว่างผู้ใช้งานกับระบบหรือผลิตภัณฑ์ ซึ่งมุ่งเน้นไปที่หน้าตาการออกแบบ เช่น การวางภาพ ปุ่ม หรือขนาดตัวอักษร เป็นต้น โดยองค์ประกอบในการออกแบบ UX Design มีกระบวนการหรือแนวคิดในการออกแบบ ได้แก่  การคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ออกแบบการบริการ (Service Design) กระบวนการเพื่อแก้ไขปัญหา (Design Sprint) กระบวนการออกแบบที่ให้ความสำคัญกับผู้ใช้งานเป็นหลัก (User Centered Design) ขณะที่ UI Design มีองค์ประกอบในการออกแบบ ได้แก่ กระบวนการออกแบบที่เน้นนำเสนอข้อมูล (Information Design) กระบวนการออกแบบโดยคำนึงถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้งานกับวัตถุที่เน้นการตอบสนองที่ถูกต้อง (Interaction Design) การจัดเรียงข้อมูลอย่างเป็นระบบ และการจัดกลุ่มข้อมูลให้มีความถูกต้อง (Information Architecture) การนำเสนอภาพเพื่อให้เกิดความสวยงาม ครบทุกองค์ประกอบ (Visual Design) การออกแบบปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ (Human Computer Interaction) โดยภาพรวมของการออกแบบต้องมีประโยชน์ เพราะการออกแบบมีอยู่ในทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นการออกแบบสินค้า บริการ เราไม่ได้ออกแบบแค่ให้ใช้งานได้เท่านั้น แต่ต้องมีคอนเซ็ปต์ในการออกแบบ เพื่อสร้างประสบการณ์ความพึงพอใจให้กับลูกค้า

 

 

อาจารย์โกศัย กล่าวว่า “พื้นฐานดังที่กล่าวมานั้น นักศึกษาต้องมีความรู้ทุกองค์ประกอบ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบงานของตนเอง  และด้วยสไตล์การสอนของผมที่จะใช้รูปแบบที่ใกล้เคียงกับการทำงานที่ผมทำอยู่ในปัจจุบันมาสร้างโจทย์ร่วมกันกับนักศึกษา ช่วยกันวิเคราะห์ปัญหา และความเป็นไปได้ต่าง ๆ  ก่อนจะนำปัญหานั้นเข้าสู่ระบบวิธีคิดหาแนวทางออกแบบ ซึ่งนักศึกษาสามารถเสนอความคิดของตนเอง ร่วมกับ Project ของใครก็ได้ ทุกคนรับฟังปัญหา และหาวิธีแก้ปัญหาไปด้วยกัน ไม่ใช่แค่ทำของใครของมัน ข้อดีคือ ทุกคนสามารถเรียนรู้และเก่งขึ้นไปพร้อมกันได้แม้ไม่ได้ทำ Project นั้นเลยก็ตาม เช่น เมื่อมีคนหนึ่งเจอปัญหา A และมีคนหาวิธีแก้ปัญหา A ได้สำเร็จ จะมาแชร์ให้ทุกคนฟัง ทุกคนในห้องก็จะได้เรียนรู้ ปัญหา A ไปด้วย ที่เหลือเป็นการปล่อยให้ความคิดสร้างสรรค์ในตัวนักศึกษาขับเคลื่อนผลงานและตัวตนออกมา โดยตัวอย่างผลงานวิชา Interactive Design (UX/UI) ที่จำทำให้เห็นภาพ ยกตัวอย่างจากโจทย์ หาปัญหาใกล้ตัวไม่ว่าจะเป็นปัญหาจากเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันในชีวิตประจำวันทั้งเรื่องการใช้งาน และหน้าตา ความสวยงาม มาวิเคราะห์ปัญหาที่ประสบด้วยตนเอง และหาวิธีแก้ปัญหาดู

 

 

ตัวอย่างผลงานของ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 ตั้งใจออกแบบ “แอปพลิเคชันให้กับมหาวิทยาลัยรังสิต” โดยที่มีการรวมเอาเครื่องมือที่จำเป็นต่อนักศึกษาในมุมมองของตนเอง มาออกแบบเป็นแอปพลิเคชันที่ทำสิ่งต่าง ๆ ให้ง่ายขึ้น เช่น ตารางเรียน ตารางสอบ การดูคะแนนและเกรด การลงทะเบียน การจ่ายค่าเทอม หรืออีกหนึ่งผลงานหนึ่งคือ การออกแบบแอปพลิเคชันเกี่ยวกับ “BTS” โดยที่สามารถใช้แอปฯนี้ ทำธุรกรรมทุกอย่างได้เมื่อใช้บริการ BTS ไม่ว่าจะเติมเงิน จ่ายเงิน เช็คระยะเวลา ตรวจสอบสถานะการวิ่งของรถไฟฟ้า เนื่องจากตัวนักศึกษาเองต้องนั่ง BTS มาเรียนทุกวัน จึงมองเห็นปัญหาได้หลายมิติ นอกจากนี้ยังมีการนำเอาแอปพลิเคชัน หมอพร้อม เวปไซต์ www.f0nt.com และ E-Commerce มาลองวิเคราะห์และทำให้ง่ายขึ้น เป็นต้น ซึ่งจาการได้ลองแก้ไขงานออกแบบจากประสบการณ์จริงของนักศึกษา ในวิชา Interactive Design (UX/UI)  จะทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้วิธีคิด การวิเคราะห์ก่อนจะลงมือทำ การหาเหตุผลมาประกอบกับสิ่งที่เราออกแบบ และคำนึงถึงผลลัพธ์กับงานของตัวเองด้วย นอกจากนี้ยังสามารถวัดผล อธิบาย และใช้วิธีการคิด การทำงาน หรือเทคโนโลยีที่เป็นปัจจุบันกับสายงานนิเทศศิลป์ เพื่อความรู้ไปต่อยอดกับการทำงานจริง ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง และใช้ได้จริงอีกด้วย

 

 

น้อง ๆ ทุกคนที่กำลังคิดจะเป็นนักออกแบบ อาจารย์โกศัย ฝากให้ทุกคนต้องลองฝึกตั้งคำถาม ทั้งกับสิ่งที่ดี สิ่งที่ชอบ หรือสิ่งที่ไม่ดี สิ่งที่ไม่ชอบ ที่อยู่รอบตัวว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้ ทำไมถึงดี ดีจริงหรือเปล่า? ทำไมถึงไม่ดี แล้วถ้าจะทำให้ดีขึ้น ต้องทำอย่างไร? จะทำให้เป็นคนช่างสังเกตุและหาเหตุผล วิเคราะห์ความคิด รู้จักหาที่มาที่ไปของการทำงาน และอธิบายสิ่งที่เราคิดได้ดีขึ้น งานออกแบบมีหลายประเภทรวมถึงมีแนวความคิดมากมายที่สามารถหยิบมาศึกษา เรียนรู้ได้ งานออกแบบทุกงานล้วนถูกออกแบบมาเพื่อทำหน้าที่อะไรสักอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการใช้งาน ความบันเทิง การสื่อสาร การแก้ปัญหา หรือด้วยเหตุอะไรก็แล้วแต่ มันมักมีจุดประสงค์หรือประโยชน์ในตัวของมันเองเสมอ ความสวยงามก็เป็นส่วนหนึ่งของงานออกแบบที่ขึ้นอยู่กับตัวบริบทและรสนิยมส่วนบุคคล แต่ประโยชน์หรือจุดประสงค์ของงานที่เราออกแบบนั้นคืออะไร? จะต้องเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องลองค้นหามันดู ในฐานะนักออกแบบ สำหรับวิชา Interactive Design (UX/UI) สาขาวิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยรังสิต จึงเป็นวิชาที่สำคัญที่นักศึกษาต้องทำความเข้าใจและเรียนรู้การใช้งาน เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ต้องการ ไม่ส่งผลให้ผู้ใช้เสียความรู้สึกและไม่อยากกลับมาใช้งานอีกเสียโอกาสหรือทรัพย์สิน เช่น การออกแบบที่ทำให้ผู้ใช้รู้สึกสับสน ผู้ใช้อาจเข้าใจผิดทำให้เกิดความผิดพลาด นำมาซึ่งความเสียหายต่อผู้ใช้งานได้ ดังนั้นเราจึงควรใส่ใจกับการออกแบบ เพื่อสร้างกระบวนการที่ถูกต้อง เข้าใจง่าย นำมาซึ่งความพึงพอใจและความประทับใจของผู้ใช้งานนั่นเอง

"

ผู้จัดทำ

บทความที่คุณอาจสนใจ