การสื่อสารในปัจจุบันถูกเปลี่ยนไปเป็นหลายรูปแบบ บนแพลตฟอร์มที่แตกต่างกันออกไป เช่นเดียวกับการอ่านหนังสือและการเขียนนวนิยาย ในปัจจุบันยังคงมีให้เห็นอยู่หลากหลายเพื่อให้ผู้อ่านได้เลือกอ่านตามสะดวกในแพลตฟอร์มที่ต่างออกไป ไม่เพียงเรื่องของแพลตฟอร์มเท่านั้น การใช้ภาษาในการถ่ายทอดก็มีรูปแบบที่เปลี่ยนไปตามกาลและยุคสมัยเช่นกัน
ดร. ณัฏฐ์ธีรตา วิทิตวิญญูชน รองคณบดีสถาบันการทูตและการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยรังสิต และเจ้าของรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 รางวัลชมนาด ครั้งที่ 9 จากการเขียนนวนิยายเรื่อง “ไผ่ลายหยก” กล่าวว่า ตนเองเริ่มต้นการเขียนเป็นงานอดิเรก ถึงแม้ว่าตนจะเป็นอาจารย์ แต่ด้วยใจรักในการเขียนและอยากจะถ่ายทอดความรู้ผ่านตัวอักษร จึงตั้งเป้าหมายในการเขียนให้ได้ 1 วันต่อสัปดาห์ สำหรับการเขียนนิยายเรื่องแรกคือ เรื่อง “ภาคินีสีเลือด” ซึ่งเป็นนวนิยายแนวสยองขวัญ มีเนื้อหาเกี่ยวโยงกับวัฒนธรรมโนราห์ชาตรีทางภาคใต้ ต่อมาในเรื่องที่สอง ตนได้ตัดสินใจส่งเข้าประกวดกับโครงการรางวัลชมนาด ครั้งที่ 9 ซึ่งจัดภายใต้ความร่วมมือของสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น ธนาคารกรุงเทพ และบริษัท บี. กริม เพาเวอร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมนักเขียนสตรีไทย สร้างคุณค่าและเสริมพลังแก่ผู้หญิง สำหรับเรื่องที่ส่งเข้าประกวดเป็นครั้งแรก อีกทั้งได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 รางวัลชมนาด ครั้งที่ 9 คือเรื่อง “ไผ่ลายหยก” ดร.ณัฏฐ์ธีรตากล่าวว่า ความรู้สึกตอนที่ได้รับรางวัลมันมากกว่าความยินดี แต่คือความปลื้มปีติและความภาคภูมิใจ เพราะว่ามันเป็นเรื่องที่สองในชีวิตที่เคยเขียน ซึ่งตั้งใจจะเขียนและถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดของผู้คน วิถีชีวิต และวัฒนธรรมบาบ๋าในจังหวัดภูเก็ตเมื่อราว 50-60 ปีก่อน พร้อมๆ กับเทิดทูนคุณมารดา
นวนิยายไผ่ลายหยก ความโดดเด่นและความสละสลวยของวรรณศิลป์ สู่การคว้ารางวัลชมนาด
ถ้าพูดถึงการสร้างคุณค่าให้กับผู้หญิง ดร. ณัฏฐ์ธีรตาเอ่ยว่า นวนิยาย “ไผ่ลายหยก” ต้องการจะสื่อว่า—คนเราแม้ว่าจะเกิดมาต่ำต้อยแค่ไหนก็ตาม แต่คุณค่าของคนไม่ได้ถูกกำหนดมาเมื่อเราเกิด คนเราจะต้องพิสูจน์และจะต้องสร้างคุณค่าขึ้นมาด้วยตัวเอง สำหรับเนื้อเรื่องของนวนิยาย บอกเล่าถึงชีวิตผู้หญิงครอบครัวชาวจีนบาบ๋าในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งนอกจากจะมีภาระหน้าที่ที่จะต้องดูแลรับผิดชอบงานบ้านแล้ว ยังมีภาระหน้าที่หาเงินจุนเจือครอบครัวอีกด้วย สิ่งนี้คือคุณค่าของผู้หญิงในครอบครัวบาบ๋าในภูเก็ตเมื่อสมัย 50-60 ปีก่อน
จุดเด่นของหนังสือไผ่ลายหยก คือ การแสดงถึงวัฒนธรรม วิถีชีวิต และความคิดของคนบาบ๋าในภูเก็ตย้อนไปในสมัยนั้น ในปัจจุบันคนรู้จักภูเก็ตในมิติของการท่องเที่ยวเป็นหลัก แต่ว่าจริงๆ แล้วคนเข้าใจวิถีชีวิตของคนจีนบาบ๋าในภูเก็ตน้อยมาก หรือแม้แต่คนภูเก็ตเองก็หลงลืมไปมาก สิ่งนี้จึงกลายเป็นจุดสำคัญที่ทำให้ผู้เขียนอยากจะเผยแพร่วัฒนธรรมบาบ๋า พร้อมทั้งเชิดชูคุณค่าของผู้หญิงไปด้วย สำหรับหนังสือเรื่อง “ไผ่ลายหยก” มีความหมายแอบแฝงอยู่ในชื่อเรื่อง ถ้าดูตั้งแต่หน้าปกจะเห็นได้ว่ามีคติสอนใจ คือ “ยังมีศรัทธาในวันที่สิ้นหวัง ยังมีความรักในวันที่ไม่เหลือใคร” ด้วยเนื้อหาที่สื่อถึงวัฒนธรรมชาวจีนบาบ๋าย และถ่ายทอดแนวคิดที่ให้สติในการดำเนินชีวิต ทำให้หนังสือเล่มนี้มีจุดเด่นที่น่าติดตามแก่ผู้อ่าน และเป็นเหตุผลที่หนังสือเรื่อง “ไผ่ลายหยก” ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 รางวัลชมนาด
ดร. ณัฏฐ์ธีรตาแย้มว่า ในอนาคตอยากจะเขียนเรื่องราวที่มีแง่มุมทางประวัติศาสตร์และมิติด้านการต่างประเทศ ตั้งใจจะนำความรู้ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาถ่ายทอดในรูปแบบนวนิยาย เพื่อให้คนอ่านสนุกสนานไปกับการอ่านนิยาย แต่ในขณะเดียวกันก็ได้รับสารประโยชน์และความรู้ในมิติด้านการเมืองระหว่างประเทศที่แฝงอยู่ด้วย
บทบาทนักวิชาการสู่งานเขียนนวนิยาย
หลายคนอาจจะสงสัยว่า ดร.ณัฏฐ์ธีรตา วิทิตวิญญูชน มีบทบาทเป็นอาจารย์ในด้านสายการทูต แล้วทำไมถึงได้มาเขียนนวนิยายด้วย เพราะว่าธรรมชาติของงานการสอนด้านการทูตกับการเขียนนวนิยายนั้นดูแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ดร.ณัฏฐ์ธีรตา กล่าวว่า
“จริงๆ แล้วส่วนตัวมองว่ามีจุดเหมือนกันจุดหนึ่ง ในการเขียนหนังสือ หรือแม้แต่การเป็นอาจารย์สอน เราต้องมีการค้นคว้าวิจัยและต้องมีการเขียน เพราะฉะนั้นก็เรียกได้ว่าแทบจะเป็นทักษะเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการเขียน หรือการค้นคว้าหาข้อมูล ตรงนี้จะมีความคล้ายคลึงกันมาก ถึงแม้ว่ามันจะไม่เกี่ยวกับการสอนก็ตาม แต่ว่าสำหรับตัวเอง การเขียนหนังสือจะต้องมีการค้นคว้าเยอะพอกับการทำวิจัย’’
ทิ้งทวนให้แง่คิด
การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพทางการถ่ายทอดความรู้ผ่านตัวหนังสือ ด้วยยุคสมัยในปัจจุบันที่ปรับเปลี่ยน ทำให้ผู้คนหลงลืมสิ่งต่างๆ รอบตัว แต่เหนือสิ่งอื่นใด หนังสือคือคลังความรู้ที่มีอยู่อย่างมหาศาลและเป็นสิ่งที่ผู้คนนึกถึงเมื่อต้องการหาคำตอบของปัญหา สิ่งนั้นได้จากหนังสือ หนังสือนิยายเรื่อง “ไผ่ลายหยก” จะเป็นอีกหนึ่งขุมทรัพย์ทางความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมบาบ๋า แต่มีข้อคิดประการหนึ่งที่ผู้เขียนอยากจะฝากถึงผู้อ่าน...
“ไม่อยากจะให้เอากรอบความคิด วิถีชีวิต และความเชื่อของคนในปัจจุบันไปตัดสินการกระทำ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของคนในอดีต อยากจะให้อ่านแล้วเรียนรู้และเข้าใจในสิ่งที่เป็นไปมากกว่า ในบางแง่มุมที่คนในปัจจุบันอาจจะรู้สึกว่ารับไม่ได้ หรือในบางแง่มุมอาจจะขัดกับความรู้สึกของคนในปัจจุบัน แต่อยากให้อ่านเพื่อเปิดมุมมอง อ่านเป็นความรู้ค่ะ”
"