เด็ก VFX สร้างโลก(เสมือน)... ปลุกความฝัน ปลุกจินตนาการ ให้เป็นจริง

12 Jul 2019

หากย้อนไปเมื่อสมัยยังเป็นเด็ก หลายๆ คนคงเคยมีฝัน ฝันที่เหนือจินตนาการ ไม่ว่าจะอยากบินได้เอย...อยากนั่งเล่น นอนเล่น อยู่บนก้อนเมฆเอย อยากขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์เอย กระทั่งอยากลงไปแหวกว่ายกับปะการังหลากสีที่ใต้ท้องทะเล...จินตนาการสุดสร้างสรรค์เหล่านี้ล้วนเกิดจากการที่ช่วงวัยเด็กๆ ได้อ่านหนังสือ ชมภาพยนตร์ ละคร แอนิเมชั่น ภาพเคลื่อนไหวต่างๆ ที่ถูกเนรมิตขึ้นทำให้เรามีความฝัน และจิตนาการ แต่การที่จะเติมเต็มความฝันเหล่านั้นได้คงไม่ใช่เรื่องง่าย เรียกว่าทำไม่ได้เลยก็ว่าได้

 


จุดนี้เองที่ทำให้ “ท็อป” จักรภัทธ อุดมสุข ศิษย์เก่าสาขาวิชวลเอฟเฟค คณะดิจิทัลอาร์ต มหาวิทยาลัยรังสิต อยากสร้างแรงบันดาลใจ อย่างที่เขาเคยได้รับรู้ในวัยเด็กให้สมบูรณ์แบบโดยเลือกที่จะสร้างโลกนั้นจากการใช้ Visual Effects และ “ท็อป” เลือกที่จะเรียนสาขาวิชาวิชวลเอฟ คณะดิจิทัลอาร์ต มหาวิทยาลัยรังสิต เพราะรู้ตัวเองเลยว่าต้องมาเรียนสาขานี้ และที่นี่สอนทำ CG ในระดับภาพยนตร์ ซึ่งตรงกับความชอบของเขา และเขาอยากทำ CG เจ๋ง ๆ ให้ได้


“เมื่อการเข้ามาเรียนคณะในฝันที่คิดว่าจะทำให้สร้างโลกจิตนาการได้ไม่ใช่เรื่องง่าย “ท็อป” ยื่นขอทุนสิ่งประดิษฐ์ ซึ่งเป็นทุนที่มหาวิทยาลัยมอบให้สำหรับเด็กที่มีผลงาน และตอนนั้นท็อปได้ประกวดหนังสั้นประมาณ 33 เรื่อง มีผลงาน 18 เรื่องที่ได้รางวัล จึงเอามายื่นขอทุนและได้เข้ามาเรียนสมใจ แม้จะเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก สำหรับเด็กมัธยมคนหนึ่ง ที่ทั้งอ่านหนังสือเตรียมสอบ ทั้งทำหนังสั้นส่งประกวด มีหลายครั้งที่เหนื่อย แต่เพื่อความฝันแล้วก็ต้องทุ่มสุดตัว ระหว่างเรียนผมก็นึกถึงช่วงทำหนังสั้นส่งประกวดที่มักจะพบกับเจอข้อจำกัดที่ว่า เวลาถ่ายหนังเราจำเป็นต้องใช้คนแสดง ต้องถ่ายมุมนี้เท่านั้น หากเราอยากมีตึกแบบนี้โผล่ขึ้นมา หรืออยากทำหนังแนว Sci-Fi แนวแฟนตาซี แต่ก็ทำไม่ได้ ผมอยากปลดข้อจำกัดตรงนี้ พอได้เขามาเรียนวิชวลเอฟเฟค ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการทำ Visual Effects หลังจากเรียนได้ระยะหนึ่ง ตอนนี้ผมสามารถทำอะไรก็ได้ อยากจะสร้างสัตว์ประหลาด อยากจะสร้างก็อตสิล่าก็สามารถทำได้แล้ว

 

 


ส่วนตัวผมจึงอยากนิยามคำว่า Visual Effects ของผม คือ “ทุกอย่างเป็นไปได้ เราสามารถทำให้มันเป็นจริงได้ แม้จะแค่ในจอก็ตาม” และอีกประการสำหรับผมที่ไม่ได้เลือกไปทาง Computer Art เนื่องจากสองสาขานี้มีความต่างกันอยู่ครับใครที่ชอบแนว Computer Art จะเน้นการวาดรูปเป็นส่วนใหญ่ ประเภท 2D หรือถ้าเป็น 3D จะเป็นการ์ตูน แต่สำหรับคนชอบ Visual Effects อย่างผมจะเป็นแนว Realistic เหมาะกับการทำ CG (Computer Generated) ซึ่งจะต่อยอดไปทำหนังแบบฮอลลีวูดได้ ตอนเรียนวิชาที่ชอบเป็นการเรียนเกี่ยวกับการCoding การเขียนเครื่องมือขึ้นมาใช้เอง เพราะเวลาที่ใช้โปรแกรม เรามักเป็นผู้ใช้อย่างเดียว แต่ถ้าหากเราcodingเอง เราก็จะสามารถพัฒนาเครื่องมือขึ้นมาใช้เองได้ตามความต้องการ และผมคิดว่ามันสามารถไปต่อยอด นำไปใช้ได้เยอะอีกเช่นกัน ความยากง่ายในแต่ละวิชาไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับความถนัดของแต่ละคน อย่างผมเองจะถนัดไปทางด้านการใช้โปรแกรม ด้าน Technical เสียมากกว่า”

 


“หลังจากเรียนจบท็อปได้ทุน 100% ตลอดหลักสูตรจากรัฐบาลจีนแบบไม่ผูกมัดใดๆ เพื่อไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเฉิงตู เมืองเฉิงตู ประเทศจีน ในสาขาแอนิเมชัน (Animation) และเนื้อหาที่ต้องเรียนในส่วนใหญ่ของที่มหาวิทยาลัยเฉิงตูแห่งนี้ มหาวิทยาลัยรังสิตได้ปูพื้นฐานให้เรามาค่อนข้างครบแล้ว พอมาเรียนที่นี่ทำให้เราเรียกว่ากลายเป็นคนที่รู้เยอะกว่า ทุกอย่างมันเลยง่ายสำหรับเรา ตรงนี้เป็นโอกาสที่เข้ามาในชีวิตที่เป็นประสบการณ์ที่ดีมากสำหรับเด็กสายดิจิทัลอาร์ต ที่เหลืออยู่ขึ้นอยู่กับว่าเราได้ใช้โอกาสนั้นคุ้มค่าไหม”


“ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดจากการเรียน Visual Effects ของบ้านเรากับที่จีนในความเห็นส่วนตัว คือ เรามีความเข้าใจในคำว่า “Animation” ที่ต่างกันครับ ของเราแอนิเมชั่นของเราคือ อะไรก็ได้ ทุกอย่างสามารถทำให้เคลื่อนไหวได้ คือ แอนิเมชั่น จากนั้นเป็นหน้าที่ของเราในการวาง Story ให้กับสิ่งที่เราสร้างขึ้นแต่สำหรับการเรียนที่จีนจะมีข้อจำกัดว่า แอนิเมชันต้องมีตัวละคร 1 ตัวละคร 2 เดินเรื่องมาอย่างนี้ ต้องจบแบบนี้ ต้องไม่ดำเนินเรื่องซับซ้อนมากจนคนดูไม่เข้าใจ อย่างแนว Abstract ก็จะไม่ได้รับการยอมรับมากนักเวลาผมทำงานแนวนี้ส่งไป มักจะตีกลับให้ปรับแก้ ซึ่งเราก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับบริบทที่นั่นครับ ส่วนปัญหาการเรียนโดยเฉพาะภาษาก็ไม่เป็นปัญหา เพียงแค่มีแอปพลิเคชั่นแปลภาษา ใช้ภาษากายสื่อสารกันก็เข้าใจกันได้ เวลาเรียนก็ได้แลกเปลี่ยนความรู้กันแบบคอนเซ็ปต์ไทย-จีน ส่วนความใฝ่ฝันของคนทำ CG หรือ Visual Effects เกือบทุกคน คือการผลิตงาน แล้วได้ฉายในโรงภาพยนตร์ ส่วนตัวผมเองมีความฝันอยากทำกับ Marvel หรือพวกฮอลลีวูด นอกจากนี้ผมยังอยากเป็น Researcher ทางด้าน CG

 


“ผมว่าการทำ CG มันสร้างแรงบันดาลใจนะ มันทำให้เด็กหลายคนอยากเป็นนักบินอวกาศ ทำให้เด็กหลายคนอยากเป็นหมอ เป็นตำรวจ หรืออาชีพอื่นๆ ทั้งที่เราก็ไม่เคยเห็นหรอกว่านักบินอวกาศจริงๆ แล้วเขาเป็นอย่างไร หรือว่าคนที่เป็นหมอ จริงๆ แล้วเขาผ่าตัดกันอย่างไร เราไม่รู้ แต่เราดูผ่านภาพยนตร์ ที่มีส่วนประกอบของ CG ที่สร้างให้เกิดเป็นภาพขึ้นมา ตรงนั้นทำให้เราอยากสร้างสรรค์งานที่เป็นแรงบันดาลใจ และเมื่อรู้ว่าอยากทำอะไร เราก็จะผลักดันมันไปให้สุด...

 

การได้รับทุน การได้ทำงาน ล้วนเป็นโอกาสที่ดีที่เราได้รับจากความสามารถ ฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุดของการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยไม่ใช่แค่การเรียน แต่ผมคิดว่ามันคือ ความสุข มากกว่า เพราะถ้าเรามีความสุขกับอะไร เราก็จะทำมันได้ดี.. การทำ VFX ก็เช่นกัน ล้วนเกิดจากความสุขจากจิตนาการที่เราอยากสร้างมันขึ้นมา หากคิดดูแล้วว่าเป็นทางของเรา วิชวลเอฟเฟค เป็นอีกสาขาที่สร้างโอกาสให้เราได้..

 

"

ผู้จัดทำ

บทความที่คุณอาจสนใจ