เชื่อว่าในแวดวงสถาปนิกเมืองไทย หลายคนต้องเตะหูเตะตาสถาปนิกหนุ่มลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่นที่ชื่อ "จูน เซคิโน" แห่งบริษัท จูน เซคิโน อาร์คิเทคต์ แอนด์ ดีไซน์ จำกัด เป็นแน่แท้ บริษัทแห่งนี้เป็นที่รู้จักในการดำเนินกิจการด้านการออกแบบ ให้คำปรึกษา และพัฒนางานสถาปัตยกรรมที่ครบวงจร และที่สำคัญมีผลงานการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมที่ได้รับความเชื่อถือและไว้วางใจไม่น้อยเลยทีเดียว แต่ทว่ากว่าจะมาถึงวันนี้ได้คงไม่ได้โรยมาด้วยกลีบกุหลาบอย่างแน่นอน ผู้ชายคนนี้มีการเดินทาง แรงบันดาลใจ และความท้าทายที่น่าสนใจอย่างไร มาทำความรู้จักกัน
ทำความรู้จักสถาปนิกที่ชื่อ จูน เซคิโน
พี่จูน เซคิโน เป็นคนหนึ่งที่ต้องบอกว่ามีลุคความเป็นสถาปนิกรุ่นใหม่มาก ด้วยคาแรกเตอร์ที่คล่องแคล่ว คล่องตัว คิดเร็วทำเร็ว และแอคทีฟไฟแรงอยู่ตลอดเวลา ทำให้มั่นใจได้เลยว่างานดีไซน์ของคนนี้ต้องมีความโดดเด่นและสร้างสรรค์อย่างแน่นนอน พี่จูนคนนี้ เป็นศิษย์เก่าจบปริญญาตรี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จากรั้วมหาวิทยาลัยรังสิตของเรานี่เอง ซึ่งพี่จูนเองให้ที่มาของจุดเริ่มต้นความสนใจในอาชีพจากการได้รับแรงบันดาลใจหลักจากผลงานของสถาปนิกระดับโลก เป็นตัวผลักดันให้อยากเรียนรู้ อยากอยู่ในวงการงานสถาปนิก แม้จริง ๆ ในใจแอบอยากเป็นนักฟุตบอลก็ตาม เพราะเล่นฟุตบอลมาตั้งแต่เด็ก เคยติดทีมเยาวชนและมีโอกาสได้เดินทางไปแข่งฟุตบอลต่างประเทศด้วย แต่นั่นคงไม่ใช่สิ่งที่กำหนดไว้ เพราะตอนนี้ชื่อ จูน เซคิโน อยู่ในวงการสถาปนิกเรียบร้อยแล้ว และสถาปนิกคนนี้กำลังมีผลงานวิชาชีพที่โดดเด่นจนได้รับรางวัลระดับชาติและนานาชาติมากมาย อาทิ Architizer Award Newyork German Design Award และรางวัลที่มิลาน เป็นต้น ล่าสุดพี่จูนได้รับรางวัล Building of the Year 2018 และ รางวัล Gold Medal Social/Institutional Building จากงาน ‘ARCASIA Award 2018’ ซึ่งจัด ณ เมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
ปี ’39 ในรั้วสถาปัตย์รังสิต
พี่จูนเป็นศิษย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์รุ่น 9 ซึ่งพี่จูนเล่าว่า หลังจบมัธยมศึกษา พี่จูนก็ตามหาตัวตน และมีเป้าหมายให้กับตัวเองว่าอยากเป็นสถาปนิก และมุ่งเรียนอย่างเต็มที่กับสายอาชีพนี้ สำหรับชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยสไตล์พี่จูน ส่วนตัวเมื่อเข้ามาเรียนปีแรกๆ ก็มีรุ่นพี่เป็นแรงบันดาลใจให้กับตัวเองเต็มไปหมด และด้วยความเป็นคนเฟรนลี่จึงทำให้สนิทกับรุ่นพี่ง่าย รู้จักทุกคนตั้งแต่ปี 1 ถึงปี 5 และปัจจุบันยังคงเป็นคอนเนกชั่นที่ดีเรื่อยมา ตลอด 5 ปี หรือพันกว่าวันที่ใช้ชีวิตในคณะฯ ยอมรับว่างานหนัก งานโหด ต้องทำงานทุกวัน ทั้งเหนื่อย ทั้งสนุก แต่เป็นประสบการณ์ที่ดี ปริญญาเพียงใบเดียวที่ได้รับที่มหาวิทยาลัยรังสิตในวันนั้น มีส่วนผลักดันอย่างมากให้พี่มาถึงวันนี้ได้ การที่ได้ทำงานหนักควบคู่ไปกับกิจกรรมเรียกว่าเป็นวัฒนธรรมของสถาปัตย์รังสิต แน่นอนสิ่งนี้ส่งผลให้เราไม่เหนื่อยแม้เวลาที่เรารู้สึกว่าเราทำงานหนักก็ตาม สุดท้ายการใช่ชีวิตพิสูจน์ตัวตนในคณะนี้ทำให้รู้ว่าไม่เคยคิดผิดที่เลือกเรียนที่นี่ และพี่จูนภูมิใจเสมอไม่ว่าจะไปที่ไหนหากใครถามว่าจบจากที่ไหน กล้าพูดได้เต็มปากว่า “สถาปัตย์ ม.รังสิต” และอยากให้ทุกคนรู้สึกแบบนี้เช่นกัน
คอนเซ็ปต์แบบไม่คอนเซ็ปต์สไตล์นักบริหาร จูน เซคิโน
หลักคิดในการทำงานทั้งในฐานะสถาปนิก นักบริหาร ของพี่จูนที่มีความเป็นผู้นำแบบไม่ใช่ผู้นำจัดเสียจนเกินไป ที่ต้องดูแลทีมงานกว่า 15 คน และทุกคนต่างมีคุณวุฒิ วัยวุฒิ ที่ต่างกันมาก การรับมือและจัดการให้เหล่าดีไซน์เนอร์อาชีพไฟแรงมาทำงานร่วมกันแบบทีมเวิร์ก ผนึกกำลังสร้างสรรค์ผลงานออกมาให้ลูกค้า ยอมรับให้ได้ก็ไม่ง่ายแต่ก็ไม่ยากเกินความสามารถ พี่จูนให้แง่คิดไว้ว่า “ไม่ได้มีมายเซ็ตอะไรเป็นพิเศษ ด้วยความที่การเกิดของออฟฟิศเริ่มจากจับพลัดจับผลูก่อร่างสร้างบริษัทตั้งแต่ปี 2010 มาจนปัจจุบัน เรามีการปรับเปลี่ยนกันทุกวัน ด้วยความที่คิดเสมอมาว่าเราไม่ได้โตมาด้วยจากการเป็นเจ้านายใคร เริ่มต้นชีวิตมาจากการเป็นลูกน้อง และทำงานในระบบออฟฟิศกว่า 10 ปี ทำให้เราได้ผ่านอะไรมามากมายทำให้เรารู้ว่าอะไรควรหรือไม่ควร เราต้องให้ความสำคัญเพราะเราทำงานกับคนไม่ใช่เครื่องจักร และคนที่เรากำลังทำงานด้วยนั้นมรสไตล์ มีคาแรกเตอร์ที่ต่างกันโดยเฉพาะมีความเป็นอาร์สติสนั้น เราต้องพยายามหาจุดร่วมที่เราจะไปด้วยกัน
ในการทำงานจะมีอยู่สองคำง่ายๆ คือ “ถูกใจกับถูกต้อง” จินตาการย้อนไปสมัยเรียนสองคำนี้หลายคนคงเลือกถูกใจมาก่อนถูกต้อง ซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไร แต่ในการบริหารงานเราควรที่จะเลือกถูกต้องมาก่อนถูกใจ เมื่อทำงานถูกต้องแล้วมีความรู้สึกไม่ถูกใจ ไม่เป็นไรปรับปรุงแก้ไขใหม่ แต่ถ้าทำงานถูกต้องแล้วเกิดความถูกใจตามมาเรียกว่า Success ซึ่งเป็นเหตุเป็นผลบนหลักความเป็นจริง และเราตั้งกันเป็นกติกาง่ายๆ ในการทำงานกับทีมงาน เราอย่าลืมว่าความสำเร็จที่เราได้มาไม่ได้มาเพราะตัวเราคนเดียว จูน เซคิโนไม่ได้เดินมาเดียว ฉะนั้นถ้าจะสำเร็จหมายถึงความสำเร็จของทุกคน เท่านี้เราก็จะสามารถทำงานไปด้วยกันได้”
ถ้าความ Failed มีทุกวันจะทำยังไง?
เมื่อชีวิตไม่ได้ราบเรียบหรือแฮปปี้ตลอด ดังนั้นให้รู้ไว้เสมอว่าความล้มเหลวมีทุกวัน บางวันเรายังต้องรับประทานอาหารที่อร่อยบ้าง ไม่อร่อยบ้าง มีของที่เราชอบบ้างไม่ชอบบ้าง แต่เราต้องฝึกคิดว่าของสิ่งนั้น หรืออะไรที่เราไม่ชอบอาจจะมีประโยชน์กับเราก็ได้ ดังนั้นทุกเช้าที่เราตื่นมาเราจะมีการบ้านกับตัวเองเสมอ เราจะเปลี่ยนตัวเองไปทุกวัน ไม่ใช่อารมณ์แปรปรวนนะ แต่เราเปลี่ยนตัวเองให้ดีขึ้นกว่าเมื่อวาน อะไรที่ยังทำไม่ดีพอวันนี้เราจะทำใหม่ ค่อยๆปรับค่อยๆเปลี่ยน เมื่อความรู้สึก Failed มาเยือน ให้คอดก่อนว่ามาจากอไร บ่อยครั้งงานออกแบบที่เราทำเกิดจากความคาดหวัง หวังว่าจะเป็นแบบนี้ หวังว่าจะเป็นแบบนี้ แต่จริงๆแล้วเราต้องเข้าใจงานก่อนว่างานออกแบบสถาปัตยกรรมของเราไม่ได้มีคำตอบเป็น ก ข ค ง แต่มันควรเป็นคำตอบแบบบรรยาย ซึ่งจะทำให้เราขจัดความคาดหวังได้ เพราะเรามีคำบรรยายปลายเปิดให้กับสิ่งนั้นความคาดหวังและจุดมุ่งหมายจะมีหลายทางให้กับเราทันที เป็นแนวคิดที่พี่จูนใช้กับในทุกๆเรื่องในชีวิตทำให้ชีวิตไม่เคยรู้สึกว่าผิดหวังหรือล้มเหลวถาวร
“ชีวิตก็เหมือนกับการออกแบบ
เราต้องสร้างคำถามที่ดีก่อน และจะดูดีกว่า
ถ้าคำตอบของเราดีกว่าคำถาม”
ความสำเร็จแบ่งปันได้ด้วย ‘โอกาส
สิ่งหนึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนจากคาแรกเตอร์ของพี่จูนคือ “คิดบวก” เสมอ ไม่แปลกใจว่าทำไมถึงสามารถทำงานกับเด็กรุ่นใหม่ๆ ได้อย่างไม่มีช่องว่าง เพราะอะไร? เพราะว่าเราเคยเป็นเด็กมาก่อนเราเติบโตมาได้แบบสังคมและวัฒนธรรมในแบบของเราเด็กรุ่นใหม่ก็เช่นกัน การที่เขามีทัศนคติหรือความคิดแบบนี้ไม่ใช่เป็นเพราะเป็นมาแต่กำเนิด แต่บริบทสังคมต่างหากที่หล่อหลอมให้เขาเป็นแบบนั้น แล้วเราจะทำอย่างไรที่จะให้คนวัยอย่างเรา ทำงานกับเขาได้ พี่จูนบอกว่า เราต้องนึกถึงเขาว่าเด็กเหล่านั้นไม่ได้อายุเท่าเราเขาอายุเพียงแค่ 20 30 เราต่างหากที่เคยผ่านช่วงอายุนั้นมา เราต้องเป็นคนเข้าใจเข้า ผู้ใหญ่ต่างหากที่ต้องเป็นฝ่ายปรับเข้าหาเด็กใช้สูตรความเข้าใจ 50:50 จำไว้เสมอว่า เราเองก็เคยอยู่ในจุดที่วิ่งหาโอกาส และได้รับโอกาส ในสถานการณ์เดียวกันถ้าเราให้โอกาสเขาเหมือนกับที่เราเคยได้รับโอกาสแค่นี้อาจจะเปลี่ยนชีวิตเขาได้เลยทั้งชีวิต ฉะนั้นพึงให้โอกาสคนที่อยู่รอบตัวเราเสมอ ยิ่งให้ก็เหมือนยิ่งได้หากเราให้โอกาสดีกับเขาเขาก็ทำงานให้เราดี ออฟฟิศเราก็ดี ก็ส่งผลดีด้วยกันทั้งสองฝ่าย และสิ่งที่ตามมาอย่างเห็นได้ชัดคือการการได้รับรางวัลจากงานประกวดแบบต่างๆ จึงเป็นโบนัสเป็นกำลังใจให้กับทีมงานทุกรุ่นทุกคน เป็นการแบ่งปันโอกาสและความสุขร่วมกัน
วันนี้หากใครคิดว่า จูน เซคิโน ประสบความสำเร็จแล้วหล่ะก็ ยังไม่ใช่ เพราะสำหรับพี่จูนคนนี้ไม่มีตัวชี้วัดความสำเร็จที่แน่นอน มีแต่ต้องทำทุกวันของชีวิตให้สำเร็จ...
เมื่อคุณอ่านเรื่องราวของพี่จูน อาจะทำให้คุณตีความหมายเชิงบวกว่าแบบนี้เรียกว่าโคตรจะประสบความเร็จเลย จริงๆแล้วไม่ใช่หรอก แต่เป็นเพราะคุณพลั้งเกิดแรงบันดาลใจในตัวเอง อยากเห็นตัวเองประสบสำเร็จขึ้นมาบ้างแล้ว ส่วนที่เหลือคือ เลือกเส้นทางที่อยากจะประสบความสำเร็จในแบบของเรา แค่นั้นเอง...
"