ต้องเป็นให้มากกว่า...สถาปนิก ยืดหยุ่น ปรับตัว มีทักษะทางสังคม

24 May 2023

“นอกจากวิชาชีพสถาปนิกแล้ว จะทำอย่างไรให้ประสบความสำเร็จในวิชาชีพ การมีความยืดหยุ่น สามารถปรับตัว และมีทักษะทางสังคม จะสามารถเอาชนะตัวเองและ “คงคุณค่า” ต้องเพิ่มทักษะให้กลายเป็นสถาปนิกแบบ Multi Skills ที่ทำได้หลายอย่างและเปิดรับทุกโอกาสให้ตัวเราได้ใช้ความรู้เหล่านั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

 

 

คุณวิชนัน ศุภจรรยา หรือพี่น้ำ ศิษย์เก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ รุ่นที่ 1 มหาวิทยาลัยรังสิต ปัจจุบันทำงานเป็นที่ปรึกษาทางด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และรองผู้อานวยการสถาบันถิ่นฐานไทย (องค์กรเอกชน) ด้านการศึกษาพี่น้ำได้พัฒนาทักษะความรู้ และเพิ่มเติมสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ในอาชีพตั้งแต่เรียนต่อปริญญาโทภาคเคหการ คณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลักสูตรประกาศนียบัตร IOD สาขา Director Certificate Program จากสถาบัน Thai Institute of Director หลักสูตรประกาศนียบัตร RE-CU ด้านอสังหาริมทรัพย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลักสูตร Mini MBA มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง ด้านประเมินราคาทรัพย์สิน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความชำนาญทั่งการบริหาร วางแผนนโยบาย วางกลยุทธ์ และการวางงบประมาณในการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์โดยการนำข้อมูลด้านวิทยาการภูมิสารสนเทศ (Geomatics) มาประยุกต์ใช้ในด้านการศึกษาวิจัยสภาพแวดล้อมและพัฒนาการการตั้งถิ่นฐาน เพื่อนำมาพัฒนาศักยภาพที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 

 

ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ และมีความเชื่อว่านอกจากวิชาชีพสถาปนิกแล้ว เมื่อก้าวเข้าสู่การทำงานจริง นอกจากงานออกแบบแล้ว ยังมีงานที่เกี่ยวข้องที่ทำให้ได้เรียนรู้ไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นงานพัฒนาธุรกิจ งานบริหารอาคาร บริหารยุทธศาสตร์ พัฒนาที่อยู่อาศัย ไปจนถึงงานวางแผนกลยุทธ์การตลาด และการขาย งานด้านการตลาด พัฒนาและวิจัยผลิตภัณท์ ซึ่งพี่น้ำผ่านประสบการณ์การทำงานหลังเรียนจบ โดยเริ่มทำงานบริษัทที่มีชื่อเสียง อาทิ บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จากัด (มหาชน) บริษัท เอ็น ซี เฮ้าส์ซิ่ง จำกัด (มหาชน) บริษัท อารียา พร๊อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) บริษัท ที ซี ซี แคปปิตอลแลนด์ จากัด บริษัท ที ซี ซี แลนด์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด  บริษัท ที ซี ซี แลนด์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) รวมถึงอาจารย์พิเศษด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ให้แก่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ด้วยทักษะมากมายเหล่านั้น เพราะมาจากจุดเริ่มต้นของการเลือกเรียนสาถาปัตย์ ซึ่งพี่น้ำเป็นบุคคลหนึ่งที่เริ่มต้นจากคำว่า “Passion” ที่อยู่ในใจและเติบโตท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่หลากหลายมีความชอบทำกิจกรรม เล่นกีฬา มีความเป็นตัวเอง และอยากออกแบบได้ สำคัญคือไม่จำเป็นว่าเราเรียนสถาปัตย์มาแล้วต้องจบออกมาเป็นสถาปนิก แต่ให้เราคิดว่าเราได้อะไรจากการเรียนสถาปัตย์มาบ้าง และทักษะที่ติดตัวเรามาคืออะไร แล้วเราจะนำมันมาใช้อย่างไร ที่จริงแล้วมีสิ่งที่เราควรรู้เหมือนกันนั่นก็คือ ความขยัน อดทน มีความตั้งใจและให้รู้ตัวเองว่าสิ่งที่ทำอยู่เป็นสิ่งที่เราชอบจริงๆ

 

 

ส่วนความยากง่าย ความสนุก บรรยากาศการเรียนสถาปัตย์ ต้องบอกน้องๆ ก่อนว่าสถาปัตย์เป็นการเรียนรู้งานออกแบบที่ใช้หลายทักษะไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจัดการวางผัง การศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ กฎหมายอาคาร การคำนวณโครงสร้าง ทฤษฎีการออกแบบ และยังมีทักษะการวาดทัศนียภาพบรรยาการรูปลักษณ์ของอาคารที่ออกแบบ เขียนแบบทางสถาปัตย์ ดังนั้นการวาดรูปเป็นเพียงการแสดงภาพสิ่งที่เราออกแบบให้คนอื่นเห็นภาพเข้าใจตรงกันเท่านั้น ไม่ใช่ต้องวาดภาพให้เป็นทุกคน และไม่จำเป็นต้องเรียนจบสายวิทย์-คณิต เท่านั้น ความสนุกของการเรียน คือ การได้ความรู้แบบอัดแน่นจากอาจารย์ที่ทุกคนล้วนเป็นสถาปนิกจริงๆ ได้ศึกษาตัวอย่างงานเพื่อเป็นไอเดียสำหรับการออกแบบอาคารจากงานของสถาปนิกทั้งในและต่างประเทศ แนวคิดการออกแบบ ที่สามารถนำมาพัฒนาแนวคิดของเราเพื่อประยุกต์ใช้กับงานออกแบบของตนเอง ทำให้สามารถแตกแขนงไอเดียการออกแบบได้อย่างไม่จำกัด  สิ่งหนึ่งที่ทำให้ตัวเราเป็นสถาปนิกที่มีสไตล์ในแบบของเราเองได้นั้น เริ่มจากการเลือกสถานที่ฝึกงาน ซึ่งเป็นสถานที่เบิกทางให้เราค้นหาความเป็นไลฟสไตล์ของเราเองได้ ความโชคดีในสมัยที่เรียนนั้น พี่น้ำมีเป้าหมายในสายอาชีพนั่นคือออกแบบอาคารประเภทต่างๆ ให้สวยงาม ทำให้ได้นำความรู้ไปใช้ในบริษัทที่เริ่มต้นฝึกงาน ประสบการณ์จากการได้ลงมือออกแบบ ลงมือทำ ได้พบปะพูดคุยกับผู้มีความรู้มากมาย ทำให้ค้นพบตัวตนว่าเราควรจะเป็นสถาปนิกที่มีความถนัดหรือไลฟสไตล์แบบไหนตรงนี้ทำให้ต่อยอดการทำงานสาขาอื่นที่เกี่ยวข้องได้ดี

 

เมื่อเรียนจบแล้วได้ทำตามความฝัน ทำให้กลับมาคิดย้อนว่าการตัดสินใจเลือกเรียนของพี่น้ำในตอนนั้นตอบโจทย์ตัวเราระดับหนึ่ง ส่วนที่สำคัญคือการต่อยอดต่างหากที่นำพาตัวเราสู่ความเป็นตัวตน พี่น้ำมีโอกาสทำงานทั้งในองค์กรภาครัฐ และภาคเอกชน ซึ่งแน่นอนว่าระบบทั้งสองแบบไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับฝีมือและประสบการณ์ แต่ต้นทุนความสามารถที่ได้มาเต็มเปี่ยม อย่างเช่นความสามารถในการจัดการ การวางแผน การปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ทักษะการพูด การประสานงาน นำมาสู่ความเชี่ยวชาญในตำแหน่งปัจจุบันของพี่น้ำคือการเป็นที่ปรึกษาทางด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และรองผู้อานวยการสถาบันถิ่นฐานไทย (องค์กรเอกชน) เรียกว่าเป็นตำแหน่งที่ผู้ประกอบการโครงการต้องมีเพื่อพัฒนาที่ดิน ทั้งในรูปแบบอาคารชุดหรือที่ดินจัดสรร ดังนั้นความชำนาญในงานพัฒนาโครงการอสังหาฯ เพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จของการพัฒนาโครงการ ความสำคัญของการให้คำปรึกษาและแนะนำต่อผู้ประกอบการโครงการของที่ปรึกษาโครงการ ซึ่งจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจและมีประสบการณ์ในงานดังกล่าวมาเป็นเวลานาน ผลงานของพี่น้ำ สามารถกำหนดหรือจัดทำแผนงานบริหารจัดการพัฒนาโครงการนำเสนอต่อผู้ประกอบการโครงการพิจารณารายละเอียดเพื่อประกอบการตัดสินใจ การจัดทำแผนงานด้านการเงิน แผนงานด้านการขายและการตลาด แผนงานประชาสัมพันธ์ ฯลฯ ที่สอดคล้องกับสถานการณ์หรือภาวะเหตุการณ์ในปัจจุบัน เป็นต้น  เรียกว่า ต้องเป็นให้มากกว่าอาชีพที่เราเรียนมา รวมถึงต้องสามารถยืดหยุ่น ปรับตัว มีทักษะทางสังคม สำหรับการทำงาน ‘ที่ปรึกษาโครงการ’

 

 

ต้นทุนหรือพื้นฐานจากการเรียนสถาปัตย์ที่ ม.รังสิต ที่เชื่อว่าน้องๆ เกือบทุกรุ่นได้รับเหมือนกันนั่นคือ การเป็นนักวางแผน (Planner) เป็นนักเรียนรู้โอกาส (Opportunist) เป็นนักแก้ปัญหา (Problem-Solver) และมีความคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinker) ส่วนทักษะที่จำเป็นที่น้องๆ รุ่นใหม่ที่ควรมีจากประสบการณ์การทำงานทั้งด้านงานออกแบบ และที่ปรึกษาโครงการ ต้องท้กษะทางอารมณ์ หรือ SOFT SKILL เป็นส่วนที่สำคัญ เป็นผู้นำ เป็นศูนย์กลางประสานทุกฝ่าย และทำทุกวิถีทางเพื่อให้งานออกมาดีที่สุด สิ่งเหล่านี้อาจยังไม่ได้พบเจอโดยตรงขณะเรียนในมหาวิทยาลัย แต่เมื่อเรียนจบไปทำงานจริงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้  ดังนั้นความสามารถที่จำเป็นของการประกอบอาชีพการทำงานสถาปัตยกรรม ต้องมีความอดทน ทำงานเป็นทีมได้ดี มีความมั่นใจในตัวเอง มีความเป็นผู้นำในระดับหนึ่ง มีสามารถในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ส่วนทักษะรองที่จะช่วยเสริมให้ต่อยอดความถนัดที่แท้จริง หรือเรียกว่าตัวตนของเรา ได้แก่ ความสามารถในการพูด เจรจา ต่อรอง มีวินัยในการทำงาน และการใช้ชีวิต และมี Work-Life Balance ให้ดี มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี มีความสามารถในการสื่อสาร อธิบายเรื่องยากให้เข้าใจง่าย หากเรามีความเข้าใจและยืดหยุ่นกับอาชีพของเราได้จะทำให้เราประสบความสำเร็จไม่มากก็น้อย สำหรับน้องๆ ที่กำลังตามหาฝันตามหาตัวตน และอาชีพสถาปนิกใช่สำหรับเราหรือไม่นั่น พี่น้ำให้คำแนะนำว่า “ถามใจตัวเองว่า...ถ้าได้คำตอบ ให้ผลักดันตัวเองเพื่อให้ได้ทำตามความฝัน รู้จักขวนขวาย ยิ่งช่วงเรียนได้ทำงานกับเพื่อน ได้พูดคุยกับอาจารย์ ได้ฝึกงานในบริษัทที่เราเลือก ทุกช่วงเวลามีโอกาสซ่อนอยู่เสมอ ตัวเราเองจะเป็นคนนำพาเราไปจุดที่เราต้องการเอง”

 

อย่างไรก็ตาม พี่น้ำเป็นศิษย์เก่าตัวอย่างคนหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าคนที่เรียนสถาปัตย์ จริงๆแล้วสามารถทำงานได้แทบทุกอย่าง เนื่องจากถูกฝึกมาให้ใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ มีความคิดเป็นระบบชัดเจน มีความอดทนในการทำงานหนัก รับแรงกดดันได้มาก มีทักษะในการสื่อสาร การแก้ปัญหา การทำงานเป็นทีม มีทักษะการจัดการ พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ช่างสังเกต ฉะนั้นหากใครที่ได้เข้าไปเรียนแล้ว รู้สึกว่าไม่เหมาะกับตัวเรา หรืออาจจะทำงานออกแบบได้ไม่ดีให้พยายามเรียนรู้เรื่องต่างๆ แล้วหาทางประยุกต์ใช้สิ่งที่เรียนมาในด้านอื่นๆ เพราะมีคนที่เรียนจบสถาปนิกจำนวนมากที่ไม่ได้ทำงานออกแบบแล้วก็ยังสามารถประสบความสำเร็จ ขอให้สนุกกับการใช้ชีวิต จะไขว้คว้าโอกาสดีๆที่เข้ามาเหมือนพี่น้ำ ศิษย์เก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ รุ่นที่ 1

 

"

ผู้จัดทำ

บทความที่คุณอาจสนใจ