“ได้ดีเพราะฝึกงาน” ดิว-กิติกร รอตเจริญ Project Manager บริษัท Miyagawa-Koki

14 Feb 2024

บางครั้งการเลือกสถานที่ฝึกงานอาจเป็นโอกาสในการเตรียมตัวเองเข้าสู่การทำงานจริง และการเลือกสถานที่ฝึกงานอาจเป็นประสบการณ์ที่มีความหมายและหมายถึงอาชีพที่เราจะเริ่มต้นทำหลังจากเรียนจบเรียบร้อยแล้ว บริษัท Miyagawa-Koki ประเทศญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในบริษัทที่ร่วมลงนามความร่วมมือทางด้านวิชาการ กับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ในการจับมือกันนำองค์ความรู้มาผลักดันงานสถาปัตยกรรมระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น รวมถึงส่งเสริมให้นักศึกษาได้มีโอกาสเข้าไปฝึกงานร่วมกับสถาปนิกอาชีพในญี่ปุ่น

 

 

พี่ดิว กิติกร รอตเจริญ ศิษย์เก่า รุ่นที่ 26 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต อดีตนักศึกษาฝึกงาน สู่ตำแหน่งปัจจุบัน Project Manager บริษัท Miyagawa-Koki ดูแลโปรเจ็กต์งานสถาปัตยกรรมโครงสร้างไม้ ประเทศญี่ปุ่น จุดเริ่มต้นของการเข้าทำงานในบริษัทญี่ปุ่นของพี่ดิว ไม่ได้ไกลอย่างที่คิด รู้จักบริษัทระหว่างเรียนอยู่ในคณะ ด้วยหลักสูตรของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านการศึกษาเพื่อการพัฒนาด้านวิชาการ งานวิจัย และการบริหารจัดการองค์ความรู้ร่วมกันกับบริษัทต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อยกระดับมาตรฐานการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ให้สอดคล้องกับวิชาชีพและทันต่อความเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบัน และที่สำคัญคณะมีความมุ่งมั่นส่งเสริมนักศึกษาไทยมีโอกาสทำงานร่วมกับบริษัทชั้นนำในประเทศญี่ปุ่นอยู่แล้ว ดังนั้น บริษัท มิยะกะวะ โคคิ  จำกัด (Miyagawa Koki)  และบริษัท มิยะกะวะ ดาต้า ซัพพอร์ท เซ็นเตอร์ จำกัด (Miyagawa Data Support Center) จึงเป็นหนึ่งในพันธมิตรด้านการศึกษา ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาไทยได้เข้าไปฝึกงาน ทำงาน และเรียนรู้แลกเปลี่ยนงานสถาปัตยกรรมร่วมกัน

 

 

จากปี 1 ถึง ปี 5 เราได้เรียนรู้และทำความเข้าใจการออกแบบ โปรแกรม, การศึกษาเรื่องโครงสร้าง, วัสดุ, การใช้เทคโนโลยีในกระบวนการออกแบบที่เกี่ยวข้องการงานสถาปัตยกรรม ความเข้มข้นและบรรยากาศการเรียนในส่วนเนื้อหาแต่ละชั้นปีมีความยากง่ายแตกต่างกันไป ซึ่งได้เรียนรู้ทั้งจากอาจารย์ วิทยากร รวมถึงจากเพื่อน ๆ ส่วนตัวสิ่งที่ได้จากการเรียน คือ ทำให้ตัวเราเป็นสถาปนิกที่เป็นตัวของตัวเอง มีคาแรกเตอร์ทั้งในฐานะของนักออกแบบ นักวางแผน ที่เราสามารถพัฒนาทักษะวิชาชีพของเราให้ไปในทางที่หลากหลายตามความสนใจและความชำนาญที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์จากการเรียน การเลือกฝึกงาน และนำไปสู่การทำงานที่เราสามารถเลือกเองได้ และที่สำคัญการเรียนสถาปัตยกรรมเป็นการตั้งคำถามและค้นคว้าทางสถาปัตยกรรมที่มีความคิดสร้างสรรค์ เราสามารถเลือกทำความเข้าใจในวัฒนธรรม สไตล์ หรือแนวคิดที่ต้องการศึกษาเพิ่มเติมนอกเหนือจากหลักสูตร หรือกการเรียนในห้อง ได้ทำงานร่วมกับอาจารย์ เพื่อนๆ ร่วมสัมมนา จัดนิทรรศการผลงานร่วมกัน ยิ่งเป็นการสร้างเครือข่าย ได้ค้นหาโอกาสในการทำงานกับโปรเจกต์จริง ส่วนตัวเมื่อเลือกฝึกงานในบริษัทญี่ปุ่น สิ่งที่จำเป็นที่สุดคือต้องฝึกฝนทักษะภาษา โดยเฉพาะภาษาญี่ปุ่น เพื่อสื่อสารระหว่างการทำงานร่วมกับสถาปนิกที่เป็นชาวญี่ปุ่น ต้อง ฝึกฝนทักษะการเขียนและการพูดค่อนข้างเยอะ ซึ่งต้องมีความอดทนและความพยายามค่อนข้างสูง แต่ด้วยบรรยากาศการฝึกงานด้วยเนื้อหาและรูปแบบของงานที่มีความท้าทายกับตัวเราและรู้สึกว่าชอบสามารถผ่านไปได้ด้วยดี หลังจากเรียนจบจึงได้เข้าทำงานที่บริษัทนี้ในฐานะ Project Manager มีบทบาทที่สำคัญในการบริหารจัดการโครงการที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบและก่อสร้างสถาปัตยกรรมโครงสร้างไม้ โดยมีลักษณะงานและบทบาทที่เฉพาะเจาะจงในงานออกแบบโปรเจกต์สถาปัตยกรรมของบริษัท ที่ผ่านมาได้ทำงานในโปรเจกต์ต่าง ๆ และสำเร็จตามขอบเขตของโครงการไม่มีปัญหาใด ๆ ส่วนทักษะด้านภาษาญี่ปุ่นยังพัฒนาไปเรื่อย ๆ ซึ่งเรียกว่าเราเป็นคนไทยคนหนึ่งที่สามารถทำงานในบริษัทต่างชาติได้ไม่แพ้ใคร

 

 

สำหรับการทำงานอาชีพทางด้านสถาปัตยกรรมที่อยากส่งต่อให้กับรุ่นน้อง “นอกจากความรู้ทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรมและออกแบบ ต้องพัฒนาทักษะวิชาชีพที่จะทำให้สามารถทำงานร่วมกับทีมได้อย่างเต็มที่ คือ ทักษะการเป็นผู้นำ ทักษะการสื่อสาร ทักษะการประสานงาน ทักษะการบริหารเวลา ทักษะการวางแผนทักษะการแก้ไขปัญหา และที่สำคัญทักษะการเรียนรู้ ที่ต้องรับมือได้กับความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์และแนวโน้มใหม่ในวงการสถาปัตยกรรม” ทั้งหมดนี้เราสามารถหาในช่วงที่เรียน ฝึกงาน ส่วนการที่เราจะได้ทำงานบริษัทในหรือต่างประเทศ ขึ้นอยู่กับตัวเราว่าเราจะนำพาตัวเองเข้าไปอยู่ในโอกาสเหล่านั้นหรือไม่ สำหรับพี่ดิว เลือกที่จะนำพาตัวเองไปอยู่ในสถานที่ บรรยากาศ และการทำงาน แบบบริษัท Miyagawa-Koki และทำให้ต่อยอดมาสู่อาชีพปัจจุบันได้นั่นเอง

 

"

ผู้จัดทำ

บทความที่คุณอาจสนใจ