คุยหลังเลนส์ กับ “ทวีพงษ์ ประทุมวงษ์” ช่างภาพสตรีทไทยในเวทีระดับโลก

15 Nov 2019

”365 days in 2014” ของกลุ่ม Street Photo Thailand คือจุดเริ่มต้นของผมในการใช้เวลาว่างทุกวันของชีวิต ออกไปเก็บภาพแนว Street Photo โดยไม่มีวันหยุดตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา...

     นี่คือจุดเริ่มต้นการเดินทางเพื่อบันทึกภาพมุมมองต่างๆ ผ่านกล้องคู่ใจของช่างภาพสตรีทที่มีชื่อเสียงของเมืองไทย และยังเป็นเป็นช่างภาพแนวสตรีทโฟโต้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดระดับนานาชาติมาแล้วในหลายสถาบัน ซึ่งภาพของเขาถูกจัดแสดงทั้งในเอเชีย อเมริกาเหนือ และยุโรป พร้อมหรือยังที่จะเดินทางและกดชัตเตอร์ไปพร้อมกับเขา “ทวีพงษ์ ประทุมวงษ์”

     “ย้อนเวลากลับไปช่วงเรียนมหา’ลัย  ผมตัดสินใจเลือกเรียนทางด้านภาพยนตร์ เพราะเป็นคนชอบดูหนัง และหลักสูตรนี้ที่มีเครื่องมือ อุปกรณ์ที่ใช้ในการฝึกปฏิบัตที่ทันสมัย การที่เราได้เริ่มทำอะไรจากสิ่งที่เรารัก เรามักจะตั้งใจและทำออกมาได้ดี ผมเริ่มมาได้จับกล้องถ่ายรูปครั้งแรกก็ตอนเรียนสาขาภาพยนตร์ ม.รังสิต ซึ่งมันจะมีวิชาภาพนิ่งด้วย ก็ซื้อกล้องฟิล์มมาใช้เรียน ได้หัดถ่ายภาพ ล้างฟิล์มเอง เลยลองถ่ายภาพสไตล์นิตยสาร National Geographic คือใน National Geographic ส่วนมากมันก็จะมีเรื่องของธรรมชาติ สัตว์ป่า ท้องทะเล แล้วก็เรื่องของคนในวัฒนธรรมต่างๆ รู้สึกตอนนั้นจะอินกับเรื่องราวของผู้คน เลยชอบถ่ายภาพคน ถ่ายวิถีชีวิตของผู้คนมาตั้งแต่ตอนนั้น โดยตอนนั้นก็ยังไม่รู้นะว่า street photography มันคืออะไร ในส่วนของการทำหนังซึ่งก่อนจบการศึกษามีโอกาสได้ทำโปรเจกต์หนังต้นแบบเรื่อง A Little Dad และได้รับรางวัลช้างเผือกของมูลนิธิหนังไทย ส่วนโปรเจกต์จบนั้นทำเกี่ยวกับการ์ตูนแอนิเมชั่น เรียกว่าการเรียนภาพยนตร์ ม.รังสิต ให้ทักษะความรู้เราไปต่อยอดในหลายด้าน ทั้งการทำหนังและการถ่ายภาพ”

     “มันมีสิ่งหนึ่งที่เรานำความรู้มาใช้ในการถ่ายภาพจนถึงปัจจุบัน คือ Mise-en-scène (มิส-ซ็อง-แซน) เป็นเทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพ ที่ภาพๆ หนึ่งสามารถสื่อความหมายได้ด้วยการจัดองค์ประกอบภาพ การวางน้ำหนักในเฟรม การหาบางอย่างมาเป็น Symbolic สิ่งนี้มันคือศิลปะ และเราก็ใช้คำนี้มาโดยตลอดแม้กระทั่งตอนนี้ ถึงแม้เราได้ทำหนังแล้ว แต่การเป็นช่างภาพสตรีท ภาพของเรามันก็คือการจัดองค์ประกอบภาพเพื่อสื่อความหมายอยู่ดี”

     หลังจบการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ทวีพงษ์ ได้ทำตามความฝันนั่นก็คือออกเดินทางถ่ายภาพสารคดีโดยเขามีผลงานตีพิมพ์ในนิตยสาร National Geographic ฉบับภาษาไทย และได้เปิดบริษัทของตัวเอง

     “ด้วยความที่ต้องทุ่มเทให้กับบริษัทที่เปิด ทำให้ช่วงนั้นมีโอกาสได้ถ่ายรูปน้อยลงและเริ่มหันเหไปสนใจในเรื่องของอุปกรณ์กล้องมากกว่าถ่ายภาพ จนเกือบจะหยุดและหันหลังให้การถ่ายภาพไปแล้ว กระทั่งปลายปี 2013 ภรรยาของผมได้มอบของขวัญวันครบรอบแต่งงาน เป็นตั๋วเครื่องบินพร้อมที่พักไปยังเมืองพาราณสี ประเทศอินเดีย ซึ่งตั๋วเครื่องบินใบนั้นคือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ผมมีโอกาสได้กลับมากดชัตเตอร์ถ่ายรูปอีกครั้ง”

     ทริปพาราณสีครั้งนั้นทำให้ได้ภาพชุดอีกหนึ่งชุดกลับมา ขณะเดียวกันช่วงนั้น กลุ่ม Street Photo Thailand ทำโปรเจกต์ ”365 days in 2014” ออกมา และมีคนชวนมาทำโปรเจกต์นี้ด้วยกัน

     “สำหรับโปรเจกต์นี้เพจ Street Photo Thailand ทำกิจกรรม 365 days in 2014 กติกาคือถ่ายภาพทุกวัน แล้วเลือกหนึ่งภาพมาโพสต์ในเพจ ซึ่งก็ตรงกับความตั้งใจของผมอยู่แล้วเริ่มออกไปถ่ายภาพมาร่วมกิจกรรมดู แล้วก็ทำต่อไปเรื่อยๆ ช่วงแรกมีคนร่วม 50-60 คน ทำไปเรื่อยๆ ก็ค่อยๆ หายไป เพราะต้องถ่ายภาพทุกวัน และต้อง โพสภาพให้ทันก่อนเที่ยงคืน ความเป็นจริงก็คือการถ่ายภาพทุกๆ วันมันยากขึ้นเรื่อยๆ มุมนี้ก็เคยถ่ายไปแล้ว มุกนี้ก็เล่นไปแล้ว แล้วพอถ่ายไปสักพักงานของเราอยู่ตัว สำหรับผมนี่เป็นการเอาตัวรอดในแต่ละวันก็ว่าได้ ซึ่งความสนุกของกิจกรรมนี้ก็คือ การลุ้นว่าภาพที่เราถ่ายจะได้ปัก pin โดยแอดมิน ซึ่งภาพที่ pin จะถูกนำไปรวมเล่มเป็น  e-book รายเดือนของทางเพจ และเวลาที่ได้เห็นภาพตัวเองถูกจัดเรียง ถึงจะเป็นแค่ e-book แต่ฟีลลิ่งมันใช่มากๆ และสุดท้ายครบ 1 ปีกับการถ่ายภาพสตรีททุกวัน นับว่าเป็นปีที่เปลี่ยนชีวิตเลย โดยผลงาน 2 ภาพในปีนั้นได้รับรางวัลที่เยอรมัน และอีกรูปได้รางวัลชนะเลิศที่ Miami เป็นการแข่งขันประจำปีของภาพสตรีทที่ทุกคนรอ”

      จากการเดินทางถ่ายภาพอย่างจริงจังนี้เอง ทำให้ทวีพงษ์คว้ารางวัลชนะเลิศจากการถ่ายภาพสตรีทในระดับนานาชาติหลายรางวัล อาทิ 

     - รางวัลชนะเลิศจากการประกวด Miami Street Photography Festival 2014

     - รางวัลชนะเลิศจากการประกวด EyeEm Awards 2014 ในหมวด Street Photography

     - รางวัลชนะเลิศ จากการประกวด Street Shooting Around the World 2015 โดย The Los Angeles Center of Photography (LACP)

     นอกจากนี้ ยังได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 20 ช่างภาพสตรีทที่ทรงอิทธิพลที่สุดในปี 2015 จากเวบไซส์ Streethunter.net อีกด้วย

วิธีคิดการมองภาพ และการสร้าง Passion ในการถ่ายภาพสตรีท

     “การถ่ายภาพสตรีทต่างจากการถ่ายภาพประเภทอื่นตรงที่ การที่เราออกไปถ่ายภาพโดยไม่รู้ว่าจะได้รูปอะไรกลับมาในวันนั้น มันคือการออกไปเดินเล่นข้างนอกบนพื้นที่สาธารณะ กับความสนใจในอะไรบ้างอย่าง แล้วเราก็แปรมันด้วยมุมมองของเรา เปลี่ยนให้ภาพธรรมดาๆ ภาพหนึ่ง กลายเป็นภาพที่มีมุมมองของเรา ไม่ว่าจะเป็นการจัดองค์ประกอบภาพ ทำให้บางภาพที่ดูธรรมดาเป็นภาพที่เหนือจริงขึ้นมา เป็นการเปลี่ยน perspective ที่ธรรมดาไม่ให้ธรรมดา”

     การที่เราออกไปถ่ายภาพในแต่ละวัน มันจะมีวันที่เรียกว่า Bad Day หรือ Good Day คุณอาจจะไม่มีทางที่จะได้ภาพดีๆ ในทุกวันก็ได้ เอาเข้าจริงช่างภาพแนว street photography จะถ่ายเสียเยอะมาก อย่างที่ Alex Webb ได้บอกไว้ว่า “99 เปอร์เซ็นต์ของการถ่ายภาพสตรีทคือความล้มเหลว และจะมี 1% ที่เป็นรูปที่ดี” ช่างภาพบางคนถ่ายซีนหนึ่งเยอะมาก หลายสิบภาพ เพื่อเลือกภาพที่ดีที่สุดมาแค่ภาพเดียว บางคนอาจจะคิดว่าถ่ายแชะเดียวเลย ตัดสินใจดีๆ จังหวะดีๆ ก็พอ แต่ที่จริงแล้วคุณไม่จำเป็นต้องกดชัตเตอร์แค่ครั้งเดียวก็ได้ ถ่ายไปจนกระทั่งในซีนนั้นไม่มีอะไรให้ถ่ายค่อยหยุด น่าจะเป็นการดีที่สุด

    “มีบ่อยมากที่ออกไปแล้วไม่ได้รูป แต่อย่างน้อยก็ทำให้เราได้ฝึกมอง ผมชอบอยู่คำหนึ่งคือ คุณจะพลาด 100% ถ้าคุณไม่ทดลองถ่ายมัน นั่นหมายความว่าถ้าคุณไม่ออกไปถ่ายรูป คุณก็จะไม่ได้รูป หรือถ้าคุณไม่ได้ยกกล้องขึ้นมาคุณก็จะไม่มีโอกาสได้รูปนั้นเลย บางทีที่คุณยกกล้องขึ้นมา คุณก็ได้ทดลองถ่ายนิดหน่อย โมเมนท์มันจะเกิดทีเดียวแก้กเดียวก็ได้ ...”

     ภาพ “headless dog” ใครจะไปคิดว่าจะถ่ายหมาทำท่านี้ ณ ตอนนั้น ผมแค่คิดว่าฉากมันดูเรียงๆ กันเป็นกราฟิกสวยดี แค่อยากจะถ่ายเล่นๆ ก็เลยเล็งๆ เพื่อจะกดชัตเตอร์ กลับกลายเป็นว่าได้จังหวะที่มันหันไปเลียอะไรสักอย่างพอดี จังหวะแค่เสี้ยววินาทีที่หมาหันหัวไป เสี้ยววินาทีนั้นผมก็ได้ภาพที่เหมือนกับหมาไม่มีหัว คล้ายๆ หมาหัวขาด ซึ่งภาพนี้ก็ทำให้ได้รับรางวัลด้วย

ผลงานภาพถ่ายที่ชอบ

     “ผมจะชอบภาพที่ฟลุ้คที่สุด เป็นรูปเด็กเหมือนอยู่บนพรมที่บินได้ คือน้องคู่นี้เค้าเล่นผ้าห่มกันอยู่ เราก็ไปถ่าย เค้ารู้ตัวว่าเรากำลังถ่าย ก็เลยวิ่งหนี ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไรเลยว่าจะได้รูปอะไรมา กดถ่ายไปแบบรัวๆ ไม่ได้ดูรูป ประมาณครึ่งชั่วโมง พอกลับมาดูอีกทีปรากฎว่าเราได้รูปที่ชอบมาก มันเหมือนน้องเค้าวิ่งแล้วผ้าเป็นสามเหลี่ยมลอยมา แล้วขาน้องหายไป เป็นโมเมนท์ที่เราไม่คาดว่าจะได้รูป ความคลาสิกคือตอนทำหนังสือ Photo Book ผมก็เลือกรูปนี้เป็นรูปปก”

องค์ประกอบที่ดีของภาพแนวสตรีท

     “ผมว่าภาพที่ดีขึ้นอยู่กับมุมมองของช่างภาพด้วย องค์ประกอบแต่ละคนอาจจะชอบไม่เหมือนกัน มันไม่ได้ตายตัว ก็เหมือนกับศิลปะ ไม่มีผิดไม่ถูก อยู่ที่ว่ามีคนหนึ่งชอบและอีกหลายคนจะชอบด้วยมั้ย แต่หากพูดถึงองค์ประกอบที่ดีจริงๆ คือต้อง Touch คนดู สามารถสื่อสารบางอย่างกับคนดูได้ มีความใหม่ มีอินโนเวชั่น เป็นสิ่งที่เค้าไม่เคยเห็นมาก่อน ผมเองจะพยายามคัดรูปที่มีคนถ่ายแล้วออก และเก็บชิ้นที่ใหม่จริงๆ ซึ่งเรามองว่าตรงนี้เป็นการสร้างผลงานที่เฟรซ ซึ่งองค์ประกอบหลักของของภาพแนวสตรีท คือ การเป็นภาพถ่ายที่ไม่จัดฉาก เป็นภาพที่ถ่ายในที่สาธารณะ และเป็นภาพที่มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถตีความได้ หรืออย่างน้อยต้องผ่านกระบวนการจัดองค์ประกอบภาพที่น่าสนใจ”

     สำหรับแพลนในอนาคตคิดว่ายังมีอีกหลายโปรเจกต์ที่สามารถทำเป็น Photo Book ได้อีก โดยมองว่ายังขายได้ถ้าเรามีจุดขายที่ชัดเจน ภาพสตรีทโฟโต้บุค ที่พิมพ์ครั้งแรก 1,000 เล่ม ก็สามารถขายหมดภายในระยะเวลาสองเดือน เมื่อเทียบกับยุคที่คนไม่ค่อยซื้อหนังสือก็ถือว่าดี นอกจากนี้ ยังมีโปรเจกต์ที่สามารถนำมาร้อยเรียงเป็นเรื่องอื่นได้ และอยากทำซีรีส์เป็นงานโปรเจกต์สตรีทที่เราแสดงความอึดอัดใจในสังคมทุกวันนี้ เช่น ปัญหการเมือง ก็น่าจะทำได้ จัดฉากแบบบ้าบอไปเลย (หัวเราะ) ยังไงติดตามผลงานกันได้

สามารถชมผลงานของ “ทวีพงษ์ ประทุมวงษ์” ได้ที่ www.tavepong.com, www.flickr.com/photos/tavepong/ หรือ www.instagram.com/tavepong_street/

"

ผู้จัดทำ

บทความที่คุณอาจสนใจ