เราขอพาผู้อ่านนึกไปถึงภาพของงานที่หลายคนคงจะเคยไปกันสักครั้งในชีวิต เริ่มจากภาพในคืนวันที่ 31 ธันวาคมของทุกปี ตามสถานที่สำคัญของเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก ก็จะมีการเตรียมความพร้อมจัดงาน “เทศกาลเคาท์ดาวน์” เพื่อส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ เช่นเดียวกับเมืองไทย สถานที่ที่เป็นภาพจำก็หนีไม่พ้น Central World ที่เต็มไปด้วยแสงสี เสียงเพลง แต่คงไม่ใช่แค่เพียงงานเคาท์ดาวน์ บรรดางานจัดแสดงสินค้า, world expo, งานแฟร์ต่างๆ ไปจนถึงเทศกาลงานวิ่ง KILORUN BANGKOK หรือแม้กระทั่งงานอุ่นไอรัก คลายความหนาว ก็น่าจะเป็นหนึ่งลิสต์ของบางคนเช่นเดียวกัน

และงานทั้งหมดที่ได้กล่าวไปข้างต้นนั้น เป็นส่วนหนึ่งจากผลการทำงานของ ปิ๋ง-ปรีชญา บัวเอี่ยม Assistant Project Manager บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) ศิษย์เก่าวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้หญิงที่เชื่อว่า ความสำเร็จคือประสบการณ์ที่สะสมในทุกๆ วัน และการเข้าใจในงานของตัวเอง ก็จะทำให้สามารถทำงานทุกๆ ชิ้นออกมาได้ดี ที่สำคัญตอนนี้เธอยังมองงานเป็นความสุขและพร้อมจะกระโจนเข้าสู่อนาคตกับโจทย์ใหม่ๆ ที่ท้าทายเธอในทุกย่างก้าว

ย้อนกลับไปปี 2547 ปิ๋ง-ปรีชญา บัวเอี่ยม ได้เข้าศึกษาในสาขาวารสารศาสตร์ วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เธอเป็นเด็กเรียนดีคนหนึ่ง ขณะเดียวกันก็เข้าร่วมกิจกรรมของทางคณะด้วย และสำหรับเธอ ม.รังสิตเปรียบเสมือนห้องเรียนที่สอนให้ได้ออกไปเผชิญโลกกว้าง จนทำให้เธอพบเส้นทางชีวิตการทำงานมาจนถึงทุกวันนี้
“ตอนที่เรียนก็ได้เรียนเกี่ยวกับงานข่าวทั้งหมด สำหรับ ม. รังสิตที่เราจำได้คือ ที่นี่ไม่ได้สอนให้อยู่แต่ในห้องเรียน แต่สอนให้เราออกไปปฏิบัติจริง ทำข่าวจริง ก็เลยทำให้การเรียนรู้ของเราเปิดกว้างมากขึ้น และสามารถมาจับใช้ในการทำงานจริงได้ดี คือเราได้อะไรจากการฝึกงานเยอะมากๆ ตอนนั้นจะมีฝึกงานที่อยู่ในคอร์สการเรียน ก็ได้ไปฝึกหนังสือพิมพ์มติชน และมีฝึกข้างนอก ตอนนั้นไปฝึกงานกับคุณแม่ ได้มีโอกาสทำงานอีเว้นท์ต่างๆ และงานพระราชพิธี รวมไปถึงกีฬาซีเกมส์ที่ไปทำที่โคราช ซึ่งประสบการณ์เหล่านี้ทำให้เรารู้จักตัวเองว่า นี่คือสิ่งที่เราทำได้ พอจบมาก็เลยสมัครงานที่บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ”

หลังจบจากมหาวิทยาลัยรังสิต ปรีชญา บัวเอี่ยม เข้าทำงานที่บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) ทันที โดยมีหน้าที่ดูแลประสานงานอีเว้นท์ เติบโตในหน้าที่การทำงานมาเรื่อยๆ จวบจนปัจจุบันมีตำแหน่งเป็น Assistant Project Manager และล่าสุดได้รับโอกาสดูแลงาน world expo 2020 ที่ดูไบในปีหน้า


“ตอนทำงานที่นี่ครั้งแรก เริ่มต้นจากตำแหน่ง account executive ดูแลลูกค้าต่างๆ ดูแลการการขาย ดูภาพรวมว่าเราต้องประสานการทำงานทีมต่างๆ ข้างในบ้านกับทีมลูกค้า ถ้าถามถึงโปรเจคแรกๆ ของเราคือ 116 วัน จากวันแม่ถึงวันพ่อสร้างสามัคคี ที่ได้รับโจทย์มาว่าทำอย่างไรให้คนไทยกลับมารักและสามัคคีกัน เลยระดมความคิดกันในบริษัทเป็นแคมเปญดังกล่าว นอกจากนั้นก็มีหลายอีเว้นท์ที่ได้ส่วนหนึ่งในงาน เช่น งานอุ่นไอรัก คลายความหนาว งานเคาท์ดาวน์ และล่าสุดงานเปิดตัว ICONSIAM แล้วก็มี world expo ที่กำลังอยู่ในปัจจุบัน”


“จริงๆ ทุกชิ้นงานของเราในวันนี้ ก็พูดได้ว่าได้ประยุกต์มาจากตอนเรียนที่ ม.รังสิต เหมือนกัน โดยเฉพาะการที่ทางมหาวิทยาลัยให้ออกฝึกปฏิบัติจริง เมื่อเราปฏิบัติจริง เรารู้เลยว่าโลกนั้นกว้าง เราต้องซึมซับข้อมูลทุกอย่าง เพื่อทำตัวเองให้เป็นเหมือนฟองน้ำ เพื่อนำความรู้นั้นมากระจายและปรับใช้ ทำให้เรารู้ว่าทฤษฎีก็บอกได้แค่ส่วนหนึ่ง แต่การได้ออกไปเจอผู้คน หรือนำสิ่งเล็กๆ น้อยที่เราเจอในชีวิตประจำวัน อ่านเจอ พบเห็น เอามาใช้ทำงานได้หมด การทำงานอีเว้นท์สำหรับเรามันมีแง่ดี เพราะค่อนข้างหลากหลาย โจทย์แต่ละโจทย์ไม่เหมือนกัน เราก็เอาความรู้นี้มาใส่ลิ้นชักเก็บไว้เรื่อยๆ แล้ววันหนึ่งเราก็สามารถดึงออกมาใช้ได้ อย่างเวลาเราประชุมกัน เราก็จะได้มีความรู้ที่สะสมไว้ว่าอันนี้น่าจะเหมาะ ก็สามารถช่วยคิดช่วยแชร์ทีมได้ว่าลองทำสิ่งนี้ดูสิ อะไรแบบนี้”

กว่า 10 ปีในการทำงานที่นี่ ปรีชญายอมรับว่า ต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา ในที่นี้หมายถึงปรับตัว เพื่อที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ หน้าที่รับผิดชอบที่ใหญ่ขึ้น และแน่นอนการทำงานเหมือนกับทุกคนที่ย่อมเจอปัญหาและอุปสรรคให้คอยแก้ โดยเฉพาะอุปสรรคเรื่องการประสานงาน
“แม้จะทำงานอยู่ที่เดียวตั้งแต่จบ แต่เรามองว่าทุกวันนี้ยังได้รับความรู้ใหม่ๆ คอนเทนต์ใหม่ๆ เพราะในส่วนงานอีเว้นท์แต่ละงานมีข้อมูลแตกต่างกัน ทำให้เราได้กระตุ้นตัวเองตลอดเวลาในสิ่งที่เราอยากรู้ เราอยากเป็น เราคาดหวัง แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่เจอปัญหาใดๆ เลย อุปสรรคของเราคือการประสานงานกับทุกคนให้เห็นเป็นภาพเดียวกัน จนเกิดเป็นงานที่ลุล่วง ตัวงานของเราเริ่มจากความคาดหวังของลูกค้าที่เขาให้โจทย์มา ซึ่งเราเป็นคนรับสาร ทีมอาจไม่ได้ไปด้วย เราต้องเอาโจทย์พวกนั้นมาแปลออกให้พวกเขารับรู้ว่างานที่ลูกค้าต้องการเป็นประมาณไหน หัวใจสำคัญของการทำงานในสายงานนี้คือ เราต้องทำงานออกมาให้ได้ตามที่ลูกค้าคาดหวังไว้ ขณะเดียวกันต้องเหลือความคาดหวังไว้ให้มาก สมมุติโจทย์คือลูกค้าอยากได้งานเปิดตัว ใครก็ทำได้ แต่เราต้องแปลสาร ช่วยกันใส่ไอเดียในทีมให้เป็นอีเว้นท์ที่ไม่เหมือนใคร จริงๆ การทำงานอีเว้นท์มันคือการฉุกคิดและช่วยกันเอ๊ะ อันนี้ไม่ถูก อันนี้เราจะแก้ปัญหากันอย่างไร ไม่ใช่แค่เรามีหน้าทีอะไร ก็จะทำแต่หน้าที่นั้นอย่างเดียว แต่ทุกปัญหามันคือการร่วมมือร่วมใจกัน”

จากการทุ่มเทในสายงาน จนเกิดเป็นความสำเร็จบนเส้นทางนี้ ปรีชญายืนยันว่าต้องหมั่นหาความรู้ใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นจากการดูหรือการอ่าน ไปถึงการแชร์ไอเดียกับผู้คน และที่สำคัญคติในการทำงานของเธอคือ “การทำงานที่จะประสบความสำเร็จ สำหรับเรา จริงๆ คือต้องอย่าพูดคำว่าไม่ก่อน ลองพยายามก่อน สิ่งที่ได้รับโจทย์มา ได้พยายามหรือยังว่ามันทำได้จริงหรือทำไม่ได้จริง ถ้าโอเคทำไม่ได้ ไม่ใช่ว่าทำไมได้ขนาดนั้นเสมอไป เราต้องพยายามหาตัวเลือกอื่นๆ ให้ทางลูกค้าเลือกจนวินาทีสุดท้าย คือเราควรพยายามก่อนว่า โอเคอันนี้ไม่ได้จริง เรามีตัวเลือก 1 2 3 4ให้ แล้วบอกกับลูกค้าไปตรงๆ สิ่งที่ลูกค้าต้องการมันคือความเชื่อมั่น เชื่อใจในตัวเรา”

แม้จะจบบทสัมภาษณ์ในย่อสุดท้ายนี้แล้ว แต่ทางเดินของ ปิ๋ง-ปรีชญา บัวเอี่ยม ศิษย์เก่าคณะนิเทศศาสตร์คนนี้ยังไม่หยุด เธอยังคงก้าวเดินสู่เป้าหมายในอนาคต เพื่อกอบโกยประสบการณ์มาแปรเปลี่ยนให้เป็นความสำเร็จในชิ้นงานต่อๆ ไป
“เป้าหมายของเรา ก็คงยังทำงานในสายงานนี้ไปเรื่อยๆ และนำความรู้ที่ได้มาระหว่างทางค่อยๆ เพิ่มพูน คหาประสบการณ์เพิ่มไป เพิ่มเลเวลตัวเองขึ้น ชาเล้นจ์มากขึ้น ว่าวันข้างหน้าเราจะไม่ได้เป็นแค่ AE เราจะไม่ทำแค่หน้าที่เดียวเสมอไป เราอาจไปช่วยทำหน้าที่อื่นได้ ทุกวันนี้ความสุขของการทำงานคือ เมื่องานจบแล้วลูกค้ามาหาเรา และพูดว่าขอบคุณมากเลยนะ งานออกมาดีมาก หรือระหว่างอาจมีความเห็นไม่ตรงกันกับเพื่อนร่วมงานบ้าง แต่เมื่องานจบแล้วพูดคุยกันได้เหมือนเดิม นี่คือความสุขการทำงานตลอด 10 ปี”
"