ความฝันในวัยเรียน สู่ความสำเร็จในปัจจุบัน ของ ภัทรา ชวนชม

07 May 2019

     

     แม้ในทุกวันนี้เทคโนโลยีจะก้าวไปเร็ว ถึงขั้นว่า มองไปทางไหนก็เห็นแต่ผู้คนก้มหน้าจ้องโทรศัพท์มือถือ แต่รู้ไหมว่า อาชีพ “นักข่าว” เองก็ผลักตัวเองให้วิ่งเร็วไม่แพ้เทคโนโลยีและผู้คนเช่นกัน
     จากความชอบอ่านนิตยสาร สู่การเลือกเรียนสาขาวารสารศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ ที่ปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นสาขาวิชาคอนเทนต์และสื่อดิจิทัล วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต “ภัทรา ชวนชม” หรือ “ป่าน” ผู้สื่อข่าว กลุ่มบริหารข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส หรือ Thai PBS สถานีโทรทัศน์ที่มีชื่อเสียงลำดับต้นๆ ของประเทศไทย หนึ่งในศิษย์เก่า ผู้ผ่านการฝึกฝนลับคมฝีมือการเป็นนักข่าวมือฉมังมาจากสถาบันศึกษาแห่งนี้

     อยากรู้ไหมว่า กว่าเธอจะเดินทางมาถึงฝันนี้ เธอต้องพัฒนาตัวเองขนาดไหน เรามาทำความรู้จักกับผู้สื่อข่าวที่ยึดอาชีพนี้มากว่า 8 ปี คนนี้ไปพร้อมๆ กัน


     แม้จะจบจากบ้านวารสารมานานหลายปีแล้ว แต่ป่านก็ยังจำได้เป็นอย่างดี ในฐานะของคนที่รักการอ่านการเขียน ไม่มีอะไรตอบโจทย์มากไปกว่าการเลือกเรียนในสิ่งที่ชอบ จากความชอบ ทำให้ป่านมีความสนใจที่จะเรียนรู้มากขึ้น โดยเฉพาะเกี่ยวกับงานด้านข่าว กระทั่งได้มีโอกาสฝึกงาน ป่านก็ไม่พลาดที่จะเลือกฝึกงานในสายนักข่าว โดยป่านได้เลือกที่สถานีโทรทัศน์ทีวีไทย ซึ่งก็คือ ไทยพีบีเอส ในปัจจุบัน และเลือกฝึกงานสายข่าวการเมือง
     “ตอนนั้นเป็นช่วงปี 53 ที่มีการชุมนุม นปช. พอดี ประกอบกับได้ฝึกเขียนข่าวการเมืองด้วย เลยทำให้รู้สึกว่าข่าวการเมืองเป็นข่าวที่สนุก เพราะการเมืองนั้นมีความเกี่ยวข้องในหลายๆ มิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม หรืออาจเรียกได้ว่าเกี่ยวข้องกับทุกๆ อย่าง เพราะว่านโยบายจากการเมืองมันมีผลต่อหลายๆ เรื่องของประเทศ พอจบปีสี่ เลยตัดสินใจว่างานที่เราจะทำก็คืองานข่าว ก็เลยสมัครเป็นนักข่าว สมัครไปหลายๆ ที่ สุดท้ายได้ที่ สำนักข่าว INN เป็นงานข่าววิทยุ ได้งานในตำแหน่งผู้สื่อข่าวการเมือง ต้องมีการเขียนข่าววิทยุ อ่านข่าววิทยุ มีการเปิดหน้าในลักษณะรายงานสด ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่ใหม่ แม้ว่าตอนที่เรียนอยู่ เป็นวารสารสิ่งพิมพ์ แต่ก็สามารถนำสิ่งที่เรียนอยู่มาใช้ได้ อย่างเช่นการเขียนข่าว การจับประเด็น สิ่งพื้นฐานต่างๆ ที่ได้เรียนมา ได้เอามาใช้กับการทำงานจริงๆ”



     แม้ว่าการฝึกงานที่ผ่านมาจะทำให้เราสนุกและเรียนรู้ได้มากขนาดไหน เมื่อความชีวิตจริงของการทำงานมาถึง กลับไม่เป็นเหมือนอย่างที่คาดเอาไว้ เหล่าบรรดานักศึกษาจบใหม่ต่างก็คงเข้าใจสถานการณ์นี้เป็นอย่างดี “ในช่วงการฝึกงานกับการทำงานจริงๆ มันไม่เหมือนกันเลย การเป็นนักข่าวมันมีความกดดัน เราต้องทำการบ้าน โดยเฉพาะการเป็นนักข่าวสายการเมือง คือต้องอ่านหนังสือพิมพ์เยอะมาก บรรณาธิการข่าวขณะนั้นจะคอยบอกให้อ่านหนังสือพิมพ์อย่างน้อยวันละ 8 ฉบับ เพราะถ้าเราไม่อ่าน ก็จะตกข่าว เราก็จะไม่รู้ว่าต้องเอาประเด็นอะไรไปสัมภาษณ์แหล่งข่าว หรือว่าแหล่งข่าวให้สัมภาษณ์ประเด็นนี้มันหมายความว่าอะไร ซึ่งตอนนั้นก็ยอมรับว่ากดดันมาก คิดว่าอาจจะทำแค่ผ่านช่วงทดลองงานแค่ 4 เดือน และลองไปทำอาชีพอื่น เพราะงานตรงนี้มันอาจจะหนักไปสำหรับเราก็ได้ แต่เราก็โชคดี ได้รุ่นพี่ที่ดี คอยฝึกเราคอยให้คำแนะนำเรา อย่างงานข่าวในแต่ละวันจะมีหมายข่าวแจ้งล่วงหน้าในตอนเย็น ที่เราต้องคอยเช็คหน้าที่งานในวันถัดไปว่าต้องทำข่าวในประเด็นไหนบ้าง ทาง บก. ก็จะคอยบรีฟงาน ให้คำแนะนำในการทำงาน เกี่ยวกับประเด็นที่เราควรจะต้องได้มาในครั้งนั้นๆ แน่นอนว่าความเครียดก็ต้องมีกันบ้าง แต่พอผ่านไปได้ซักพัก ก็ตระหนักได้ว่า ถึงแม้มันจะยาก มันเป็นงานที่กดดัน แข่งกับเวลา แต่มันก็เป็นงานที่เราอยากทำ มันคืองานที่ใช่ มีหลายคนบอกว่า ถ้าเราทำงานที่เราชอบ แล้วมันใช่ เราก็จะทำได้ดี ถึงแม้ว่ามันจะมีปัญหา มีอุปสรรคเข้ามา แต่เราก็จะสามารถแก้ปัญหาและผ่านมันไปได้”

      เมื่อการเริ่มต้นงานในวงการสื่อสารมวลชนเริ่มเดินไปข้างหน้า ก็ถึงเวลาต้องขยับขยายย้ายงานเพื่อมองหาความท้าทายใหม่ๆ “หลังจากทำอยู่ที่ INN ในตำแหน่งนักข่าวสายการเมืองประจำทำเนียบรัฐบาล ก็ได้มีโอกาสย้ายมาที่ TPBS ในตำแหน่งนักข่าววิทยุและ new media ก็ยังคงทำในส่วนของข่าวการเมืองประจำทำเนียบรัฐบาลอยู่เหมือนเดิม แต่เราได้งานในส่วนของเว็บไซต์ด้วย นับเป็นประสบการณ์ใหม่ๆ ที่เราได้เรียนรู้เพิ่มเติม พออยู่ตรงนี้ได้ราวๆ สองปี ก็เริ่มอยากขยับมาทำงานโทรทัศน์บ้าง เพราะคิดว่าเป็นงานที่ท้าทาย และเป็นโอกาสที่จะได้ฝึกฝนตัวเองด้วย จากนั้นเราก็ได้รับโอกาสในการย้ายเข้ามาทำงานโทรทัศน์จริงตามที่คาดเอาไว้ ได้ก้าวมาเป็นผู้สื่อข่าวโทรทัศน์สายการเมือง ตอนนั้นเราต้องรับผิดชอบรายการโทรทัศน์ด้วย ชื่อรายการ หน้าที่พลเมือง เป็นสกู๊ปเกี่ยวกับการเมืองภาคพลเมือง หลักๆ คือไปทำข่าวที่ทำเนียบรัฐบาลบ้าง และทำประเด็นข่าวที่เกี่ยวข้อง ตามที่ได้รับมอบหมาย เช่น คดีจำนำข้าวของอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ตอนนั้นรู้สึกว่าเป็นงานที่ต้องทำการบ้านเยอะมาก ซึ่งเราก็ได้ บก. ที่คอยชี้แนะการทำงานให้ว่า เราจะต้องไปหาข้อมูลอย่างไร อ่านข่าวอย่างไร ตรงนี้ก็ถือว่าทำให้เราพัฒนาทักษะมากขึ้น”

     จากงานวิทยุสู่โทรทัศน์ คว้าทุกโอกาสที่เข้ามาและไม่หยุดหาโอกาสในการพัฒนาตัวเอง “มาถึงจุดหนึ่ง เราก็ได้มีโอกาสในการรายงานสดเป็นครั้งแรกด้วย ตอนนั้นจำได้ว่าตื่นเต้นมาก เพราะที่ผ่านมาเราใช้แต่เสียงในการอ่านข่าววิทยุ พอได้มาออกหน้าจอออกอากาศสด ก็คอยบอกตัวเองว่าเราจะผิดพลาดไม่ได้ เตรียมตัวเยอะ ฝึกเยอะ รุ่นพี่สอนว่า ให้ลองซ้อมฝึกพูดหน้ากระจกก่อน เราก็พยายามซ้อม พอได้รายงานสดจริง ความมั่นใจมันก็จะเพิ่มขึ้นเอง หลังจากนั้นอาการตื่นกล้อง ประหม่า ก็จะลดไปโดยอัตโนมัติ นอกจากนั้นเราจะคอยดูเทปของพวกรุ่นพี่ แล้วทุกครั้งที่ได้รายงานสด เราก็จะเอามาย้อนดูด้วยว่า สิ่งที่เรารายงานไปนั้นเป็นยังไง ต้องปรับปรุงอะไรอีกหรือไม่ ส่วนเรื่องการเขียนบททำสคริปต์ เราก็จะคอยถามรุ่นพี่ว่าเขียนอย่างไรให้เหมาะสมกับการรายงานสด ซึ่งที่ TPBS นี้ เราได้ทำอะไรหลายๆ อย่าง และเราได้ความรู้ในจุดนี้เยอะมาก”
     “จริงๆ ทุกงานคือโอกาสที่ทำให้เราได้พัฒนาทักษะ เพิ่มประสบการณ์อยู่แล้ว อีกทั้งเรายังได้รุ่นพี่ เพื่อนร่วมงาน หัวหน้าที่ดีด้วย คือถ้าเรามีโค้ชที่ดี เราจะสามารถต่อยอดพัฒนาไปได้”

     สั่งสมความรู้เพื่อประสบการณ์ สั่งสมประสบการณ์เพื่อพัฒนาตัวเอง วนกลับไปต่อยอดความรู้เดิมที่มี กระทั่งได้เป็นหนึ่งผู้ร่วมงานข่าว ที่ที่ทำให้รู้สึกภาคภูมิใจที่สุดในชีวิต “ปัจจุบันเราได้รับมอบหมายในประเด็นข่าวสังคมและสถานการณ์ทั่วไป ตรงจุดนี้ เราได้รับโอกาสให้ทำงานที่สำคัญมากๆ อีกครั้ง และเป็นงานที่ภาคภูมิใจสูงสุดในชีวิตการเป็นนักข่าว คือการรายงานสดในช่วงพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9 บอกได้เลยว่าเป็นงานที่กดดันมาก เพราะว่าเราจะต้องทำให้ดีที่สุด ให้สมพระเกียรติที่สุด คำที่ใช้ก็ต้องถูกต้องเหมาะสมที่สุด แน่นอนว่าเราก็ทำการบ้านมาพอสมควร เราทำอย่างเต็มที่ทุกวินาที ถือว่าเป็นงานที่ภาคภูมิใจมากที่สุดในชีวิตการเป็นนักข่าวเลยก็ว่าได้”

     จากเด็กจบใหม่ สู่นักข่าวมืออาชีพ จากคำแนะนำที่เคยได้รับ มาถึงการส่งต่อคำแนะนำจากประสบการณ์ของตัวเอง ให้คนรุ่นใหม่ที่สนใจงานด้านสื่อสารมวลชน “สำหรับคนที่อยากจะก้าวเข้ามาทำงานข่าว ส่วนตัวคิดว่าต้องเป็นคนที่อยากทำจริงๆ มันไม่ใช่แค่งานที่ได้ออกหน้าจอและรายงานข่าวอย่างเดียว เพราะว่าที่จะได้รายงานสดผ่านโทรทัศน์ มันต้องสั่งสมประการณ์ ต้องอ่านข่าว ต้องรับความกดดัน ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ได้ด้วย เพราะว่าข่าวโทรทัศน์เป็นการทำงานแบบเป็นทีม เราต้องมีความสามารถในการบริหารทีม เช่น เราจะต้องคุยกับช่างภาพถึงภาพบรรยากาศหรือภาพข่าวที่เราต้องการนั้นเป็นแบบไหน มันต้องใช้ทักษะหลายๆ อย่าง ที่สำคัญ ต้องมีความอดทนด้วย บางครั้งเราไปรอสัมภาษณ์แหล่งข่าวหรือสถานการณ์สำคัญ บางทีต้องรอนานๆ บางครั้งรอนานกว่า 6-7 ชั่วโมง เพราะถ้าไม่รอ เราก็ไม่ได้ข่าว



     และอีกคุณสมบัติที่นักข่าวควรมีคือ หูตากว้างไกล ต้องอ่านข่าว ต้องเช็คข่าวตลอดเวลา ไม่อย่างนั้นจะคุยกับเขาไม่รู้เรื่อง อย่างเช่นเวลาไปสัมภาษณ์แหล่งข่าว ถ้าเขาตอบในประเด็นหนึ่งมา แล้วเราไม่ได้ตามข่าว เราก็จะไม่เข้าใจ ไม่รู้ว่าเรื่องนี้มันคืออะไร มันสำคัญแค่ไหน จะต้องเขียนข่าวอย่างไร ถ้าเราเข้าใจ เราก็จะเขียนข่าวต่อได้ ต่อยอดประเด็นได้ หรือถามประเด็นอะไรที่มันเจาะลึกได้มากกว่า นอกจากนี้ เราก็ต้องปรับตัวให้ทันกับสื่อออนไลน์ด้วย เนื่องจากการรับสื่อของคนเปลี่ยนไป เห็นได้จากในปัจจุบันผู้คนมักจะเลือกรับข่าวสารผ่านหน้าจอสมาร์ทโฟนมากกว่าโทรทัศน์แล้ว ดังนั้น นักข่าวจึงเป็นอาชีพที่ต้องปรับตัวไปตามโลก ถ้าโลกเปลี่ยนแต่นักข่าวไม่เปลี่ยนตาม ก็อาจอยู่ไม่ได้เหมือนกัน”

     ท้ายที่สุด แต่ไม่สุดท้าย แม้ว่าอาชีพนักข่าวในทัศนคติของคนรุ่นใหม่หลายๆ คนอาจดูเป็นผู้ร้ายไปบ้าง แต่ด้วยหน้าที่ ด้วยงานที่ทำอยู่คือการสื่อสารเรื่องราวความเป็นไปให้ผู้คนทั่วประเทศได้รับรู้ อย่างน้อย ป่านเองก็พยายามพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ และเป็นนักข่าวที่ดีที่สุดเท่าที่คนๆ หนึ่งจะทำได้

     “สำหรับอาชีพนักข่าว เราก็ทำหน้าที่ให้ดีที่สุดในทุกๆ วัน เพราะนักข่าวเป็นงานที่ต้องรับผิดชอบต่อแหล่งข่าว รับผิดชอบต่อคำพูดของแหล่งข่าว ได้รับมาอย่างไร เราต้องควรต้องเสนอไปอย่างนั้น อีกทั้งยังต้องรับผิดชอบต่อองค์กร เพราะองค์กรของเราเป็นสื่อสาธารณะ แล้วต้องคิดถึงสังคมด้วย เพราะสิ่งที่เรานำเสนอนั้น ก็ควรสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมด้วย อย่างบางเรื่องที่เราได้นำเสนอจากการที่เราได้ไปสัมภาษณ์ แหล่งข่าวบางท่านเขาดีใจมากเลยนะ ดีใจที่เขาได้มีโอกาสพูด เช่นเรื่องที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม อย่างเช่นเรื่องความรุนแรงในครอบครัว ตัวแหล่งข่าวเองก็อยากจะถ่ายทอดเรื่องราวเพื่อบอกเล่าประสบการณ์ให้กับคนอื่นๆ ได้รับรู้ ขณะที่เราเองเราก็พลอยรู้สึกดีไปด้วยที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการบอกต่อเรื่องราวเหล่านั้น”

"

ผู้จัดทำ

บทความที่คุณอาจสนใจ