“เชื่อไหมว่า..จากบรรยากาศการเรียนการสอนที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ในวันนั้น ทำให้ 3 ชีวิตวัยรุ่นที่มีความฝัน มีเป้าหมายในอาชีพที่ตรงกัน มาเจอกัน ตรงลงปลงใจก่อร่างสร้างบริษัทรับออกแบบของตัวเอง FOYER ARCHITECTS & DESIGN ที่วันนี้นอกจากโปรเจ็กต์ที่คิวยาวไม่แพ้ใครแล้ว งานออกของพวกเขาและทีมทำให้เห็นเสน่ห์ของการทำงาน และหัวใจของคำว่าทีมเวิร์ก จากการนำรูปแบบการเรียนมาทดลองปรับใช้ในการทำงานจริง”
รู้จัก 3 สถาปนิกรุ่นใหม่จากโฟเยอร์อาคิเทค จำกัด
ธนินท์รัฐ ธนาปิยะรักษ์ ศิษย์เก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ รุ่นที่ 22 จากโรงเรียนมัธยมสาธิตวัดพระศรีมหาธาตุ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ประสบการณ์การทำงาน 8 ปี ตำแหน่งผู้ก่อตั้งบริษัท และ หุ้นส่วนบริษัท
อัญชนา สวัสดิชัย ศิษย์เก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ รุ่นที่ 22 จบชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ๒ และมัธยมปลายฯ โรงเรียนเทพลีลา ประสบการณ์การทำงาน 8 ปี ตำแหน่งผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท และ หุ้นส่วนบริษัท
และ ศรัณย์ สำเนียงหวาน ศิษย์เก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ รุ่นที่ 22 จากโรงเรียนมัธยมวัดดุสิตาราม ประสบการณ์การทำงาน 8 ปี ตำแหน่งผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท และ หุ้นส่วนบริษัท
ทั้งสามคนคือผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท FOYER ARCHITECTS & DESIGN ที่เริ่มต้นมาจากการรวมตัวของเพื่อนตั้งแต่สมัยเรียนสถาปัตย์ ม.รังสิต จุดเริ่มต้นด้วยความที่มี Passion เหมือนกัน มีรูปแบบเป็นการทำงาน และสไตล์ที่ตรงกัน เป็นที่มาของการได้ร่วมก่อตั้งเป็นหุ้นส่วนและรับงานออกแบบมากว่า 9 ปี นิยามของบริษัทคือการเรียกตัวเองว่า “Designer” มีความอิสระทางด้านการออกแบบ และรับงานทุกอย่างที่เป็นรูปแบบของงานออกแบบทางด้านสถาปัตยกรรม
จากบรรยากาศการเรียนสู่บรรยากาศการทำงาน
ธนินท์รัฐ เล่าว่า “ต้องบอกเลยว่ารูปแบบการทำงานในบริษัทของเราเกิดขึ้นจากระบบของการเรียนจริงๆ ที่เราได้สัมผัสมาจากที่คณะสถาปัตย์ ม.รังสิต ด้วยความชอบส่วนตัวเป็นทุนเดิมที่ชอบงานออกแบบ อาทิ งานออกแบบอาคาร ออกแบบภายใน ทำให้รู้สึกว่างานออกแบบทำให้เรามีความสุข และความสุขนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของการใส่ใจ และตั้งใจเก็บเกี่ยวความรู้ ประสบการณ์ทางตรงและทางอ้อม รวมถึงบรรยากาศต่างๆ ที่เราชอบจากการเรียนตอนนั้นมาเนรมิตรให้ออฟฟิศของเราเป็นแบบนั้น เรียกว่าปรับใช้กับการทำงานจริง ปัจจุบันเรามีสมาชิกในบริษัทของเรากว่า 18 คน ทุกคนล้วนมีฟิลของความเป็นคนรุ่นใหม่ในตัว จึงทำให้ทุกคนสนุกกับการทำงานทุกโจทย์งานออกแบบที่ได้รับ
รูปแบบการทำงานเด่นๆ จากการเรียนที่คณะสถาปัตย์ ม.รังสิต และนำมาปรับใช้นั่นคือ รูปแบบการเรียนแบบ 4+1 เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างรุ่นพี่ รุ่นน้อง ภายในคณะ เรียกว่าเป็นการจำลองเสมือนออฟฟิศเล็กๆ มีการแบ่งหน้าที่ บทบาท ตำแหน่งกันในการทำงานร่วมกัน ตรงนี้เองที่ทำให้เราได้มีการทดลองฝึกงานไปในตัวเรียบร้อยแล้ว เมื่อเรามาเปิดบริษัทจึงเหมือนยกบรรยกาศเหล่านั้นมาใช้ในการบริหารเลย ความสุข ความสนุก และงานจึงเกิดไปพร้อมกัน ดังนั้น ข้อดีคือการที่เราเข้าใจ ทำให้เราบริหารจัดการวัฒนธรรมออฟฟิศได้เร็ว รวมถึงสมาชิกในทีมก็สามารถปรับเข้ากับกระบวนการทำงานของเราได้เป็นอย่างดี
อีกประการหนึ่ง คือ สถาปัตย์ ม.รังสิต เน้นเรื่องของ Production มาก คือต้องออกมาดีและมีคุณภาพ ระหว่างที่เรียนมีการนำเทคโนโลยี โปรแกรมต่างๆ มาใช้ในการออกแบบ ทำให้เราสามารถสร้างผลงานออกมาได้ดี ความสำคัญตรงนี้เมื่อเราจับคอนเซ็ปต์ เทคนิคงานออกแบบที่ได้รับมา ประยุกต์เข้ากับงานในแต่ละ Section ของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นงานออกแบบด้านสถาปัตยกรรม งาน Interior และ Exterior จึงออกมาดีด้วยเช่นกัน ที่สำคัญคือสามารถต่อยอดธุรกิจต่อได้เป็นอย่างดี ซึ่งงานออกแบบหลักๆ ของบริษัทจะมีทั้งงาน Commercial อย่างงานออกแบบโรงแรม ร้านอาหาร รีสอร์ท และคาเฟ่ต่างๆ รวมถึงงานออกแบบทั่วไป ประเภทงานบ้านพักอาศัย เป็นต้น ฉะนั้นเรื่อง Production ของ FOYER ARCHITECTS & DESIGN จึงค่อนข้างแสดงให้เห็นถึงตัวงานที่เราทำด้วยใจ ใส่ใจรายละเอียดเพื่อให้ได้งานออกแบบที่มีคุณภาพ
ประการต่อมานั่นคือ การเปิดกว้างทางการศึกษา ให้อิสระทางความคิด ให้อิสระในการค้นคว้า กล่าวคือ ระหว่างเรียนผมสามารถสร้างงานออกแบบที่มีความต่างได้ และความอิสระตรงนี้เองเมื่อนำมาต่อยอดในการทำงานจริง ทำให้เราไม่ยึดติดกับงานออกแบบแบบเดิมๆ ทำให้เราสนุกกับทุกโจทย์ที่ได้รับมา เพราะการทำงานกับลูกค้าคือการที่ตัวเราเอง รวมถึงทีมมีอิสระในการคิดงาน การดีไซน์ต่างๆ ที่สำคัญความคิดเห็นนั้นเราได้แชร์ เรียนรู้ สร้างประสบการณ์ออกแบบไปพร้อมกับลูกค้า ไม่แปลกที่ทุกงานออกแบบของเราจะสร้างความประทับใจให้แก่ลูกค้าเพราะเราทำด้วยใจจริงๆ”
สกิลการทำงานสถาปิก vs เจ้าของธุรกิจ
“เมื่อเรามีพื้นฐานมาจากคนที่ได้ชื่อว่าเป็นนักออกแบบ สกิลในการทำงานของสถาปนิก และการบริหาร ผมเชื่อว่าไม่ต่างกันมาก เราเหมือนเป็นศูนย์กลางบริหารจัดการ คน งาน ธุรกิจ ดังนั้นความท้าทาย คือ การจัดการทั้งหมดอย่างไรให้ตอบโจทย์ทุกองค์ประกอบ สำหรับผมสิ่งที่ผมให้ความสำคัญมากนั่นคือ “ทีม” การดูแลนักออกแบบที่มีวิธีคิดหลากหลายสไตล์ มีอิสระทางความคิดที่ไม่เหมือนกันเลย จะทำอย่างไรให้ทีมสามารถมีพื้นที่ตรงกลางและสร้างงานให้ออกมาร่วมกันได้ จากชื่อบริษัท FOYER ที่ให้ความหมายว่า โถง แสดงถึงพื้นที่ตรงกลางที่ทั้ง คน งาน มาเจอกันมาจอยกันตรงกลาง ทำให้ทุกคนสามารถมาโชว์ศักยภาพของตัวเองได้ ตรงนี้เป็นเรื่องเชิงจิตวิทยาที่เราเตรียมรับมือไว้แล้ว ที่เหลือเป็นเรื่องของการปรับกันไปเรื่อยๆ และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าตามสถานการณ์ที่พบเจอ
จากประสบกาณ์จากการที่เราเป็นตัวกลาง เรารับบริฟเอง กระจายงานเอง สิ่งที่เราได้รับและเป็นความภาคภูมิใจ คือ การได้รับคำชมจากลูกค้า การที่งานได้รับการเผยแพร่ออกไป เป็นที่รู้จักและได้รับ Feedback กลับมา ในฐานะเจ้าของธุรกิจทุกคำชม ทุกประสบการณ์เราไม่ได้รับไว้คนเดียว เราถ่ายทอดให้กับทีม ซึ่งทุกคน Happy กับทุกขั้นตอน ทุกกระบวนการ ผมประสบความสำเร็จตามเป้าผมแล้ว การเลือกเรียนที่ตรงจุด และนำไปต่อยอด ความโชคดีของการมีทักษะอาชีพในฐานะ “สถาปนิก”ความโชคดีของการได้รับการสนับสนุนจากทีมในฐานะ “เจ้าธุรกิจ” ทั้งสองสกิลมีความยืดหยุ่นและมีสมดุล ดังนั้นเคล็ดลับความสำเร็จทั้งสองบทบาทอาชีพอยู่ที่ “ความสุข” ถ้าเราเชื่อว่าเรารักอาชีพสถาปิก เราต้องรักทุกบริบทที่เกี่ยวกับความเป็นสถาปนิก กิจกรรม ทักษะ ความรู้ ทุกอย่างออกมาดีเสมอ”
ยกไลฟสไตล์เด็กถาปัตย์ ม.รังสิต มาไว้ที่ทำงาน
อัญชนา สวัสดิชัย ในฐานะหุ้นส่วนของ FOYER ARCHITECTS & DESIGN เล่าว่า “ส่วนตัวกิจกรรมของคณะ เป็นความสุข สนุกมาก การเข้าร่วมกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ ทำให้เราเห็นกระบวนการอะไรบ้างอย่าง จะทำอย่างไร? ให้ความสุขเหล่านั้นเกิดขึ้นกับการทำงานของเราและทีม เรามีเป้าหมายและแผนในใจของเรา ส่วนตัวเรานำเรื่องนี้มาสร้างสีสันบรรยากาศให้กับทีม ทุกคนมีความสุขเมื่อตื่นเช้ามาเจอกัน มาทำงานที่เรารักด้วยกัน แม้กระทั่ง ภาพจากการเรียนวิชาดีไซน์ที่งานค่อนข้างเยอะ มีการตรวจแบบค่อนหนักและถี่พอสมควร ซึ่งเป็นภาพที่เกิดขึ้นจริงในการทำงานของเรา บรรยากาศรุ่นพี่ รุ่นน้อง กลางงานออกแบบของลูกค้า มาแชร์กัน คุยกัน พูดคุยแสมดงความคิดเห็นกันอย่างสนุกสนาน ในฐานะที่เราเองก็ร่วมบริหารจัดการทั้งคนและงาน เราเห็นภาพนี้ ความตั้งใจแบบนี้ก็ตรงกับคอนเซ็ปต์ที่เราออกแบบไว้แต่แรก เหมือนยกไลฟสไตล์ตอนเรียนมาทำให้เราบริหารงานงานง่ายยิ่งขึ้น อยากฝากถึงน้องๆ ที่ตั้งใจจะเป็นสถาปนิก ตั้งใจประกอบอาชีพนี้ ขอให้เรามีเป้าหมายในใจของตัวเองตั้งแต่แรก และเดินตามเป้าหมายนั้น เชื่อว่าทุกอย่างจะตอบโจทย์ตามที่เราต้องการ ไม่ว่าจะเรียน ทำงาน เราสามารถกำหนด Direction ได้ เหมือนที่บริษัทของเรา”
ศรัณย์ สำเนียงหวาน อีกหนึ่งหุ้นส่วน พูดถึงไลฟสไตล์ในการทำงานว่า “ทุกชีวิตมีความต่าง ต่างคนต่างความคิด การสื่อสารจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ผมเป็นคนชอบพูด ชอบคุย รู้สึกนึกคิดอะไรได้ก็จะมีเรื่องราวมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ตั้งแต่เริ่มกระบวนการงานออกแบบ การวางพื้นที่ใช้สอยของ การจัดทำแบบเพื่อก่อสร้าง หลากหลายขั้นตอนในการทำงาน ทีมเราต่างคนต่างเชี่ยวชาญกันคนละอย่าง บางคนเด่น บางคนด้อยเรื่องไม่เหมือนกัน ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น สิ่งที่จะผสานให้งานมันกลมกล่อมได้คือการสื่อสาร เราพยายามพูดคุยกันตลอด แลกเปลี่ยนความคิด มองข้อดี ข้อเสียในการออกแบบนั้น ๆ และผลลัพธ์ออกมาดูลงตัวอย่างควรจะเป็นมากที่สุด”
ตอนเรียนคณะสถาปัตย์ฯ จำได้ว่าเป็นคนลุ่ม ๆ ดอน ๆ คนหนึ่ง ไม่ได้ตั้งใจเรียนมาก แต่พยายามตั้งใจเรียน เรียนไปเล่นไป สนุกไปเรื่อย ๆ ทำให้บางช่วงเวลาที่ต้องพรีเซ็นต์งาน หลายครั้งโดนอาจารย์ถามคำถามแบบตั้งตัวไม่ทัน ทำให้ช่วงนั้นรู้สึกเหมือนเวลาต้องแก้โจทย์งานที่ต้องตอบ จะคุยแบบไหลเป็นน้ำไปเลยสมัยตั้งแต่ตอนเรียน พอมาทำงานจริง ๆ เราจะเจอคนหลากหลายมาก สถาปนิกเหมือนเป็นนักออกแบบครึ่งนึง อีกครึ่งนึงเป็นนักแก้ปัญหา มีสิ่งให้ต้องเรียนรู้ใหม่อยู่เสมอ ช่วงชีวิตที่ต้องทำงานในสถานการณ์ที่ต้องระดมความคิดกันภายในทีม ก่อนจะทำอะไรจะมีการวางแผน หรือศึกษาข้อมูลเพื่อการทำงานที่มีคุณภาพที่สุด ท้ายที่สุดเราก็ไม่ต้องใช้สกิลไหลแบบเมื่อก่อน เตรียมตัวมาดีมีชัยกว่าครึ่ง คำนี้ยังใช้ได้เสมอ สำหรับการแก้ไขปัญหาในงานหากเจออุปสรรค ผมคิดอย่างนี้ครับ เวลาเราเริ่มออกแบบ เราเริ่มจากความว่างเปล่า แล้วค่อย ๆ จินตนาการถ่ายทอดลงมาในกระดาษ สู่การก่อสร้าง บางพื้นที่เราออกแบบวิธีการ ออกแบบบริบท วาดความฝันลงไป ยิ่งงานที่สร้างเสร็จแล้วเราได้ไปยืนอยู่ในพื้นที่ที่เราคาดหวังว่าจะรู้สึกอย่างไร และยิ่งออกมาเป็นแบบที่เราคิดจริง ๆ นั่นคือความสุขสุด ๆ ของคนทำอาชีพสถาปนิกแล้วครับ
ท้ายนี้ฝากไว้เป็นข้อคิดสำหรับน้อง ๆ ที่อยากเปิดบริษัทของตัวเอง ก่อนอื่นเลยลองตั้งคำถามกับตัวเองว่าบริษัทในฝันของน้องมองไว้ว่ามันควรจะเป็นอย่างไร ทั้งในเรื่องการทำงาน ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนในบริษัท แล้วทำมันขึ้นมาเลยครับ ความฝันเป็นสิ่งที่ดีครับ ทุกคนเคยมีฝัน แต่ความฝันมันจะหายไปได้มีอยู่สองแบบ แบบแรกคือลงมือทำมันให้เป็นความจริง แบบที่สองคือปล่อยให้ความฝันตายไป อย่าให้มันเป็นแบบที่สองเลยครับ!!
"