เรื่องเงินๆ ที่ใครๆ ต้องรู้! : นวัตกรรมการชำระเงินสมัยใหม่

30 Mar 2018

         เงินตรากับระบบการชำระเงินเป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวโยงกันเสมอ กล่าวคือ การชำระเงินนั้นเป็นเรื่องของฟังก์ชั่นในการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ระหว่างกัน ซึ่งกระบวนการนั้นจำเป็นต้องมีความปลอดภัยในการถ่ายโอนสินทรัพย์ต่างๆ จะเห็นได้ว่ารูปแบบของการชำระราคาแบบดั้งเดิมนั้น จะเป็นการจ่ายเงินซื้อสินค้าและบริการโดยใช้พวกเหรียญ หรือ ธนบัตรต่างๆ ดังนั้น การจดบันทึกรายการประจำซื้อ-ขายแบบแยกประเภทจึงมีความสำคัญ และจำเป็นอย่างยิ่ง ในขณะที่การชำระเงินแบบสมัยใหม่ (Modern Payment System) นั้นจะถูกประมวล และบันทึกลงในรูปแบบดิจิทัลบนบัญชีของธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ระบบการชำระราคาแบบใหม่จึงมีความน่าสนใจ อยู่สองประการ ประการแรกคือ การบันทึกรายการซื้อ-ขาย จะถูกเปลี่ยนจากรูปแบบของกระดาษบันทึกรายการเป็นรูปแบบอิเลคทรอนิค ซึ่งเป็นการเพิ่มความรวดเร็วในการทำธุรกรรมทางการเงิน แถมเป็นการลดความเสี่ยงด้านปฎิบัติการ (Operational risks) ส่วนอีกประการหนึ่ง คือ การวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีทำให้เกิดการประหยัดต้นทุน ทำให้เกิดรายการชำระเงินรูปแบบใหม่ โดยเราสามารถจำแนกระบบการชำระเงินสมัยใหม่ และสกุลเงินทางเลือก ออกได้เป็น 4 ประเภทใหญ่ๆ

         1.Wrappers เป็นรูปแบบของการลดต้นทุนชำระเงิน โดยเป็นระบบที่ผู้ใช้จะเชื่อมต่อเบอร์มือถือของตนกับเลขที่บัญชีธนาคารส่วนตัว  ตัวอย่างเช่น Google Wallet, Apple Pay, Alipay และ WeChat Wallet  เป็นต้น นวัตกรรมประเภทนี้ไม่ได้เป็นการนำเสนอสกุลเงินใหม่ หรือ ระบบหลักในการชำระเงินแบบใหม่แต่อย่างใด

        2. Mobile Money จะเป็นรูปแบบของการเติมเงินเข้าไปในบัตรเงินสด (Smart card) หรือ สามารถเชื่อมกับระบบออนไลน์ หรือ แอพพลิเคชั่นต่างๆในมือถือก่อนแล้วจึงค่อยไปใช้ในการชำระซื้อสินค้าและบริการต่างๆ เช่น M-pesa ซึ่งเป็นบริการการชำระเงินผ่านมือถือยอดนิยมที่ประเทศเคนย่า โดยผู้ใช้ต้องทำการฝากเงินเข้าไปยังมือถือจากนั้นระบบตรวจสอบความปลอดภัยโดยการส่งรหัสผ่านในผู้ใช้ยืนยันตน อีกตัวอย่างของMobile Money ที่เราคุ้นเคยเช่น Paypal 

         3. Credits and Local Currencies เป็นรูปแบบการชำระเงิน ด้วยสกุลเงินแบบเชื่อใจ เป็นการแลกเปลี่ยนสกุลเงินท้องถิ่นไปใช้บนplaltformที่เฉพาะเจาะจง ถ้าจะยกตัวอย่างให้เห็นง่าย เช่นการใช้เงินจริง ชำระแลกเปลี่ยนเป็นไอเท็มในเกมออนไลน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเกมMMORPG ที่เล่นบนPC หรือ แม้กระทั่งเกมออนไลน์ต่างๆที่เป็นที่นิยมเล่นผ่านมือถือ ระบบนี้เป็นการช่วยสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม การชำระเงินรูปแบบนี้จะมีห่วงโซ่อุปทานที่สั้น

         4. Digital Currencies สกุลเงินดิจิทัล หรือ บางคนเรียกว่า Cryptocurrencies เป็นการผสมผสานระบบการชำระเงินแบบใหม่ และสกุลเงินใหม่ ดังนั้นผู้คนสามารถซื้อ-ขาย แลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลกับสกุลเงินต่างๆ และสามารถใช้ชำระค่าสินค้าและบริการได้เช่นกัน โดยไม่ต้องผ่านบุคคลที่สาม อย่างเช่นธนาคารพาณิชย์ อย่างไรก็ตาม สกุลเงินดิจิทัลไม่ได้ถูกควบคุม โดยธนาคารกลางใดๆ Bitcoin Litecoin และ  Peercoin เป็นตัวอย่างของสกุลเงินประเภทนี้

 

รูปแบบของนวัตกรรมการชำระเงิน

         ในปัจจุบันเรากำลังเข้าสู่ยุคของสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) อย่างเต็มรูปแบบ เนื่องจากในทุกๆประเทศได้นำนวัตกรรมเทคโนโลยีทางการเงินมาใช้ในการชำระราคาสินค้า และการทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ซึ่งจะมาแทนที่การถือครองเงินสดที่เป็นธนบัตร เหรียญ เพื่อไปชำระค่าสินค้าและบริการโดยตรง โดยธุรกรรมแบบดั้งเดิมจะเป็นระบบแบบรวมศูนย์ (Centralised System) คือ ในทุกรายการจะวิ่งเข้าหาตัวกลางทางการเงิน เช่น ธนาคารพาณิชย์ หรือ สถาบันการเงินต่างๆ และผ่านไปยังธนาคารกลาง แต่ทุกวันนี้ การชำระราคาสมัยใหม่ที่นำเทคโนโลยีนวัตกรรมมาใช้ จะเป็นแบบ Decentralised System ซึ่งการทำธุรกรรมต่างๆ ทำได้โดยผ่านสถาบันทางการเงินน้อยลง และ สามารถตรวจสอบรายการทำธุรกรรมซึ่งกันและกันได้ ข้อดีที่เห็นได้ชัดนั้นคือ การประหยัดเวลา และ การลดต้นทุนในการทำธุรกรรมต่างๆ แต่ข้อเสียของการชำระเงินในรูปแบบดิจิทัล มันก็มีความเสี่ยงทุจริตหรือถูกโกง (Fraud Risk) นอกจากนี้ ความเสี่ยงในการสูญเสียเงินดิจิทัล สูงกว่าการฝากเงินที่ธนาคาร เพราะถ้าทำรหัสส่วนตัวสูญหาย เพราะมีพังของhard disk อาจจะมีการสูญเสียเงินไป ในขณะที่ Internet banking สามารถที่จะกู้รหัส หรือ รีเซ็ตโดยการติดต่อธนาคารแล้วตอบคำถาม ดังนั้นราคาและผลตอบแทนของสกุลเงินดิจิทัลจึงผันผวนเป็นอย่างมากในตลาดการเงิน สุดท้ายนี้ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการชำระเงินแบบใดก็ตาม เราก็ควรที่จะศึกษา เพื่อใช้ให้เหมาะสมในการทำธุรกรรม เรียนรู้ถึงผลประโยชน์และความเสี่ยงต่างๆ ก่อนที่จะเลือกใช้มัน

ดร.กุลบุตร โกเมนกุล รองคณบดี ฝ่ายบริหารและวิเทศสัมพันธ์ วิทยาลัยนานาชาติ และอาจารย์สาขาวิชาการเงินการลงทุน คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต

"

ผู้จัดทำ

บทความที่คุณอาจสนใจ