“เราต้องรู้ว่าองค์กรที่เราทำงานนั้นมีเป้าหมายอะไร และเราสามารถตอบสนองและสนับสนุนได้อย่างไร?” หลักคิดในการทำงานของ คุณกุลสิทธิ์ คงเสน่ห์

25 Oct 2019

     ย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว คุณกุลสิทธิ์ คงเสน่ห์ (พี่เบิ้ม) เป็นเด็กหนุ่มคนหนึ่งจาก จ.สุราษฎร์ธานี ที่เดินทางมาตามหาความฝันที่มหาวิทยาลัยรังสิตพร้อมกับเพื่อนๆ ที่มีอุดมการณ์เดียวกัน คือ พวกเราจะคว้าปริญญาไปให้พ่อแม่ภาคภูมิใจให้ได้ จากเด็กต่างจังหวัดที่เข้ามาเรียนในเมืองหลวง จึงมีหลายสิ่งที่ต้องเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ แต่ด้วยว่าเรามาเรียนกันหลายคน ดังนั้น ทุกคนจึงมีโอกาสได้เข้าร่วมกิจกรรมอย่างเต็มที่ แต่ไม่ละทิ้งการเรียน

เล่นเป็นเรื่องแรก เรียนเป็นเรื่องรอง

      “ผมเข้ามาเรียนที่มหาวิทยาลัยรังสิต ปี พ.ศ.2532 ที่คณะบริหารธุรกิจ แต่เมื่อเรียนแล้ว คิดว่าไม่ใช่สิ่งที่ชอบ จึงถามตัวเองใหม่ว่าเราถนัดหรือชอบอะไร สิ่งที่เราอยากทำหรืออยากเป็นในอนาคตคืออะไร ซึ่งพอรู้จุดหมายปลายทางของตัวเองที่แน่ชัดแล้ว จึงย้ายไปเรียนสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ เพราะว่าอยากทำงานในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งช่วงนั้นตรงกับช่วงที่ภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศกำลังขยายตัว”

     การที่เรามาเรียน ม.เอกชน ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงจึงปฏิญาณกับตัวเองว่า ต้องเรียนให้จบให้ได้ ถึงแม้ว่าจะย้ายคณะก็ตาม สำหรับผมเรื่องเรียนเป็นเรื่องรองคือ เรียนก็ไม่ได้เกเร ถึงแม้ว่าเกรดเฉลี่ยจะไม่สวยหรูแต่เราก็จะเรียนให้ผ่านได้ตามเกณฑ์ แต่กิจกรรมนี่ทุ่มสุดตัว ผมเป็นคนที่ค่อนข้างกล้าแสดงออก พอเข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยก็อยู่ชมรมดนตรีสากล ได้มีโอกาสเข้าร่วมประกวดร้องเพลงเวที Coke Music Award ติด 1 ใน 10 ซึ่งเป็นโอกาสแสดงศักยภาพของตัวเอง ทำให้รู้ว่าเราสามารถทำอะไรได้อีกหลายอย่าง นอกจากนี้ยังออกค่ายอาสา และร่วมกันจัดตั้งชมรมศึกษาและพัฒนายุวชน

ยุคที่สมัครงานทางหนังสือพิมพ์

     หลังจากเรียนจบสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ พี่เบิ้มก็เริ่มหางานทำ โดยส่งประวัติของตนเองไปตามหนังสือพิมพ์

     “สมัยก่อนเวลาเรียนจบเราต้องส่งรูปและประวัติของเราไปตามหนังสือพิมพ์ แล้วบริษัทจะหาประวัติเราจากทางนั้น ผมส่งประวัติไปประมาณ 45 วัน ก็มีบริษัทติดต่อให้ไปสัมภาษณ์งาน และได้ทำงานที่แรกในตำแหน่งวิศวกรซ่อมบำรุง บริษัท สยาม แปซิฟิค อีเล็คทริคไวร์ แอนด์ เคเบิ้ล จำกัด ทำอยู่ประมาณ 2 ปี คุณแม่ก็ป่วยหนัก ผมจึงตัดสินใจกลับสุราษฎร์ธานีเพื่อจะได้ดูแลคุณแม่ โดยเริ่มทำงานที่ บริษัท ชัวร์เท็กซ์ จำกัด(บริษัทในเครือ แอนเซล ของออสเตรเลีย) ในตำแหน่งวิศวกรซ่อมบำรุง และพัฒนาตนเองเรื่อยมาจะได้รับตำแหน่ง ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ ผมทำงานที่แอนเซล ได้ 22 ปี ก่อนจะย้ายมาเป็นผู้จัดการโรงงาน บริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) สาขาสุราษฎร์ธานี”

อย่าหยุดที่จะเรียนรู้ อย่าหยุดที่จะพัฒนาตนเอง

     สิ่งที่ได้รับจากการทำงาน 22 ปี ที่ แอนเซล ผมถือว่าสำเร็จการศึกษามาอีกสถาบันหนึ่งเลยก็ว่าได้ เพราะผมได้เป็นทั้งครูและลูกศิษย์ในเวลาเดียวกัน ซึ่งจากเดิมเราเคยรับผิดชอบเฉพาะงานด้านการซ่อมบำรุง แต่ได้รับโอกาสมารับผิดชอบทุกขั้นตอนในกระบวนการผลิต รวมถึงการควบคุมคุณภาพของสินค้า ซึ่งตรงนี้ทำให้เราต้องเรียนรู้ศาสตร์ด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่เราเรียนมา และพัฒนาตนเองอยู่ตลอดแบบมืออาชีพ สำหรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในการทำงานแต่ละตำแหน่งหน้าที่ ถือว่ามีความท้าทายแตกต่างกันไป        ดังนั้น ประสบการณ์ที่เราสั่งสมมาตั้งแต่เรียน การร่วมทำกิจกรรม และจากการทำงานที่ผ่านมา ทำให้เราพร้อมตลอดเวลา เมื่อโอกาสมาถึง

     “การที่เราทำกิจกรรมทำให้เราได้มีโอกาสได้ทำงานกับคนหลากหลายรูปแบบหลากหลายกลุ่ม ซึ่งตรงนี้ผมถือว่ามีประโยชน์เป็นอย่างมากในการทำงานจริง”

 

แชร์ประสบการณ์การทำงาน

     จากการทำงานที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันผมถือว่าโชคดีมากๆ ที่ได้ร่วมงานกับบริษัทที่มีการบริหารงานจากผู้บริหารต่างชาติ เพราะทำให้เราได้รับรู้วัฒนธรรมการบริหารงานของแต่ละองค์กร ซึ่งแต่ละแบบมีข้อดีข้อด้อยแตกต่างกัน จึงเป็นประสบการณ์ให้เรานำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับการบริหารงานในปัจจุบัน

     บริษัทแรก เป็นการทำงานกับผู้บริหารชาวจีน จึงค่อนข้างเข้มงวดในเรื่องค่าใช้จ่าย และเคร่งครัดในเรื่องวินัยการจัดการในรายละเอียด ซึ่งให้แง่คิดมุมมองแบบเถ้าแก่ดูแลธุรกิจ

     ส่วนบริษัทที่ 2 เดิมผู้บริหารเป็นชาวอินเดีย ซึ่งเป็นการบริหารแบบสนใจในรายละเอียดของงานที่ทำ เป็นการเรียนรู้ภาษาอังกฤษในงานไปในตัว และสอนให้เราปรับตัวบริหารจัดการให้ได้ตามเป้าหมาย  พอ แอนเซล เข้ามาควบรวมกิจการ ผู้ถือหุ้นเป็นชาวออสเตรเลีย เน้นความเป็นเจ้าของของแต่ละส่วนงานและความปลอดภัยในการทำงาน มีกลยุทธ์ในการจัดการ ส่งมอบให้ทุกระดับชั้น โดยใช้เครื่องมือในการปรับปรุงพัฒนาการทำงานอย่างต่อเนื่อง World class manufacturing และ Lean Six Sigma

          การทำงานในปัจจุบันก็จะเป็นความท้าทายทางด้านการบริหารคน (Human Resource Management) เพื่อให้เข้าใจเป้าหมายและวิธีการดำเนินทางธุรกิจ ผ่านการกำหนดกลยุทธ์และติดตามผลประกอบการเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ธุรกิจเติบโตแข่งขันในตลาดได้ ผลการเรียนรู้จากการทำกิจกรรมสมัยเรียนทำให้เราเข้าใจพฤติกรรมของคนแต่ละแบบ และง่ายแก่การปรับตัวให้สามารถทำงานร่วมกับทีมงาน อีกทั้งประสบการณ์ในการตั้งใจทำงานที่ผ่านมาสร้างให้เกิดความพร้อม เมื่อโอกาสดีๆ เข้ามาผมจึงสามารถคว้ามันมาได้ และก้าวต่อไปมหาวิทยาลัย ต้องเตรียมความพร้อมให้บัณฑิต เพื่อก้าวเข้าสู่ชีวิตการทำงาน

     โลกทุกวันนี้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องภาคอุตสาหกรรมก็เช่นเดียวกัน ดังนั้น ถ้าเรารู้ความต้องการของผู้ประกอบการว่าต้องการอะไร แล้วมหาวิทยาลัยสามารถผลิตบัณฑิตออกมาพร้อมเสิร์ฟได้นั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ดีมากๆ มหาวิทยาลัยควรปรับหลักสูตรการเรียนการสอนให้ตรงตามที่ผู้ประกอบการต้องการ เช่น  Six sigma,  World class Manufacturing, Total Productive Management :TPM เป็นต้น ซึ่งผู้ที่มีความรู้ทางด้านนี้กำลังเป็นที่ต้องการของภาคอุตสาหกรรมในปัจจุบัน ทั้งบัณฑิตจากสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล และสาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ ฯลฯ

     “หลักการทำงานของผมคือ เราต้องรู้ว่าองค์กรที่เราทำงานนั้นมีเป้าหมายอะไร และเราจะเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมผลักดันให้องค์กรเติบโตก้าวสู่การเป็นที่หนึ่งในอุตสาหกรรมได้อย่างไร  ดังนั้น เราต้องนำศักยภาพจากสิ่งที่เราเรียนรู้มาตั้งแต่สมัยเรียน การทำกิจกรรม และประสบการณ์ที่สั่งสมมา ผสมผสานกันมาบริหารงานเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ อย่างมืออาชีพ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กร”

 

"

ผู้จัดทำ

บทความที่คุณอาจสนใจ