เพราะเป็น ‘อาจารย์ด้วยจิตวิญญาณ’ จึงไม่ต้องพูดเยอะ...เด็กๆ รักและเคารพด้วยใจ

11 Jan 2019

     คงไม่ปฏิเสธหากมีคนเถียงว่าอาชีพครูอาจารย์ที่ตนทำอยู่ตนทำเต็มที่และเด็กรักเต็มไปหมด สิ่งหนึ่งที่อยากถามว่าอาชีพครูอาจารย์ที่เป็นอยู่นั้นคุณเต็มที่อย่างไร?

 

“การเป็นครูบาอาจารย์ ไม่ได้หวังว่าจะรวย
เราหวังที่จะเห็นความสำเร็จของลูกศิษย์...ก็พอ”

 

สไตล์เด็กออกแบบ อาจดูเซอร์ แต่งตัวแปลก...

     อาจารย์น้อย-อนุพงศ์ สุทธะลักษณ์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยการออกแบบ และบทบาทรองกิจการนักศึกษาประจำวิทยาลัยการออกแบบ มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นหนึ่งในอาจารย์ของเด็กๆ ‘ศิลปกรรม ที่ได้ชื่อว่าเด็กๆ โคตรรักและเคารพรุ่นต่อรุ่นมาจนปัจจุบัน อาจารย์น้อยเป็นเด็กจิตรกรรม จากมหาวิทยาลัยศิลปากร (ปริญญาตรี) และ (ปริญญาโท) วิทยาลัยการออกแบบ มหาวิทยาลัยรังสิต เริ่มต้นอาชีพอาจารย์ตั้งแต่ปี พ.ศ.2532 จากคณะศิลปกรรมยกระดับมาเป็นคณะศิลปะและการออกแบบ และเป็นวิทยาลัยการออกแบบ ม.รังสิต ในปัจจุบัน

     เริ่มต้นสอนศิลป์เด็กอาชีวะฯ ที่โรงเรียนศิลปะพระนครมาก่อน ทั้งสอนทั้งเฝ้าเด็กตามป้ายรถเมล์เนื่องจากสมัยนั้นเป็นยุคเด็กช่างตีกันหนักหน่วงพอสมควร สอนได้สักพักได้รับการชักชวนจากรุ่นพี่มาสอนที่มหาวิทยาลัยรังสิต โดยเข้ามาสอนในรายวิชาทางด้านวิจิตรศิลป์ จิตรกรรม ประติกรรม ภาพพิมพ์ เป็นต้น และต่อมาได้มีการพัฒนาหลักสูตรจึงได้สอนประจำในรายวิชาพื้นฐานของคณะ อาทิ วาดเส้น (Drawing) จิตรกรรม (Painting) ออกแบบ (Design) องค์ประกอบศิลป์ และรายวิชาของสถาบัน Gen.Ed. เป็นต้น

 

   

 จากวิวัฒนาการของเด็กยุคก่อนที่มีความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ด้วยความที่มีความเป็นเทคโนโลยีมากขึ้น การสอนแบบเดิมๆ ก็คงไม่น่าสนใจเท่าไรสำหรับเด็กยุคนี้ด้วยจำนวนนักศึกษาที่มากขึ้นเราจึงต้องยอมรับว่าคุณภาพอาจลดลง จึงเป็นที่มาของการหาเทคนิคการสอนที่ให้ทุกอย่างแก่เด็กไม่ว่าจะความรู้ ประสบการณ์ วิธีการทำงานและเทคนิคต่างๆ การสอนแบบเดิมที่อาจารย์จะมาเปิดข้อมูลบนโปรเจ็กเตอร์ เปิดพาวเวอร์พ้อยท์ หรือสอนตามตำราบทที่ 1 2 3 เรียนอะไร... ก็คงไม่อีกต่อไป

      เราต้องวางตำราไว้ก่อน และหันมาสนใจนักศึกษาให้เขาสนุกกับเรื่องที่จะเรียนในแต่ละวัน อย่างเช่น วันนี้จะเรียนเรื่องการวาดเส้น ก็จะหาสิ่งจูงใจและดึงดูดให้เขามีอินเนอร์เริ่มสนใจจากตัวเองไม่ใช่การนั่งฟังอาจารย์ยืนเลกเชอร์หน้าห้อง เพราะแต่ละชั้นเรียนพื้นฐานความสามารถของนักศึกษาต่างกัน บางคนมีพื้นฐานมาดี บางคนไม่มีพื้นฐานแต่อยากเรียน ดังนั้นอาจารย์ต้องหาจุดสมดุลว่าจะให้นักศึกษาได้รับความรู้ในเรื่องนั้นๆ เท่ากัน เด็กทุกคนมีศักยภาพมีความสามารถและต้องหาจุดเด่นของนักศึกษาแต่ละคนออกมาให้ได้

 

   

  ไม่ว่าเวลาจะเปลี่ยนจากอดีตมาจนปัจจุบัน ความเชื่อของวัฒนธรรมวิทยาลัยการออกแบบ เราสร้างให้นักศึกษามองทุกอย่างมีความเป็นศิลปะ มีความคิดสร้างสรรค์ แต่จะสร้างสรรค์ในทิศทางใดให้แล้วแต่ศาสตร์ที่นักศึกษาเลือกเฉพาะเจาะจง ที่วิทยาลัยการออกแบบมีสาขา ได้แก่ 1.สาขาวิชาศิลปะภาพถ่าย 2.สาขาวิชาการออกแบบภายใน 3. สาขาวิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ 4.สาขาวิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์ และ 5.สาขาวิชาแฟชั่นดีไซน์ ซึ่งนักศึกษาสามารถเป็นตัวตนของตัวเองและเลือกเรียนแบบเจาะลึกในสิ่งที่ตนถนัด เมื่อจบไปสามารถจะเป็นนักออกแบบ (Designer) สร้างสรรค์งานออกแบบต่างๆ ได้ตามความถนัด

“จิตนาการ สำคัญกว่าความรู้”
(imagination is more important than knowledge)
โดย อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์

     จากคำพูดข้างต้นก็ยังคงเป็นเรื่องจริงเสมอมา ถ้าเข้าใจตรงนี้ก็จะทำให้เรียนรู้ได้สนุกสนาน การมีความคิดอิสระ ไร้กรอบในการเรียนรู้ ทำให้นักศึกษาเข้าใจตัวเอง เข้าใจศาสตร์ของศิลปะ และทำให้เกิดความมีตัวตนขึ้นมา และเขาจะใช้ศาสตร์ที่เขาถนัดได้เองตามความชื่นชอบ สำหรับเทคนิคการสอนที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ “สอนด้วยความรัก” และสร้าง “ครอบครัว” ไปด้วยกัน นี่คือสิ่งที่ทั้งทีมอาจารย์และรุ่นพี่รุ่นน้องสร้างให้เกิดความผูกพัน มีความเหนียวแน่น กลมเกลียว ทำให้เกิดความสามัคคีและเป็นปึกแผ่น

     คุณจะไม่แปลกใจว่า ทำไม?..นักศึกษาวิทยาลัยการออกแบบ มหาวิทยาลัยรังสิต จึงมีคาแรกเตอร์ที่เรียกว่า ดีไซน์เนอร์ (นักออกแบบ) ในตัวของทุกคน

“เพราะเด็กศิลปกรรมมันมีสไตล์”
สไตล์ที่อาจดูเซอร์ แต่งตัวแปลก... แต่เต็มไปด้วยพลังแห่งคุณค่าความงามและความคิดสร้างสรรค์
“เราสอนด้วยจิตวิญญาณแห่งการถ่ายทอด” เพื่อปั้นนักออกแบบไปสร้างสรรค์งานเพื่อสังคมต่อไป

 

 

มุมรองกิจฯ เด็กเกียร์


     อาจารย์จตุพล ศรีวิลาศ (อ.ป๊อก) อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และรองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ลูกหม้อวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ที่เด็กกิจกรรมต่างให้ความเคารพรักมากอีกท่านหนึ่ง อ.ป๊อก จบการศึกษาระดับปริญญาตรีและโท ที่วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และทำงานที่มหาวิทยาลัยรังสิตในปี 2548 โดยเริ่มจากการเป็นเจ้าหน้าที่ดูแลระบบเครือข่าย (Network Engineer) ที่ศูนย์คอมพิวเตอร์ และเป็นอาจารย์พิเศษสอนเรื่องระบบเครือข่ายที่สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ก่อนที่จะย้ายมาเป็นอาจารย์ประจำในปี 2552 สอนวิชา Data Communication Lab, Computer Network Lab, Network Administration, Cryptography and Network Security, System and Software Engineering และ Python Programming เป็นต้น ซึ่งแนวการสอนก็จะเน้นให้นักศึกษาลงมือปฏิบัติจริง เพื่อนำประสบการณ์ที่ได้ไปต่อยอดในการทำงานในอนาคต

     วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ถือว่าเป็นอีกหนึ่งวิชาชีพที่มีความสำคัญ เพราะในบ้านเรายังขาดบุคลากรทางด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศอยู่เป็นจำนวนมาก สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์มหาวิทยาลัยรังสิต จะเน้นให้นักศึกษาเรียนเกี่ยวกับเทคโนโลยี 3 ด้าน ทั้ง ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และระบบเครือข่าย โดยทางฮาร์ดแวร์จะเน้นด้านการเขียนโปรแกรมกับบอร์ด Arduino ควบคุมเซ็นเซอร์ต่างๆ เพื่อสร้างระบบ IoT (Internet of Things) ในด้านซอฟต์แวร์ จะเน้นการพัฒนา Application ผ่านทางสมาร์ทโฟน และสำหรับด้านระบบเครือข่ายเรียนจะเน้นในการจัดตั้งอุปกรณ์ Router, Switch และระบบ Server ต่างๆ เป็นต้น

 


 

   อ.ป๊อก เข้ามารับตำแหน่งรองกิจการนักศึกษาวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ ในปี 2557 ซึ่งนอกจากงานสอนแล้วบทบาทหน้าที่ของรองกิจการนักศึกษา คือ ดูแลงานด้านกิจการนักศึกษาด้านต่างๆ อาทิ กิจกรรมทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม กิจกรรมพัฒนานักศึกษาด้านกีฬา การบำเพ็ญประโยชน์ กิจกรรมค่ายอาสา การแข่งขันกีฬาเกียร์ ฯลฯ โดยเน้นกิจกรรมในเชิงสร้างสรรค์ เพื่อให้นักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ได้รับประสบการณ์อื่นๆ นอกเหนือจากการเรียนในห้องเรียน สร้างวิศวกรที่มีจิตอาสา จิตสาธารณะ ไม่เห็นแก่ตัว สร้างเครือข่าย มีความรู้ความสามารถทั้ง Hard Skill และ Soft Skill


     ธรรมชาติของเด็กวิศวะค่อนข้างเป็นตัวของตัวเอง คือ แต่ละสาขาวิชานักศึกษารวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน มีความสามัคคีรักพี่น้อง ช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการเรียน แต่ด้วยความที่เราไม่ได้สอนเด็กทุกสาขา ดังนั้น เวลาจะขอความร่วมมือนักศึกษาแต่ละสาขาให้มาทำกิจกรรมของวิทยาลัยฯ จึงเข้าไปพูดคุยกับตัวแทนสาขาต่างๆ เพื่อให้เป็นตัวแทนในการกระจายข้อมูลข่าวสาร นอกจากนี้ จะใช้วิธีแต่งตั้งสโมสรนักศึกษาวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อเป็นตัวแทนสาขาต่างๆ แทนการเลือกตั้ง เป็นต้น

 


     

     กิจกรรมที่วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี คือ กีฬาเกียร์ เป็นการแข่งขันกีฬาระหว่างสาขาต่างๆ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง เนื่องจากวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มีสาขาวิชาทั้งหมด 10 สาขาวิชา ได้แก่ 1. วิศวกรรมและเทคโนโลยีซ่อมบำรุงอากาศยาน 2.วิศวกรรมไฟฟ้า 3.วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ 4.วิศวกรรมอุตสาหการ 5.วิศวกรรมเครื่องกล 6.วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม 7.วิศวกรรมระบบราง 8.วิศวกรรมโยธา 9.วิศวกรรมยานยนต์ และ 10.วิศวกรรมเคมี จึงมีนักศึกษาเป็นจำนวนมาก นักศึกษาจะรู้จักกันตอนกิจกรรมรับน้องใหม่ ดังนั้น จึงเป็นการสานสัมพันธ์ในสาขาวิชาต่างๆ ให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น


     สำหรับกิจกรรมเพื่อสังคม วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกับ คณะพยาบาลศาสตร์ จัดโครงการ ค่ายรังสิตา ขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อให้นักศึกษาทั้ง 2 คณะ ใช้ความรู้ความสามารถของตนไปสร้างอาคารเอนกประสงค์และให้คำแนะนำเกี่ยวกับสุขภาพให้กับชุมชมและโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล


"นักศึกษาทุกๆ คน ใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยให้เต็มที่ แบ่งเวลาให้เหมาะสมทั้งในเรื่องการเรียน การเล่นหรือการทำกิจกรรมต่างๆ เพราะเงินทุกบาทที่นำมาใช้ชีวิตอยู่นี้เกิดจากหยาดเหงื่อของพ่อแม่ที่ทำงานหนักส่งพวกเราเรียน คุณค่าของเงินทุกบาททุกสตางค์จะรับรู้ก็ต่อเมื่อพวกคุณใช้ความรู้ ความสามารถ ความเหน็ดเหนื่อย ความอดทน ไปแลกมันมาเท่านั้น"

 


   

     ท้ายสุดนี้ ช่วงเวลาที่ทำให้มีความสุขมากที่สุดคือตอนที่ เห็นนักศึกษาได้สวมชุดครุยบัณฑิต โดยมี หลายคนที่รู้จักมาตั้งแต่สมัยปี 1 นึกย้อนไปแต่ละคนก็ผ่านความยากลำบากในแต่ละด้าน ทั้งการเรียนหรือเรื่องส่วนตัว จนในที่สุด พวกเค้ามีวันนี้ วันที่ประสบความสำเร็จก้าวแรกในชิวิต เป็นวันที่อาจารย์อย่างผมภูมิใจและมีความสุขมากที่สุดครับ

 

 

"

ผู้จัดทำ

บทความที่คุณอาจสนใจ