มหาวิทยาลัยรังสิต ยกเครื่องปรับหลักสูตรการเรียนการสอนด้านนิเทศศาสตร์ สู่การเป็น “นิเทศศาสตร์ดิจิทัล” เพื่อผลิตนักนิเทศศาสตร์อย่างมืออาชีพ ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน เน้นสร้างผู้ประกอบการ และมุ่งสู่การเป็นดิจิทัล

อาจารย์อนุสรณ์ ศรีแก้ว คณบดีวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ดิจิทัล มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคม เศรษฐกิจและเทคโนโลยี รวมทั้งพฤติกรรมการรับสื่อของผู้รับสารตลอดระยะเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงและก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างรวดเร็ว เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยน พฤติกรรมการรับสื่อของผู้บริโภคก็เปลี่ยนตาม สมาร์ทโฟนทำให้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่ายขึ้น สื่อมีการนำเสนอในลักษณะที่เป็น real time, anytime, anywhere การเปิดรับสื่อจึงเปลี่ยนไปสู่การรับข่าวสารจากสื่อดิจิทัลมากขึ้น สิ่งเหล่านี้มีผลต่อการเรียนการสอนด้านนิเทศศาสตร์เช่นกัน ซึ่งต้องมีการปรับหลักสูตรให้ทันสมัยและทันต่อการเปลี่ยนแปลง โดยมหาวิทยาลัยทั้งรัฐและเอกชนได้มีการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนด้านนิเทศศาสตร์ให้สอดคล้องกับยุคดิจิทัลมากขึ้น เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยรังสิตที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยมีการปรับหลักสูตรในวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ ให้มีรูปแบบการเรียนการสอนที่เน้นเรื่องดิจิทัลมากขึ้นและเสริมทักษะให้มีความรู้ ความสามารถในการผลิตงานสร้างสรรค์รอบด้านอย่างมืออาชีพ เพราะเป้าหมายในการผลิตบัณฑิตจะไม่ใช่เพื่อสนองอุตสาหกรรมสื่อเหมือนเดิมอีกต่อไป แต่จะเพิ่มเติมการให้ความรู้ทางด้านการเป็นผู้ประกอบการ โดยผู้เรียนสามารถเลือกเข้าไปอยู่ในอุตสาหกรรมสื่อต่างๆ หรือสามารถสร้างสรรค์งานอิสระของตนเองได้ ซึ่งจะมีการบรรจุรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของผู้ประกอบการทางด้านสื่อต่างๆ ให้ผู้เรียนได้ศึกษาเป็นทางเลือกอีกด้วย
“สำหรับการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนของนิเทศศาสตร์ มีการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนในหลายสาขาวิชาเพื่อให้ทันสมัยและก้าวไปสู่ความเป็นนิเทศศาสตร์ดิจิทัลเพื่อให้ตอบโจทย์ผู้เรียน และสอดคล้องกับการทำงานด้านสื่อสารมวลชนในปัจจุบันที่สามารถนำเสนอได้หลายแพล็ตฟอร์ม เช่น สาขาวิชาการภาพยนตร์และวีดิทัศน์ เป็นการภาพยนตร์ดิจิทัล สาขาวิชาวารสารศาสตร์ดิจิทัล เป็นคอนเทนต์และสื่อดิจิทัล สาขาวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ เป็นวิทยุและโทรทัศน์มัลติแพลตฟอร์ม สาขาวิชาการโฆษณา เป็นนวัตกรรมการโฆษณาและสื่อสร้างสรรค์ สาขาวิชาสื่อสารการตลาด เป็นสื่อสารการตลาดดิจิทัล สาขาวิชาสื่อสารการกีฬา เป็นนิเทศศาสตร์การกีฬา และสาขาวิชาการประชาสัมพันธ์ เป็นการประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร โดยจะมีการเรียนการสอนที่เข้มข้น อาจารย์ผู้สอนเองก็ต้องทำความเข้าใจในเนื้อหาสาระวิชาที่ต้องปรับปรุงใหม่ ซึ่งมีความเป็นดิจิทัลมากขึ้น เพื่อผลิตนักนิเทศศาสตร์อย่างมืออาชีพ และผู้เรียนจะต้องมีทักษะความสามารถรอบด้าน ทำได้ทุกอย่าง ทั้งผลิตสื่อสร้างสรรค์ได้ ตัดต่อได้ นำไปโปรโมตและทำการตลาดได้ ครบเครื่องในหนึ่งเดียว ดังนั้น การเรียนการสอนด้านนิเทศศาสตร์ในยุคดิจิทัลควรจะต้องสร้างประสบการณ์และทักษะที่หลากหลายให้ผู้เรียนสามารถนำไปต่อยอดในการผลิตสื่อได้อย่างน่าสนใจและมีคุณภาพ” คณบดีวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ดิจิทัล ม.รังสิต กล่าวเพิ่มเติม
ผศ.ดร.บุปผา บุญสมสุข หัวหน้าสาขาวิชาคอนเทนต์และสื่อดิจิทัล วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ดิจิทัล มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ในความเป็นวารสารศาสตร์ที่เป็นหัวใจหลักและสิ่งที่ต้องคงไว้คือ เรื่องของความจริง ข้อเท็จจริง หรือการแสดงความคิดเห็นที่มีพื้นฐานของความจริงตามจรรยาบรรณวิชาชีพ ไม่ว่าจะผลิตคอนเทนต์ในรูปแบบข่าว บทความ หรือสารคดี แต่สิ่งที่จะเพิ่มเข้ามาในความเป็นดิจิทัลคือ เรื่องของเทคนิคการนำเสนอคอนเทนต์ที่มีความหลากหลาย รอบด้าน และสามารถนำเสนอได้ในหลากหลายแพลตฟอร์ม เนื่องจากปัจจุบันสื่อเปลี่ยนไปหลากหลายรูปแบบ จากภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไปทำให้การผลิตคอนเทนต์เข้าใจความต้องการตลาดและมีรูปแบบที่โดนใจและตรงกับพฤติกรรมของผู้บริโภคมากขึ้น เนื้อหานั้นต้องมีความรวดเร็ว กระชับ และทันเหตุการณ์ ซึ่งการผลิตคอนเทนต์เพื่อนำเสนอในปัจจุบันสามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ นอกเหนือจากการเขียนข่าว บทความ และสารคดีแล้ว ในหลักสูตรใหม่จะเพิ่มเติมการเรียนการสอนที่ให้ผู้เรียนสามารถสร้างคอนเทนต์ที่หลากหลายได้มากขึ้น เช่น การเขียนรีวิว ในรูปแบบบทความหรือสารคดีสั้นๆ โดยใช้ภาษาง่ายๆ ตรงใจผู้เสพข่าวสาร การเขียนซีรีส์ การสร้างคอนเทนต์ที่เป็นเรื่องของความบันเทิง หรือการสร้างคอนเทนต์ให้น่าสนใจและมีผู้ติดตาม แต่ทั้งนี้สิ่งสำคัญที่จะยังคงไว้คือเรื่องของการผลิตคอนเทนต์อย่างมีจรรยาบรรณตามวิชาชีพของนักวารสารศาสตร์ เพื่อผลิตคนสร้างคอนเทนต์อย่างมืออาชีพต่อไป
อาจารย์วาจวิมล เดชเกตุ อาจารย์สาขาวิชาการภาพยนตร์ดิจิทัล วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ดิจิทัล มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ในวันที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาและเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนสำคัญในหลายวงการ การทำงานด้านสื่อก็ต้องปรับตัวตามยุคสมัยเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ฉะนั้น การเรียนการสอนด้านนิเทศศาสตร์ก็ต้องปรับเปลี่ยนตามด้วย ผู้เรียนจะไม่ใช่เรียนเพียงแค่รู้ในสิ่งที่ต้องรู้เพียงอย่างเดียว แต่จะต้องต่อยอดการเรียนรู้และมีจุดยืนในการผลิตสื่อ มีทักษะความรู้ความสามารถรอบด้านในการสร้างสรรค์ผลงาน สามารถเป็นนักนิเทศศาสตร์ที่ปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีบนโลกของสื่อดิจิทัลได้ และจะเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพของตลาดสื่อต่อไป
ดร.อานิก ทวิชาชาติ สาขาวิชาวิทยุและโทรทัศน์มัลติแพลตฟอร์ม วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ดิจิทัล กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการปรับหลักสูตรทางด้านนิเทศศาสตร์ให้มีความเป็นดิจิทัลมากขึ้น ในส่วนของผู้สอนที่ต้องปรับคือต้องคอยเป็นโค้ช กระตุ้นให้ผู้เรียนได้คิด พร้อมกับพัฒนาทักษะผู้เรียนให้รู้รอบด้าน สามารถผลิตสื่อเพื่อนำเสนอในแพลตฟอร์มต่างๆ ได้อย่างน่าสนใจและมีคุณภาพอย่างมืออาชีพ อย่างน้อยที่สุดคือเรียนจบไปแล้วสามารถมีทักษะติดตัวไปทำงานได้ และอีกสิ่งสำคัญคือผู้เรียนสามารถปรับตัวให้ก้าวทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีได้
"