นิเทศศาสตร์ ม.รังสิต จัดโครงการ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านสังคมพหุวัฒนธรรม

28 Feb 2019

 

     วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต จัดโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านสังคมพหุวัฒนธรรม มุ่งส่งเสริมให้นักศึกษาได้เรียนรู้วัฒนธรรมไทยที่หลากหลายอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะชุมชน ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์และสืบทอดวิถีชีวิตของชาวบ้านที่มีการอยู่ร่วมกันในลักษณะพหุลักษณ์ พหุวัฒนธรรมอย่างมีความสุข ผ่านการทำกิจกรรมร่วมกัน รวมทั้งส่งเสริมให้นักศึกษาได้รู้จักการนำความรู้ทางด้านนิเทศศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในการสื่อสารเพื่อพัฒนาชุมชน ณ ตำบลบ้านแหลม จังหวัดสุพรรณบุรี


     ดร.ชัชญา สกุณา อาจารย์วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะหัวหน้าโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านสังคมพหุวัฒนธรรม กล่าวว่า โครงการนี้วิทยาลัยนิเทศศาสตร์จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อให้นักศึกษาได้มีโอกาสนำทักษะความรู้ทางด้านนิเทศศาสตร์ไปประยุกต์ใช้กับการพัฒนาชุมชน การส่งเสริม และการสื่อสารวัฒนธรรมท้องถิ่น อย่างในปีนี้พานักศึกษาไปตำบลบ้านแหลม จ.สุพรรณบุรี เมื่อนักศึกษาได้ลงพื้นที่ไปสัมผัสวัฒนธรรมชุมชนด้วยตัวเองจะช่วยให้เขาเกิดกระบวนการเรียนรู้และการคิดต่อยอดได้ดีขึ้น โดยผลงานของนักศึกษาจะถูกจัดแสดงในนิทรรศการภายใต้โครงการอีกครั้งในช่วงเดือนเมษายนนี้


     นางสาวณฐพร นาคแก้ว นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาการประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้เข้าร่วมโครงการ กล่าวว่า โครงการฯ ดังกล่าวทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนที่ดำเนินอย่างเรียบง่ายและนำภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีมาแต่โบราณมาปรับใช้ในยุคปัจจุบัน สำหรับการลงชุมชนในครั้งนี้ ได้เรียนรู้วิถีต่างๆ ของชุมชนตำบลบ้านแหลม โดยชาวชุมชนเป็นผู้จัดทำฐานกิจกรรม 10 ฐาน เพื่อให้ผู้มาเยี่ยมชมได้เรียนรู้และได้ลงมือทำจริง อาทิ ธูปหลากสี น้ำพริกเผาโบราณทรงเครื่อง จักสานผักตบชวา ถักตะกร้าไหมญี่ปุ่น ฯลฯ ซึ่งสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเอง ครอบครัว และคนรอบข้างได้ เนื่องจากแต่ละฐานที่ได้เข้าชมและลงมือทำนั้นเป็นของใช้ หรืออาหารที่ทำทานกันเองภายในครอบครัวได้ สามารถแบ่งให้เพื่อนบ้านได้ รวมไปถึงสามารถนำไปค้าขายเพื่อให้เกิดรายได้เสริมได้ รวมไปถึงการได้เรียนรู้การคิดนอกกรอบ หรือวิธีการคิดของชาวชุมชนที่มีการพัฒนาสิ่งที่มีในอดีตให้เหมาะสมกับปัจจุบัน


     นายทศพร กานขุนทด นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชานิเทศศาสตร์การกีฬา วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวเพิ่มเติมว่า การเรียนรู้นอกห้องเรียนครั้งนี้ ทำให้ได้รู้ถึงวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบ้านทั้งด้านอาหารการกิน วิธีการทำขนมไทย และน้ำพริกสูตรโบราณ ซึ่งมีวิธีการทำที่มีเคล็ดลับโดยเฉพาะ อีกทั้งได้สัมผัสบรรยากาศความเป็นอยู่ของคนสมัยโบราณ ได้เห็นบ้านพักภายในชุนชมยังเต็มไปด้วยบ้านทรงไทยบ่งบอกถึงความเป็นไทยได้อย่างดี และการใช้ผักตบชวามาทำเป็นสินค้าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตะกร้าสร้างรายได้ให้ชุมชนได้อย่างมาก การเรียนรู้ครั้งนี้ได้ประโยชน์มากเพราะยุคสมัยเปลี่ยนไปไวมากทำให้เราไม่ค่อยมีโอกาสมาสัมผัสความเป็นไทยแบบนี้มากนัก การที่ผมและเพื่อนๆ ทั้ง 3 สาขาได้มาร่วมกิจกรรมทั้ง 10 ฐาน ที่ชุมชมบ้านแหลมครั้งนี้ สามารถนำสิ่งที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ได้หลายอย่าง เช่น วิธีการดับคาวของขนมที่ทำจากหน่อไม้ และวิธีการทำต่างๆสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับอาหารและขนมรูปแบบอื่นที่เข้ากับคนในตัวเมืองได้ด้วย”

"

ผู้จัดทำ

บทความที่คุณอาจสนใจ