AR & VR เทคโนโลยีเพื่อการสื่อสารการตลาดในยุคฐานวิถีชีวิตใหม่

16 Nov 2020

     จากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (Coronavirus Disease Starting in 2019 หรือ COVID-19) ที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมโลกและประเทศไทยเราในช่วงเวลานี้ หากมองในแง่ดีก็ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า นี่คือปัจจัยหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้คนไทยหันมาให้ความสำคัญกับเรียนรู้เกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับกิจกรรมต่างๆ ในการดำรงชีวิตของตนเองตามแนวทาง “ฐานวิถีชีวิตใหม่” (New Normal) มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อการทำงานที่บ้าน (work for home) การเรียนการสอนผ่านสื่อดิจิทัลและระบบออนไลน์ การทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันของธนาคารต่างๆ การจับจ่ายใช้สอยหรือซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านระบบออนไลน์ ตลอดจนการติดต่อสื่อสารผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ ผ่านอุปกรณ์การสื่อสารในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ (Computer) แท็บเล็ต (Tablet) ไอแพด (iPad) และโทรศัพท์มือถือ (Smartphone) เป็นต้น

      หากมองตามแนวฐานวิถีชีวิตใหม่ ที่ปรับเปลี่ยนไปตามวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ในมุมด้านการสื่อสารการตลาดแล้วนั้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นพฤติกรรมที่นักสื่อสารการตลาดควรจะต้องให้ความสำคัญและทำความเข้าใจเพื่อนำมาปรับใช้กับกิจกรรมสื่อสารการตลาดให้รับมือกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปได้ โดยสิ่งหนึ่งที่นักการสื่อสารการตลาดควรนำมาประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคนี้คือ การใช้ “เทคโนโลยี AR และ VR” เพื่อสร้างสรรค์กิจกรรมการสื่อสารการตลาดขององค์กรธุรกิจในปัจจุบันและอนาคต

     เทคโนโลยี Augmented Reality (AR) และ Virtual Reality (VR) เป็นเทคโนโลยีโลกเสมือนที่ออกแบบมาเพื่อช่วยเสริมสร้างประสบการณ์เสมือนจริงให้แก่ผู้ใช้โดยมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไปซึ่งขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งาน (มนชนก ช่อศรีงาม, 2563) โดยที่ Augmented Reality คือ เทคโนโลยีการนำวัตถุเสมือนที่สามารถเป็นได้ทั้งภาพ วิดีโอ หรือเสียงเข้ามาผสานกับสภาพแวดล้อมจริงที่อยู่รอบๆ ตัวเรา เพื่อนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับสินค้าและบริการต่างๆ ให้กับผู้บริโภค โดยที่ผู้บริโภคสามารถรับข้อมูลข่าวสารได้โดยอาศัยโทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์สื่อสารอย่างแท็บเล็ตหรือไอแพด เป็นต้น

ภาพ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AR เพื่อสร้างประสบการณ์ในการเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์ของบริษัท IKEA

(ที่มา : https://media.ikea.ch/pressrelease/smart-einrichten-mit-augmented-reality/2862/)

 

     ในขณะที่ Virtual Reality คือ เทคโนโลยีที่พยายามสร้างสภาพแวดล้อมเสมือนขึ้นมาใหม่เพื่อดึงให้ผู้ใช้งานออกจากโลกความจริง โดยสิ่งแวดล้อมเสมือนนี้อาจเป็นได้ทั้งภาพและเสียง ซึ่งอาจจะดูคล้ายหรือแตกต่างจากความเป็นจริงอย่างสิ้นเชิงก็ได้ โดยการใช้งานหรือรับชมเทคโนโลยี VR นั้น จำเป็นที่จะต้องใช้อุปกรณ์เฉพาะ คือ VR Headset เพื่อเข้าถึงโลกเสมือนที่สร้างขึ้นจากคอมพิวเตอร์

ตัวอย่าง การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี VR เพื่อการแสดงสินค้าหรือผลิตภัณฑ์

ที่มา : https://www.bangkokbanksme.com/en/vr-ar-technology-future

 

     สำหรับข้อดีของการนำเทคโนโลยี AR และ VR มาประยุกต์ใช้ในงานสื่อสารการตลาดนั้นก็มีอยู่ด้วยกันหลายประการ (STEPS ACADEM : 2563, Gaint Point : 2563) ได้แก่

     1. สร้างประสบการณ์และการมีส่วนร่วมระหว่างตราสินค้ากับผู้บริโภค ทั้งนี้เพราะเทคโนโลยี AR และ VR สามารถช่วยให้ผู้บริโภคได้รับประสบการณ์ใหม่ที่ทำให้สามารถทดลองหรือทดสอบสินค้าหรือบริการ เพื่อความมั่นใจให้กับผู้บริการก่อนตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น
     2. ช่วยให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าอย่างปลอดภัย เพราะผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องจับหรือสัมผัสสินค้าโดยตรง เนื่องจากไม่ต้องไปซื้อสินค้าถึงสถานที่จริง และยังช่วยลดความแออัดภายในร้านค้าได้ ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจในความปลอดภัยของตนเองได้
     3. ธุรกิจร้านค้าสามารถอำนวยความสะดวกแก่ผู้บริโภคได้ โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องมีพนักงานขาย เพราะลูกค้าสามารถลอง หรือหาข้อมูลง่ายๆ ด้วยการใช้แท็บเล็ตหรือแอปพลิเคชัน
     4. ช่วยเพิ่มความสามารถในการทำการสื่อสารการตลาดได้เป็นรายบุคคล (Personalization) การใช้เทคโนโลยี AR ทำให้ระบบสามารถบันทึกได้ว่าลูกค้าคนนั้นๆ ต้องการอะไร ซึ่งในจุดนี้จะช่วยเปิดโอกาสให้เราสามารถตอบสนองความต้องการลูกค้าได้แบบเฉพาะตัวบุคคลมากขึ้น
     5. ช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ให้กับองค์กรธุรกิจ สินค้าหรือบริการ การนำเทคโนโลยีมาใช้ในกิจกรรมการสื่อสารการตลาดสามารถช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์การเป็นองค์กรแห่งความทันสมัยให้เกิดขึ้นในการรับรู้ของผู้บริโภคได้  

บทความโดย: ดร.มัติกร บุญคง

อาจารย์ประจำสาขาวิชามัลติมีเดีย วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

- มนชนก ช่อศรีงาม. “ทำความรู้จักกับ AR และ VR และการนำไปใช้ในโลกธุรกิจ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://www.aware.co.th/ar-vr-ในโลกธุรกิจ. สืบค้นวันที่ 1 สิงหาคม 2563.

- Positioning. (15 เม.ย. 63) “เจาะลึก 4 พฤติกรรมที่จะกลายเป็น ‘New Normal’ของผู้บริโภคหลังจบ COVID-19”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://positioningmag.com/1273586. สืบค้นวันที่ 25 กรกฏาคม 2563.

- STEPS ACADEMY. (3 มิ.ย. 2563). “Augmented Reality เทคโนโลยีที่น่าจับตาแม้ในช่วงเวลาพ้นวิกฤต”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://stepstraining.co/social/facebook-ar-technology-for-shopping. สืบค้นวันที่ 27 กรกฎาคม 2563.

- Gaint Point Co., Ltd. (6 มิ.ย. 2563) “Virtual Reality Tour กับการนำไปใช้ประชาสัมพันธ์ธุรกิจแบบเสมือนจริง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://www.giant-point.com/virtual-reality-tour-การนำไปใช้ประชาสัมพันธ์/. สืบค้นวันที่ 8 สิงหาคม 2563.

 

 

 

 

 

 

 

"

ผู้จัดทำ

บทความที่คุณอาจสนใจ