อเมริกาเฟิร์ส!!!
การขึ้นนำชาติอื่นๆ อีก 212 ประเทศ ของสหรัฐอเมริกาในเวลานี้ ไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดีแต่อย่างใด หากแต่นี่คือตารางอันดับแห่งความหายนะจากโรคระบาด Covid-19 มิใช่ตารางอันดับเหรียญทองในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ที่ควรอุบัติขึ้น ณ แดนอาทิตย์อุทัยในปีนี้ตามที่มันควรจะเป็น และหากเรามองอันดับที่ต่ำลงไปอีก 9 อันดับ ล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มชาติมหาอำนาจที่มีความเก่งกาจด้านกีฬาแทบทั้งสิ้น ซึ่งแทนที่เราจะได้แสดงความยินดีกับการแข่งขันกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติในปีนี้ แต่เรากลับต้องมาหดหู่กับตารางอันดับผู้ติดเชื้อโรคระบาดที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น นั่นทำให้นับจากวันนี้ ทุกประเทศจะยังไม่สามารถจับมือกันได้ใน “โอลิมปิกเกมส์” หากยังไม่สามารถจัดการภารกิจ ร่วมกันพิชิตชัยใน “โควิดเกมส์” ให้ได้เสียก่อน

ภาพสถิติผู้ติดเชื้อทั่วโลก จาก www.thebangkokinsight.com
ผลกระทบของโรคระบาด Covid-19 ที่เริ่มก่อตัวในประเทศจีนตั้งเดือนธันวาคม 2562 ได้ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ภายในระยะเวลา 3-4 เดือน กว่า 200 ประเทศทั่วโลก ต้องเผชิญกับความยากลำบากในการใช้ชีวิต ธุรกิจการค้าเกิดการระส่ำอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ขณะที่ทีมแพทย์และระบบสาธารณสุขต้องทำงานอย่างหนักในการแก้ไขวิกฤตครั้งนี้ ผลกระทบนี้ไม่เว้นแม้แต่วงการกีฬา ที่จำเป็นต้องหยุดแข่งขันกีฬาทุกประเภททั่วโลกรวมไปถึงมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่างกีฬาโอลิมปิกเกมส์
หากไม่นับสงครามโลก ครั้งที่ 1 และ 2 ที่ทำให้กีฬาโอลิมปิกต้องถูกยกเลิกไปถึง 3 ครั้ง ครั้งนี้ไวรัส Covid-19 นับเป็นภัยคุกคามชนิดใหม่ที่โลกต้องเผชิญ และมีผลทำให้กีฬาโอลิมปิกไม่สามารถจัดการแข่งขันได้ตามกำหนด การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ครั้งที่ 32 นี้ ถูกจัดขึ้นภายใต้ชื่อ “Tokyo 2020” ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 2 ของประเทศญี่ปุ่นในการเจ้าภาพ หลังจากที่เคยจัดครั้งแรกในปี 1964 โดยก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นเคยประสบปัญหาในการเป็นเจ้าภาพมาแล้วในปี 1940 ที่ต้องถูกยกเลิกเพราะสงครามโลกครั้งที่ 2 และคราวนี้ประวัติศาสตร์คล้ายว่าจะซ้ำรอย แต่อย่างไรก็ตามการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2020 เป็นเพียงการเลื่อนไปแข่งกันในเดือนกรกฎาคม ปี 2021 แทนเท่านั้น

ภาพประกาศเลื่อนโอลิมปิก จาก https://tokyo2020.org
ความเคลื่อนไหวของวงการกีฬาทั่วโลกในช่วงนี้ เราได้เห็นการลุกขึ้นมามีบทบาทในการต่อสู้กับภัยร้ายร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคเงินของนักกีฬา การยอมลดค่าจ้างเพื่อลดภาระด้านเศรษฐกิจของสโมสร ขณะที่ในที่อังกฤษฟุตบอลเป็นส่วนหนึ่งของสังคม นักกีฬาก็กลับมาช่วยเหลือสังคมเป็นการตอบแทน โดยตัวแทนนักฟุตบอลได้ก่อตั้งโครงการเพื่อช่วยเหลือ NHS (หน่วยงานสุขภาพของอังกฤษ) ในวิกฤต Covid-19 ที่กำลังแพร่ระบาดอย่างหนักหน่วง
สำหรับในประเทศไทยเราได้เห็นทีมฟุตบอลไทยลีกมีการปรับเปลี่ยนโลโก้ทีม เพื่อร่วมรณรงค์การสวมสวมหน้ากากอนามัย มีการนำรถพ่นฉีดยาฆ่าเชื้อในพื้นที่ อีกทั้งผู้ผลิตเสื้อผ้ากีฬาก็หันมาผลิตหน้ากากอนามัยเพื่อบรรเทาความขาดแคลนในตลาด
ขณะที่งานด้านสื่อมวลชนกีฬา ก็มีความยากลำบากในการนำเสนอข่าวสารในช่วงที่ไม่มีการแข่งขันกีฬา ที่ทำได้ก็เพียงรายงานข่าวความเคลื่อนไหว ข่าวการย้ายทีม และเรื่องทั่วไปของสโมสรต่างๆ แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีประเด็นที่น่าสนใจ คือการนำ E-Sport เข้ามามีบทบาทในการร่วมสร้างความบันเทิงให้กับแฟนกีฬาทดแทนการแข่งขันกีฬาจริงๆ ที่ขาดหายไป โดยเพจกีฬาดังของไทยรายหนึ่งได้ทำการจัดแข่งขันฟุตบอลยูฟ่าแชมเปี้ยนลีกส์ตามโปรแกรมแข่งจริง แต่เป็นการแข่งขันผ่านเกมที่บังคับโดย AI (Artificial Intelligence) ทั้งยังมีการพากย์สดแบบสมจริง และเช่นเดียวกับบริษัทไทยลีกที่เพิ่งประกาศเลื่อนการแข่งขันไปแข่งใหม่ในเดือนกันยายน ก็ได้มีการจัดแข่งฟุตบอลศึก E-Sport รายการ THAI LEAGUE LOCKDOWN TOURNAMENT ที่ใช้ทีมในไทยลีกลงแข่งขันในเวอร์ชั่นเกม และมีแพร่ภาพการแข่งขันแบบสดๆ ผ่านโซเชียลมีเดีย โดยที่สื่อมวลชนเองก็ได้มีการรายงานข่าวการแข่งขันฟุตบอลอีสปอร์ตรายการนี้ ไม่ต่างจากการรายงานข่าวการแข่งขันจริงอีกด้วย

ภาพข่าวการแข่งขัน TL Lockdown จาก https://thaileague.co.th
ทุกๆ ส่วน “การรวมพลังเป็นหนึ่ง” คืออุดมการณ์ของกีฬา เราสามารถรวมพลัง ร่วมมือกันตามเจตนารมณ์ของการกีฬาได้โดยนำแนวคิดกีฬามาปรับใช้ในการต่อสู้กับภาวะวิกฤตนี้ ตามที่เกษม นครเขตต์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือศิลปะแห่งกีฬาว่า หากมองกีฬาในเชิงรูปแบบ (Pattern) ก็อาจจะเข้าใจได้ว่ากีฬา คือ การแข่งขันเพื่อผลแพ้-ชนะ (Competitive) แต่หากลองพิจารณาในเชิงกระบวนการ (Process) ของการแข่งขันกีฬาแล้ว จะมองเห็นถึงกระบวนการของความร่วมมือ (Co-operative) ของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย นับตั้งแต่ประชาชน ชุมชน ท้องถิ่น ตั้งแต่ระดับลูกจ้างถึงระดับผู้บริหาร ที่มีกระบวนการในลักษณะของการประสานงาน ร่วมแรงร่วมใจเพื่อให้การแข่งขันนั้นสำเร็จลุล่วง ซึ่งจากหลักการนี้ หากสามารถนำมาปรับใช้จริงกับสังคมในสถานการณ์โรคระบาดในปัจจุบัน อาจช่วยให้โลกผ่านวิกฤตนี้ไปได้เร็วขึ้น
ในวันนี้ แทนที่เราจะเห็นการเตรียมทีมของนักกีฬาแต่ละชาติสำหรับโอลิมปิก แต่เรากลับเห็นการรวมทีมกันของบุคลากรทางการแพทย์พาเหรดกันลงสนามเผชิญหน้ากับเชื้อโรคร้าย ยามที่โลกต้องเผชิญกับโรคระบาดที่เป็นภัยคุกคามต่อมนุษยชาติ เป็นเรื่องที่แต่ละประเทศต้องให้ความร่วมมือ ดังจะเห็นได้ว่าหลังจากความตึงเครียดในประเทศจีนลดลง จีนเริ่มส่งบุคลากรทางการแพทย์เพื่อช่วยเหลือชาติอื่น พร้อมผลิตยาและเวชภัณฑ์ส่งออกไปยังนานาประเทศ เราเห็นนักธุรกิจระดับโลกโดดลงมาสนับสนุนด้านทรัพยากรเพื่อต่อต้านกับโรคร้าย เราเริ่มจะเห็นความเป็นทีมเวิร์คของเพื่อนร่วมโลก ที่ต่างหยิบยื่นความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ในบ้านเรา เราได้เห็นบทบาทนอกสนามขององค์กร สโมสร นักกีฬา และสื่อมวลชนในการช่วยเยียวยาสังคม ทั้งในเรื่องทรัพยากรและสภาพจิตใจ สิ่งเหล่านี้นับเป็นเพียงแค่เศษเสี้ยวหนึ่งของส่วนประกอบทั้งหมดของสังคมเท่านั้น ประเทศยังต้องการการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนอื่นๆ ที่จะเข้ามาช่วยกันคนละไม้คนละมือเพื่อนำพาประเทศให้ผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน
หากจะเปรียบการเผชิญกับภัยโรคระบาดในครั้งนี้เป็นการแข่งขันกีฬา ผู้ที่ถูกกำหนดหน้าที่ให้ลงไปต่อสู้ในสนามก็คือทีมแพทย์ พยาบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่รับบทบาทลงไปเป็นผู้เล่นประจำตำแหน่งต่างๆ ซึ่งต้องลงไปรับผิดชอบหน้าที่ตามแผนการเล่นที่กำหนดไว้ ขณะที่ประชาชนก็เปรียบเป็นกองเชียร์ ที่ในภาษาฟุตบอลเรียกกันว่าเป็น “ผู้เล่นคนที่ 12” ที่จะต้องคอยเอาใจช่วย คอยสนับสนุน ส่งเสียงเชียร์ให้กำลังใจนักกีฬาเพื่อให้พวกเขามีพลังต่อสู้จนสุดความพยายาม เป็นกองเชียร์ที่มีระเบียบวินัย ทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด สุดท้ายแม้เราจะต้องสูญเสียบ้าง แต่เชื่อว่าการรวมพลังเป็นทีมเดียวกันอย่างเข้มแข็ง จะทำให้ “ทีมไทยแลนด์” ประสบความสำเร็จในที่สุด
ถึงแม้อุดมการณ์ของกีฬา ที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วม การมีวินัย การยอมรับซึ่งกันและกัน จะไม่ถูกแสดงออกผ่านกีฬาโอลิมปิกเกมส์ในปีนี้ แต่มันจะแสดงให้เห็นได้ในชีวิตจริง หากทั้งโลกได้หันมาจับมือกัน คนในประเทศเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และนั่นก็จะเป็นหนทางสู่การพิชิตชัยในศึก “โควิดเกมส์”

เรียบเรียงโดย: อาจารย์นฤนาถ ไกรนรา
หัวหน้าสาขาวิชานิเทศศาสตร์การกีฬา วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
- เกษม นครเขตต์. ศิลปะแห่งกีฬา (The Art of Sports). พิมพ์ครั้งแรก. นครปฐม: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, 2555.
- เดอะ บางกอก อินไซด์. อัพเดทสถานการณ์ ไวรัสโควิด-19 วันที่ 15 เมษายน 2563. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก www.thebangkokinsight.com/334467, วันที่สืบค้น 14 เมษายน 2563.
- ไทยลีก. เผยโฉม 12 แข้ง เข้าร่วมชิงชัยใน TL LOCKDOWN SEASON 2. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก https://thaileague.co.th/news, วันที่สืบค้น 14 เมษายน 2563.
- The Tokyo Organising Committee of the Olympic and Paralympic Games. New dates: 23 July to 8 August 2021. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก https://tokyo2020.org/en/news/new-dates-tokyo-2020, วันที่สืบค้น 14 เมษายน 2563.
"