จากสถานการณ์การแผ่ระบาดของโรคโคโรนาไวรัส หรือ Covid-19 ที่กำลังเป็นวิกฤตการณ์ทางสาธารณสุขของโลก ในขณะเดียวกันก็เป็นวิกฤตการณ์การสื่อสารไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ผู้นำบางประเทศไม่ได้ให้ความสำคัญมากนักในขณะที่บางประเทศมีมาตรการการจัดการที่เด็ดขาด ประกอบกับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเชื้อ Covid-19 เป็นเรื่องใหม่สำหรับชาวโลก และมีแหล่งข่าวสารที่ให้ข้อมูลแตกต่างกันซึ่งในหลายกรณีข้อมูลก็ขัดแย้งกันเองแม้ว่าข้อมูลเหล่านั้นจะมาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ดังเช่น มาตรการเกี่ยวกับการใช้หน้ากากอนามัย ความรุนแรงของโรคและการแพร่ระบาด ซึ่งยังไม่รวมกับปัญหาข่าวปลอมที่เข้ามาสร้างความสับสนให้กับประชาชน ในขณะที่ระดับความรู้เท่าทันสื่อและฐานความรู้เดิมที่จะต่อยอดทำความเข้าใจเรื่อง Covid-19 ก็ยังมีความแตกต่างกันอย่างมากในสังคมไทย
ปัญหาสำคัญประการหนึ่งในแง่ของการสื่อสาร ณ จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ ดารานักแสดงบางคนที่ติดเชื้อไวรัสดังกล่าวได้ออกมา “กล่าวขอโทษ” ต่อสังคมและสื่อได้มีการแพร่กระจายข่าวไปทั้งในสื่อมวลชนและสื่อสังคมออนไลน์เหมือนกับทำให้สังคมเข้าใจไปว่าผู้ที่ติดเชื้อ Covid-19 เป็นผู้ “กระทำผิด” ต่อสังคม ซึ่งอาจเป็นผลมาจากวิธีการแพร่กระจายเชื้อที่ผู้ติดเชื้อไม่อาจรู้ตัวในช่วงแรกและได้แพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นจนทำให้เกิดสำนึกว่าตัวเองเป็นผู้กระทำความผิดจึงต้องออกมาขอโทษต่อสังคม จนกลายเป็นประเด็นทางสังคมว่าผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อจะต้องกักตัวเองเพราะฉะนั้นคือวิธีการรับผิดชอบต่อสังคม ในขณะที่ผู้ติดเชื้อจำนวนไม่น้อยถูกสังคมตั้งแง่รังเกียจ มีการรายงานข่าวเปิดเผยให้รู้ถึงตัวตนของผู้ติดเชื้อโดยไม่ระมัดระวังเรื่องสิทธิของผู้ป่วยและสิทธิข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล จนทำให้ผู้ที่มีอาการต้องสงสัยว่าติดCovid-19 เกิดความหวาดระแวงจนไม่กล้าเปิดเผยตัวเองต่อสาธารณะ
สื่อและสังคมออนไลน์ได้สร้างภาพตายตัว (Stereotype) ให้กับผู้ติดเชื้อ Covid-19 เสมือนว่าเขาผู้นั้นเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตสังคมและผู้คนที่อยู่รอบข้าง ทำให้คนในสังคมเกิดภาพลักษณ์เป็นจินตนาการว่าผู้ติดเชื้อคือภัยใกล้ตัวโดยเชื่อมโยงกับมโนทัศน์จากภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์ (Sci-fi) ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่เคยรับชมมาก่อน รวมกับข่าวลวง คลิปวีดิทัศน์ต่าง ๆ แล้วเกิดความเชื่อว่า Covid-19 คือปีศาจร้ายที่คุกคามชีวิตของพวกเรา ในแง่ของการสื่อสารเราเรียกปรากฎการณ์นี้ว่า “การเหมารวม” หากพิจารณาในแง่ดีคือกลไกในการกระตุ้นให้ทุกคนรู้จักป้องกันตัว แต่ในอีกแง่หนึ่งการเหมารวมเป็นเสมือนตราบาปทางสังคมที่ทำให้คนบางคนถึงกับยอมฆ่าตัวตายเพื่อหลีกหนีจากสภาวะที่ถูกสังคมรังเกียจดังที่ปรากฎเป็นข่าวทั้งในและต่างประเทศ
จากภาพที่ปรากฎทำให้ภาพลักษณ์ของผู้ติดเชื้อ Covid-19 เป็นส่วนผสมระหว่างอาการเจ็บป่วยทางกายและสภาพจิตใจที่ย่ำแย่ทั้งของผู้ป่วยเองและคนรอบข้าง ปัญหาที่ตามมาในเชิงสังคมที่น่ากลัวกว่าตัวโรคคือปัญหาภาพลักษณ์ของผู้ป่วยที่กระทบต่อจิตใจทั้งตนเองและคนรอบข้าง ทันทีที่องค์กรใดพบว่ามีคนติดเชื้อ Covid-19 ก็เสมือนว่าองค์กรนั้นเสียชื่อเสียง ซึ่งภาพลักษณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับกับภาพลักษณ์ใด ๆ ต่อองค์กร หากแต่นั่นคือแนวปฏิบัติปกติเพื่อแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม
หลักการที่สำคัญในการเปลี่ยนภาพลักษณ์ในฐานะที่ภาพลักษณ์เป็นความรู้ที่มีความเป็นอัตวิสัย (Subjetive knowledge) นั่นหมายความว่าการเปลี่ยนภาพลักษณ์คือการเปลี่ยนความรู้ไปยังประชาชน แม้ในขณะนี้ผู้ที่ได้รับการรักษาและได้รับผลตรวจยืนยันว่าปลอดเชื้อ Covid-19 แล้ว มีความปลอดภัยที่จะกลับเข้าไปอยู่กับครอบครัวแต่ต้องกักตัวเองต่ออีก 14 วัน ซึ่งในช่วงเวลานี้เขาเหล่านั้นจะไม่สามารถแพร่เชื้อไปสู่บุคคลอื่นได้ ปัญหาคือได้พบว่าบางชุมชนตั้งแง่รังเกียจผู้ที่กลับเข้ามากักตัวดังกล่าว แม้ความรู้ในทางการแพทย์จะยืนยันถึงความปลอดภัยต่อชุมชนแต่ภาพลักษณ์ของผู้ป่วย Covid-19 ยากที่จะลบล้างไปเนื่องจากภาพลักษณ์ได้ถูกตีตราไปแล้วถึงความน่ากลัวที่อาจจะเกิดขึ้น กระบวนการนี้ถือเป็นกระบวนการรับรู้ การเลือกการตีความสารสนเทศผ่านประสบการณ์เดิมของบุคคล ซึ่งการรับรู้ดังกล่าวเป็นกระบวนการเลือกสรรที่มีแนวโน้มว่าคนจะเลือกรับรู้และตีความในสิ่งที่สอดคล้องกับประสบการณ์เดิม ข้อมูลใด ๆ ที่มาทีหลังอาจถูกลบล้างความเชื่อเดิมได้ยากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในท่ามกลางสังคมข่าวสารที่มีทั้งอำนาจการเมืองเป็นตัวกำหนดการรับรู้ กระแสข่าวลวงที่มีมาอย่างต่อเนื่อง เหล่านี้ย่อมส่งผลต่อการกำหนดท่าที และพฤติกรรมการแสดงออกของคนในชุมชนต่อผู้ที่กลับจากการรักษาตัว
สิ่งที่สังคมต้องทบทวนในเรื่องนี้อย่างเร่งด่วนคือ มุมมอง ท่าที และพฤติกรรมการแสดงออกต่อผู้ที่กลับสู่ครอบครัวและชุมชน เมื่อผู้ติดเชื้อได้เริ่มกักตัวสังเกตอาการ มีการปิดประกาศหน้าบ้านว่าอยู่ระหว่างการกักตัว จนเข้าสู่กระบวนการรักษาโดยไม่ได้มีการปิดบังข้อมูลใด ๆ มีการแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อทำการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อถือเป็นการแสดงออกถึงการรับผิดชอบต่อสังคม ต่อมาเมื่อได้เข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง จนกระทั่งแพทย์ได้ออกใบรับรองว่าไม่พบเชื้อดังกล่าวในร่างกายแล้ว แต่จะต้องกักตัวอยู่ที่บ้านต่ออีก 14 วัน ประเด็นที่ควรจะเป็นต่อมาคือ ชุมชนรอบข้างจะต้องไม่แสดงความรังเกียจตลอดจนต้องให้กำลังใจต่อผู้ที่ผ่านการรักษาแล้ว แต่หากเป็นในเชิงตรงกันข้าม เช่นมีการกีดกัน แสดงความรังเกียจ สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาในสังคมคือเป็นการสร้างตัวอย่างที่จะทำให้ผู้ติดเชื้อหรือผู้ที่ต้องกักตัวเองไม่กล้าเปิดเผยตัวและในที่สุดจะนำสู่การระบาดมากยิ่งขึ้น
การตั้งข้อรังเกียจต่อผู้ที่กลับจากการรักษาย่อมไม่ต่างจากการที่ชุมชนรังแกผู้ป่วย แม้ว่าผลพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์จะยืนยันแล้วว่าปลอดภัยแต่ผลทางจิตวิทยาสังคมถือเป็นการทำร้าย การตีตราบาปที่รุนแรงกว่าและจะนำไปสู่ตัวอย่างที่ทำให้คนอื่น ๆ อาจต้องปกปิดตัวเองและท้ายที่สุดเกิดผลเสียกับสังคมโดยรวม ดังนั้นพวกเราต้องทบทวนตั้งสติและอยู่บนฐานข้อมูลที่ถูกต้องในการต้อนรับผู้ที่กลับเข้ามาสู่บ้าน ชุมชน ซึ่งเป็นพื้นที่ของความรักความอบอุ่นและความปลอดภัย ลองนึกดูว่าถ้าคน ๆ นั้นเป็นคนในบ้านของเราแล้วเพื่อนบ้านตั้งท่ารังเกียจบนพื้นฐานของความไม่เข้าใจ Covid-19 ประเด็นนี้จะเปลี่ยนจากการป่วยทางกายไปสู่ “มะเร็งระยะสุดท้ายทางสังคม” หากทุกคนเข้าใจ ให้เกียรติในคุณค่าของความเป็นมนุษย์ย่อมที่จะทำให้เราฝ่าฝันวิกฤติร้ายครั้งนี้ไปด้วยกัน

เรียบเรียงโดย: ดร.ณชรต อิ่มณะรัญ
วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
"