ในวันที่เชื้อโรคอย่างไวรัสโคโรน่าออกระบาด การอยู่นอกบ้านล้วนเต็มไปด้วยความเสี่ยงทั้งต่อตนเองและเสี่ยงต่อสังคม ใครจะคิดฝันว่าสถานการณ์อย่างวันนี้จะมาถึง วันที่เราต้องพยายามเก็บตัวอยู่แต่ในบ้านให้ได้มากที่สุด วันที่การอยู่บ้านจะสามารถหยุดเชื้อเพื่อชาติได้ จึงทำให้หลายบริษัท หลายองค์กร และสถาบันการศึกษาต้องตอบรับนโยบายชาติ ปรับเปลี่ยนการทำงานหรือการเรียนเป็นแบบ work from home เท่ากับเราจะได้อยู่บ้านกันแบบยาวๆ หลายคนก็มีอะไรให้ทำมากมาย แต่อีกหลายคนก็คงต้องพึ่งพาเพื่อนคลายเหงาอย่าง “โทรทัศน์” แม้ว่าการเปิดโทรทัศน์บางบ้านก็เปิดทิ้งไว้เป็นแบคกราวด์ แต่ก็ต้องยอมรับว่าเราได้บริโภคเนื้อหามากมายผ่านแม้จะตั้งใจชม หรือไม่ได้ตั้งใจชมก็ตาม
“แต่พอจะเชื่อมโยงเหตุผลได้ไม่ยากนักว่าเรตติ้งที่พุ่งขึ้นนี้ ก็มาจากการอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาตินี่แหละ”
เช่นเดียวกับบ้านผม เพราะกลัวว่าบ้านจะเงียบเกินไป แต่อันที่จริงก็เป็นแบบนี้มาตั้งแต่ไหนแต่ไร ที่เราจะเปิดทีวีเมื่อเราตื่นนอน และปิดเมื่อจะนอน ตั้งแต่ 7 โมงเช้า ไปจนถึง 5 ทุ่ม 16 ชั่วโมงต่อวัน ตั้งแต่ข่าวเช้า ข่าวเที่ยง ข่าวเย็น ข่าวดึก รายการวาไรตี้(ขายของ) ไปจนถึงละครเช้า บ่าย เย็น ค่ำ ดูบ้าง ไม่ดูบ้าง แต่ก็เปิดไว้แบบนั้นแต่พอได้เห็นเรตติ้งทีวีในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ก็พบว่า มีแนวโน้มสูงขึ้น แม้จะขึ้นๆ ลงๆ ในรอบวันเป็นระลอก แต่พอจะเชื่อมโยงเหตุผลได้ไม่ยากนักว่าเรตติ้งที่พุ่งขึ้นนี้ ก็มาจากการอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาตินี่แหละ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ดี ที่เรตติ้งทีวีกลับมาดีขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่คนเมืองส่วนใหญ่ใช้เวลานอกบ้านกับโซเชียลมีเดียกันมากใน 3-4 ปีมานี้ แต่เอาเข้าจริงคนทำงานทีวีเองกลับเจอปัญหาเข้าอย่างจัง ไม่ว่าจะเป็นคนเบื้องหน้า และคนเบื้องหลัง
เมื่อพิษโควิด-19 ลุกลามคนทีวี
คนเบื้องหน้า ก็เจอพิษ COVID-19 ไปเต็มๆ ไม่นับคนที่ติดเชื้อเข้าโรงพยาบาล หรือ คนที่สุ่มเสี่ยงต้องกักตัวเท่านั้น แต่เพราะงานของทีวีคือการรวมตัว เจอผู้คน งานต่างๆ อีเวนท์ คอนเสิร์ต ต่างถูกยกเลิกไปหมด ทำให้คนเบื้องหน้า ศิลปิน ดาราแทบจะต้องอยู่บ้านไปโดยปริยาย ด้านคนเบื้องหลังเองก็หนักใช่เล่น เพราะไม่ว่าจะเป็นรายการเกมส์โชว์ กองถ่ายทำละคร ภาพยนตร์ ซีรีย์ต่างๆ ที่ต้องอาศัยคนทำงานจำนวนมาก ก็ต้องยกเลิกไปตามกัน คงเหลือแต่รายการที่ใช้ทีมงานจำนวนไม่มาก เช่น รายการข่าว หรือรายการที่ใช้พิธีกร ผู้ประกาศ ไม่กี่คน ที่ยังคงพยายามสร้างคอนเทนต์กันต่อไป แม้แต่การสัมภาษณ์แขกรับเชิญยังไม่สามารถทำได้แบบตัวต่อตัว เพราะศิลปินดาราเองก็ไม่พร้อมที่จะออกมาเสี่ยงกับสถานการณ์โควิดนี้เหมือนกัน ทำได้เพียงวิดีโอคอลผ่านรายการเท่านั้น จนกลายเป็นสภาวะสวนทางกันระหว่าง Demand กับ Supply ที่คนได้มีโอกาสดูทีวี แต่คนทำงานทีวีกลับอยู่ในสถานการณ์ที่สร้างสรรค์อะไรไม่ได้เท่าไร
การรีรันจะใช่ทางรอดหรือไม่
ย้อนกลับไปดูเรื่องละครกันอีกที แม้ว่าสงครามแย่งชิงเรตติ้งของทีวีหลายช่อง ใช้คอนเทนต์ละครเป็นแม่เหล็กดึงดูดผู้ชม แต่อย่างที่ได้บอกไปแล้วว่า การทำงานที่ต้องใช้คนมากๆ อย่างกองถ่ายละคร จำใจต้องยกเลิกกันไปถ้วนหน้า บางช่องโชคดีที่ละครมีในสต็อกรอออกอากาศค่อนข้างมาก แต่บางช่องใช้วิธีถ่ายไป ออกอากาศไป ก็ต้องถึงกับหยุดกลางคัน ก็เท่ากับว่าช่องทีวีกำลังมีปัญหาสินค้าหมดแผง ก็ถึงเวลาที่ต้องเอาละครเก่ามารีรันอีกครั้ง ปกติแล้วการรีรันละครมักจะเกิดขึ้นช่วงวันหยุดยาวๆ อย่างสงกรานต์ เพราะคนไม่ค่อยอยู่บ้านดูทีวี ออกไปสังสรรค์ เที่ยวเล่นนอกบ้าน การจะปล่อยละครใหม่ๆ ออกอากาศก็ดูจะเสียของ แต่คราวนี้คนดูรอดูแต่ไม่มีของให้ดู อันนี้ก็แย่พอสมควร แต่การนำละครมารีรันในช่วงอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ นี้ก็อาจจะไม่ได้แย่เสมอไป เพราะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีหลายๆ ช่องได้นำละครมารีรันกันบ้างแล้ว หันไปดูผล เรตติ้งการรับชม ก็ถือว่าไม่แย่เลยทีเดียว ยกตัวอย่างช่อง 7 ที่ได้นำละครคอมเมดี้ สนุกสนาน “ผู้บ่าวอินดี้ ยาหยีอินเตอร์” ที่เพิ่งจะออกอากาศไปเมื่อปีที่แล้ว กลับมารีรันซ้ำอีกครั้ง ก็สร้างเรตติ้งได้ถึง 5.872 น้อยกว่าการออกอากาศครั้งแรกเมื่อปีที่แล้วเพียงเล็กน้อย ด้านช่องวันเองก็เตรียมละคร “ใบไม้ที่ปลิดปลิว” ต่อแถวรอรีรัน ซึ่งก็ต้องติดตามดูว่า ในสถานการณ์แบบนี้การรีรันละครจะประสบความสำเร็จหรือไม่
ขอบคุณภาพ: Facebook.com/เขวี้ยงรีโมท
ออกกองไม่ได้ จะทำอย่างไรกันดี
ไม่เพียงแค่กองถ่ายละครจะมีปัญหา การถ่ายทำรายการเกมส์โชว์ ที่ก่อนหน้านี้เป็นสินค้าอีกชิ้นที่ทำรายได้ให้กับทีวี ก็ต้องเป็นอันยกเลิกกันไปแทบแถวเช่นกัน ได้มีโอกาสสอบถามเพื่อนๆ น้องๆ ที่เป็นทีมงานในหลายรายการ ก็บอกเหมือนกันว่า ตอนนี้ยังพอมีเทปสต็อกให้ออกอากาศได้สักระยะหนึ่งซึ่งอาจไม่เกินสิ้นเดือนเมษายน แต่หากสถานการณ์ยังไม่ปกติ ก็คงต้องใช้กลยุทธ์หยิบของเก่ามาเล่าใหม่ อีกเช่นกัน แต่ที่น่าห่วงไปกว่านั้นคือ ระยะหลังๆ มานี้ หากเราพอจะสังเกตกันได้ก็จะพบว่า องค์ประกอบหนึ่งในรายการเกมส์โชว์ที่จะมีลักษณะคล้ายๆ กันในทุกๆ ช่อง คือ ผู้ชมรายการ บางรายการถือว่าเป็นองค์ประกอบหลักเลยทีเดียว เพราะคนดูในสตูดิโอต้องมีส่วนร่วมต่อรายการ เช่น ร่วมทายโหวตให้คะแนน หรือร่วมแข่งขัน ซึ่งต้องใช้คนหลายสิบคน หรือ บางรายการใช้ถึงร้อยคน ก็ทำให้ต้องเป็นอันยกเลิกการบันทึกเทปกันไปตามๆ กัน แต่หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น หรือยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์กันไปยาวๆ หลายเดือน ดูท่ารายการลักษณะนี้คงต้องกลับไปเปลี่ยนรูปแบบกันอย่างจริงจัง
ขณะที่บางรายการอาจปรับประยุกต์รูปแบบบางอย่างให้การถ่ายทำสามารถทำได้ง่ายขึ้น ไม่สุ่มเสี่ยงต่อสถานการณ์โควิด เช่น รายการ DAVINCI เด็กถอดรหัส ก็เปลี่ยนวิธีการจากเดิมที่ต้องมีเด็กมานั่งในรายการหลายๆคน คราวนี้เปลี่ยนมาเป็น เลือกมานั่งแค่คนเดียว (แต่ความเป็นจริงต่อให้มาแค่คนเดียวก็ยังเสี่ยงอยู่ดี) หรือ รายการวาไรตี้ รายการสัมภาษณ์ หลายๆรายการก็งดการสัมภาษณ์แขกรับเชิญเป็นเผชิญหน้า เปลี่ยนเป็นสัมภาษณ์ผ่านวิดีโอคอล หรือเปิดคลิปพูดคุยของแขกรับเชิญแทน หรือใช้วิธีส่งทีมงานเข้าไปสัมภาษณ์ที่บ้านแค่คนหรือสองคนเท่านั้น
ในด้านของรายการเล่าข่าวต่างๆ พิธีกร ผู้ประกาศก็ยังคงต้องทำงานกันต่อไป เพราะนี่คงเป็นคอนเทนต์เดียวที่จะสามารถตรึงกำลังสร้างเรตติ้งให้กับสถานีต่อไปได้ แม้ว่าการทำงานจะอยู่บนความเสี่ยงก็ตามที การนั่งหรือยืนคุยกันในระยะประชิดก็ต้องเปลี่ยนไปเป็นทิ้งระยะห่างทางสังคม เว้นว่างห่างกันคนละฟากเพื่อให้เกิดความปลอดภัยและเป็นตัวอย่างให้แก่ผู้ชมด้วย หรือบางรายการก็ให้พิธีกรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกัน แต่เสียงพูดก็ดูจะอู้อี้ไม่น้อย หรือเหนือไปกว่านั้น บางรายการก็ปรับแผนการทำงานมาเป็นทำรายการแบบ work from home ที่เห็นชัดๆ ก็คือ รายการข่าวสามมิติ ของคุณกิตติ สิงหาปัด ช่อง 3 ยกสตูดิโอมาไว้ที่บ้านให้คนดูเห็นถึงการปรับตัวอย่างชัดเจน
ขอบคุณภาพ www.posttoday.com เเละ MGROnline
นี่เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของผลกระทบเชื้อโรคร้ายที่ทุกคนต่างต้องเผชิญ ต้องเรียกว่าเป็นสถานการณ์ที่กระท่อนกระแท่นอีกสถานการณ์หนึ่ง (รองลงมาจากน้ำท่วม ปี ‘54) ซึ่งก็คงต้องเฝ้าดู กันต่อไปว่าคนทำงานสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะคนทีวี จะเป็นอย่างไร หากมาตรการของรัฐเพิ่มความเข้มข้นขึ้นกว่าเดิม คนทำงานทีวีจะต้อง “ทู่ซี้” กับสถานการณ์หวานอมขมกลืนเช่นนี้ เช่นไรเพราะถึงอย่างไรการบริโภคข่าวสาร หรือสาระความบันเทิงก็เป็นสิ่งสำคัญของมนุษย์ยุคนี้ แต่ไม่ว่าคนทีวีจะต้องเจอกับความยากลำบากแค่ไหน ยังไงก็เชื่อว่าเราจะสามารถผ่านพ้นไปได้ เพราะพื้นฐานของการทำงานบนหน้าจอทีวี ก็คือความคิดสร้างสรรค์ และการยืดหยุ่นลื่นไหลต่อสถานการณ์ต่างๆ จะเป็นอาวุธที่จะทำให้คนทีวีผ่านพ้นวิกฤตนี้ เหมือนจะไม่เจอทางออกแต่ก็จะไม่มีทางตันแน่นอน ก็คงต้องให้กำลังใจคนทำงานทีวีกันต่อไป รวมทั้งให้กำลังใจกันและกันในทุกอาชีพ ให้เราสามารถผ่านพ้นวิกฤตอันเลวร้ายนี้ไปได้ด้วยกัน
เรียบเรียงโดย: ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรวุฒิ อ่อนน่วม
วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
รายการอ้างอิง
https://www.tvdigitalwatch.com/top10-primetime-rating-30-3-63/
https://www.facebook.com/Kwiangremote
https://www.posttoday.com/ent/news/619393
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000032632
"