วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต จัดโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านสังคมพหุวัฒนธรรม ประจำปี 2563 มุ่งให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้วัฒนธรรมไทยที่มีความหลากหลาย รู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นไทย และร่วมกันรักษาวัฒนธรรมท้องถิ่นให้คงอยู่อย่างยั่งยืน ผ่านการอบรมและการทำกิจกรรม ณ อาคารดิจิทัล มัลติมีเดีย คอมเพล็กซ์ ม.รังสิต
ดร.ชัชญา สกุณา หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า “โครงการนี้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยมุ่งให้นักศึกษาที่เกิดการเรียนรู้และตระหนักถึงคุณค่าของวัฒนธรรมไทยที่มีความหลากหลายและมีเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น โดยสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการส่งเสริมและรักษาวัฒนธรรมท้องถิ่นไทยให้คงอยู่อย่างยั่งยืน ด้วยการทำหน้าที่เป็นสื่อที่ช่วยเผยแพร่และอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย ซึ่งปกติจะพานักศึกษาไปศึกษาวัฒนธรรมท้องถิ่นในพื้นที่จริง แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ในปีนี้ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดกิจกรรมในมหาวิทยาลัยแทน โดยได้รับเกียรติจาก ดร.พธู คูศรีพิทักษ์ ประธานกลุ่มพันธกิจวัฒนธรรมสถานบริรักษ์ (iCulture) สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นวิทยากรในการบรรยายเรื่อง ชุมชนหลักหกกับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน ให้กับนักศึกษา”
สำหรับแผนการจัดกิจกรรมในอนาคต ดร.ชัชญา เปิดเผยว่า “ทางวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ต้องการให้มีการบูรณาการระหว่างชุมชนกับนักศึกษามากขึ้น กล่าวคือ ชุมชนได้ประโยชน์ นักศึกษาได้เรียนรู้ เช่น นักศึกษาได้ลงพื้นที่เรียนรู้และตระหนักในคุณค่าของวัฒนธรรมท้องถิ่น สามารถผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ให้ชุมชนใช้งานได้จริง สามารถเข้าไปเพิ่มเติมในบางส่วนที่ชุมชนต้องการ เพื่อต่อยอดการพัฒนาชุมชน และเกิดการเรียนรู้เชิงพหุวัฒนธรรมซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของโครงการฯ”
นางสาวฐณิตดา เมืองสุข (มิ้น) นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชานิเทศศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า การเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ได้รับความรู้ในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาของชุมชน ภูมิหลัง ภูมิศาสตร์ และบริบทของชุมชนบบเจาะลึก เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาให้ชุมชนได้อย่างตรงจุดและตรงกลุ่มเป้าหมาย นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้กฎการทำงานร่วมกับชุมชน คือ การเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา และที่ขาดไม่ได้เลยคือ Live - Look - Listen - Learn ซึ่งจำเป็นอย่างมากในการแก้ปัญหาที่จะช่วยให้รู้ว่าปัญหาจริง ๆ ของชุมชนคืออะไร อันจะนำไปสู่การพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนต่อเนื่องต่อไปในอนาคต
นางสาววรัญชนา ณัฐสุภานนท์ (ฟ้าใส) นักศึกษาชั้นปี 2 สาขาวิชาการโฆษณาและสื่อสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า รู้สึกประทับใจการทำกิจกรรมการแสดงจำลองสถานการณ์ เพราะช่วยให้เราได้สืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับเอกลักษณ์ และสินค้าที่มีชื่อเสียงของจังหวัดนั้น ๆ อย่างละเอียดมากขึ้น และการได้ดูการแสดงของเพื่อนกลุ่มอื่นทำให้เราได้เห็นภาพบทบาทของคนในชุมชนชัดเจนมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังรู้สึกประทับใจการบรรยายของวิทยากรที่มีการบรรยายที่น่าสนใจและให้คำแนะนำเกี่ยวกับเทคนิคการติดต่อกับชุมชน เพื่อเข้าไปขอข้อมูลและพัฒนาชุมชน ทำให้ทราบว่าต้องทำอย่างไรให้คนในชุมชนเปิดรับและให้ความร่วมมือ ซึ่งทำให้เราเข้าใจกระบวนการทำงานกับชุมชนง่ายขึ้น เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น และสามารถนำไปทำตามได้จริง
"