อาชญาวิทยาและนิติวิทยาศาสตร์ การบูรณาการความร่วมมือระหว่าง สถาบันอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม คณะวิทยาศาสตร์ และคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต และความร่วมมือจากหลายสถาบันและหน่วยงานของรัฐ เช่น สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม โรงเรียนนายร้อยตำรวจ เป็นต้น โดยนำความรู้ทางด้านสังคมวิทยา จิตวิทยา กฎหมาย มาบูรณาการเข้าด้วยกัน ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ทุกแขนงในกระบวนการยุติธรรม คลี่คลายคดีว่าใครคือจำเลย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนากระบวนการยุติธรรมและสังคมไทยต่อไป
วันนี้สารรังสิตออนไลน์จะพาน้องๆ ทุกคนไปคลี่คลายคดี เฮ้ย! ไปเปิดห้องเรียนของเหล่าโคนันอินรังสิต ว่าหลักสูตรอาชญาวิทยาและนิติวิทยาศาสตร์ เค้าเรียนอะไรกันบ้าง?

นางสาวภัทรวดี ทองชิว (ลูกไม้) นักศึกษาสาขาวิชาอาชญาวิทยาและนิติวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า หลังจากเรียนจบมัธยมศึกษาตอนปลายสายวิทย์-คณิต จากโรงเรียนนาคประสิทธิ์ ได้ตัดสินใจเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรดังกล่าว เพราะตนเองเป็นคนที่ชอบสังเกตุเรื่องราวรอบตัว ชอบดูซีรี่ย์เกี่ยวกับอาชญากรรม แนวสืบสวนสอบสวน เช่น CSI NCIS Sherlock และเห็นว่าที่มหาวิทยาลัยรังสิตเปิดหลักสูตรอาชญาวิทยาและนิติวิทยาศาสตร์ในระดับปริญญาตรีเป็นที่แรกในประเทศไทย ทำให้เราเลือกที่จะมาเรียนที่นี่ ตลอดระยะเวลาที่ศึกษาคณาจารย์ผู้สอนซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในสายวิชาชีพเฉพาะมาร่วมสอน และมีความรู้ความสามารถได้รับการยอมรับทั้งในวงการอาชญาวิทยาและวงการนิติวิทยาศาสตร์ ทั้งยังมีความร่วมมือกับบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม เช่น อัยการ ศาล กรมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม จึงทำให้มีทีมคณาจารย์พิเศษที่หลากหลายและเข้มแข็ง ทำให้เรารู้สึกว่าคิดไม่ผิดจริงๆ ที่เลือกเรียนหลักสูตรนี้



“อาชญาวิทยาและนิติวิทยาศาสตร์ เป็นหลักสูตรที่นำความรู้ด้านสังคมวิทยาและวิทยาศาสตร์มาบูรณาการเข้าด้วยกัน ทางด้านอาชญาวิทยาเราเรียนเพื่อรู้ถึงสาเหตุการก่ออาชญากรรมและป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก ส่วนด้านนิติวิทยาศาสตร์เป็นการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาใช้เพื่อย้อนรอยหาตัวผู้กระทำผิด หลักสูตรของเราเน้นให้ออกไปเรียนรู้นอกห้องเรียน นักศึกษาได้ไปศึกษาดูงานหลายที่ เช่น โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ศาลอาญารัชดา ทัณฑสถานวัยหนุ่มกลาง สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และกองพิสูจน์หลักฐาน 1 ซึ่งในการไปดูงานแต่ละที่นั้นทำให้ผู้เรียนมีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องที่เรียนในห้องมากขึ้น และยังได้มีโอกาสซักถามข้อสงสัยจากผู้ที่ทำงานในสายงานนั้นๆ ด้วย เรียกว่า เป็นหลักสูตรที่มีความเข้มข้นทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ”

ภัทรวดี กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนเองมีความสนใจในสายงานตรวจสถานที่เกิดเหตุเป็นพิเศษ เพราะการตรวจสถานที่เกิดเหตุเป็นพื้นฐานของนิติวิทยาศาสตร์ เป็นจุดเริ่มต้นของวัตถุพยาน และยังเป็นหัวใจของการสืบสวนเพื่อเป็นกุญแจสำคัญนำไปสู่การไขคดีอีกด้วย และในอนาคตก็อยากทำงานเป็นตำรวจพิสูจน์หลักฐาน เพราะคิดว่าเป็นงานที่ท้าทายความสามารถ เราไม่สามารถคาดเดาสถานการณ์ล่วงหน้าได้เลยว่าวันนี้จะเจอคดีแบบไหน ยากง่ายอย่างไรบ้าง เราต้องตื่นตัวและมีสติอยู่ตลอดเวลา ต้องพร้อมที่จะเผชิญและรับมือกับสถานการณ์ตรงหน้าเสมอ ต่อให้คนร้ายวางแผนก่อเหตุมาดีแค่ไหน เราก็ต้องหาหลักฐานให้เจอจนได้เพราะ ทุกๆ การสัมผัสย่อมทิ้งร่องรอยไว้เสมอ”



แม้การเรียนในหลักสูตรนี้อาจจะดูไม่ง่ายแต่ก็ไม่ยากเกินความพยายาม บางครั้งเราต้องเจอกับเรื่องที่ดูแล้วมันทำให้เรารู้สึกหดหู่ ภาพผู้เสียชีวิตจากคดีตัวอย่างที่ดูแล้วติดตาจนนอนไม่หลับ และลำบากสุดก็คงจะเป็นเรื่องหนังสือเรียนที่ไม่มีให้อ่านเหมือนวิชาทั่วไปเพราะหลักสูตรนี้เป็นเหมือนดาบ 2 คม เรื่องที่เราเรียนเป็นสิ่งที่โจรเองก็อยากรู้ เราต้องตั้งใจฟังตั้งใจดูในสิ่งที่อาจารย์สอน ต้องรู้จักขวนขวายหาความรู้ด้วยตัวเองอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราไม่อยากเป็นจุดอ่อนที่ต้องถูกกำจัด เราต้องพยายามให้มากเข้าไว้ เพราะเราเชื่อว่า “สิ่งเดียวที่ได้มาโดยไม่ต้องใช้ความพยายาม ก็คือความล้มเหลว”

นักศึกษาเหล่าโคนันอินรังสิต
สุดท้ายแล้ว... ความจริงจะมีเพียงหนึ่งเดียว หากน้องๆ ม.ปลายคนไหนที่สนใจการเรียนการสอนทางด้านนี้ สาขาวิชาอาชญาวิทยาและนิติวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นอีกหลักสูตรที่มีความน่าสนใจ โดยเปิดให้นักเรียนในทุกสายการเรียน สามารถสมัครเข้าเรียนได้ และบัณฑิตที่จบในหลักสูตรดังกล่าว จะสามารถสอบบรรจุเป็นนักนิติวิทยาศาสตร์ ในหน่วยงานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม เช่น กรมคุมประพฤติ กรมราชทัณฑ์ กรมพินิจและคุ้มครองเด็ก นักวิชาการด้านนิติวิทยาศาสตร์และอาชญาวิทยา หน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวข้องกับห้องปฏิบัติการทางนิติวิทยาศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งบุคลากรปฏิบัติงานเหล่านี้ก็ยังเป็นที่ต้องการอีกจำนวนมาก หากน้องๆ คนไหนมีความสนใจสามารถสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักสูตรได้ที่เพจเฟสบุ้ก www.facebook.com/justice.rsu
"