สถาบันไผ่กู้ชาติ ม.รังสิต ลงพื้นที่เริ่มงานวิจัยไผ่ จ.น่าน คืนพื้นที่ป่า ฟื้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้สู่ชุมชน

20 Feb 2020

สถาบันไผ่กู้ชาติ (Bamboo For Nation) ซึ่งได้เปิดตัวสถาบันไปเมื่อปลายปี 2562 ที่ผ่านมา ได้มีการกำหนดแนวทางของสถาบันเสมือนเป็นศูนย์กลางพัฒนา เพื่อยกระดับความเป็นอยู่และความมั่นคงในการประกอบอาชีพให้กับเกษตรกรไทย โดยผลักดันพืชท้องถิ่นอย่าง “ไผ่” ซึ่งเป็นพืชที่หาได้ง่ายทุกพื้นที่ของประเทศไทยมาเป็นพืชเศรษฐกิจและสร้างรายได้ ทางสถาบันได้ร่วมมือกับเครือข่ายภาครัฐและเอกชน เพื่อเริ่มต้นโครงการนำร่องต่างๆ ณ อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน

 

 

ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า “4 เป้าหมายหลักที่เป็นแนวทางสำคัญๆ ของสถาบันไผ่กู้ชาติ ประการแรก คือ ผลักดันไผ่กู้ชาติให้กลายเป็นวาระแห่งชาติ เป็นนโยบายของรัฐบาล ที่จะช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภัยแล้งจากป่าเขาหัวโล้น ทำให้เกษตรกรมีอาชีพมีรายได้ระยะยาว ประการที่สองเพื่อเป็นสะพานเชื่อมหรือศูนย์กลางการแปรรูปไผ่ โดยเน้นการแปรรูปวัสดุก่อสร้าง โดยร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนในการจัดหาโรงงานรับซื้อ และโรงงานแปรรูป ประการที่สาม เร่งทำความร่วมมือกับหน่วยงานที่มีความรู้ในการพัฒนาวิจัยสายพันธุ์ไผ่ เพื่อเป็นข้อมูลในการต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับไผ่ ทั้งในด้านสถาปัตยกรรม ด้านเภสัชกรรมและความงาม ด้านงานออกแบบต่างๆ เป็นต้น ประการที่สี่ คือ การให้บริการวิชาการ เน้นการเปิดสอน อบรม และให้ความรู้เกี่ยวกับไผ่แก่เกษตรกร และผู้ที่สนใจทั่วไป เพื่อส่งต่อองค์ความรู้ในฐานะสถาบันการศึกษาให้กับชุมชมและสังคม โดยต้นปี พ.ศ. 2563 เราได้มีการลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ชุมชน นักวิจัย และนักลงทุน เพื่อวางแนวทางร่วมกันพัฒนาไผ่ ซึ่งเชื่อว่าหากประสบความสำเร็จจะสามารถช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจในระดับมหัพภาคแก่ประเทศชาติของเราได้

 

 

ด้าน ศ.(พิเศษ) วิชา มหาคุณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ ในฐานะประธานสถาบันไผ่กู้ชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า สถาบันไผ่กู้ชาติ (Bamboo For Nation) ได้จัดให้มีการประชุมหารือสร้างความรู้และสร้างนวัตกรรมร่วมกันกับ คุณสภลท์ บุญเสริมสุข นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ ผู้อำนวยการส่วนความร่วมมือด้านการป่าไม้ระหว่างประเทศ กรมป่าไม้ และผู้ทรงคุณวุฒิมากมายที่มีความรู้และประสบการณ์มาร่วมพัฒนาไผ่ให้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ  ซึ่งขณะนี้ความก้าวหน้าของสถาบันได้มีการเดินหน้าลงนามความร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัย Central South Forestry and Technology แห่งเมือง Changsha, Hunan, ประเทศจีน  ซึ่งเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่มีความรู้ทางด้านไผ่ไม่ว่าจะเป็นงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการแปรรูปไผ่ต่างๆ และการพัฒนาสายพันธ์ไผ่ให้เหมาะสมกับการแปรรูปนั้นๆ รวมไปถึงพัฒนาเครื่องจักรในการแปรรูปเพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนในการที่จะเข้ามาทำธุรกิจแปรรูปไผ่นี้อีกด้วย  โดยจัดให้มีโครงสร้างทางสถาบันฯในส่วนของฝ่ายวิจัยฯ เพื่อเชื่อมโยงงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับไผ่ไทยเป็นจุดตั้งต้นในการทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดการจัดตั้งศูนย์กลางองค์ความรู้  การนำนวัตกรรมเข้ามาใช้ รวมถึงด้านการส่งเสริมการตลาด เพื่อช่วยให้เกษตรกรเห็นภาพและร่วมโครงการพัฒนาไผ่ให้สามารถนำกลับมาเป็นพืชที่น่าสนใจ น่าปลูก เป็นพืชเศรษฐกิจได้ต่อไป

 

 

อาจารย์ปรเมศวร์ พลรัฐธนาสิทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันไผ่กู้ชาติ และอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ กล่าวว่า ทางสถาบันได้มีการดำเนินงานของสถาบันฯ แล้วโดยแบ่งเป็น 4 รูปแบบ คือ 1.Showcase – Bamboo Decoration คือ ผลงานที่ทำมาจากไม้ไผ่ที่นำเสนอตัวอย่างงานไผ่ให้เห็นภาพอย่างชัดเจน ตัวอย่างการจัดแสดงงานไผ่ที่ผ่านมาในการจัดตกแต่งนิทรรศการไผ่วันสถาปนามหาวิทยาลัยรังสิต นอกจากนี้ในอนาคตเราจะมีนโยบายการสร้างอาคารหอสมุดซึ่งมีวัสดุที่ทำจากไม้ไผ่ เป็นอาคารจะเกิดขึ้นภายในมหาวิทยาลัยรังสิต เป็นต้น ส่วนอีกอาคารคือ การลงพื้นที่ช่วยสร้างอาคารห้องดนตรีแก่โรงเรียนบ้านปงสนุก จังหวัดน่าน ที่ประสบเหตุไฟไหม้ห้องดนตรี 2. Example – Bamboo Farm มีการจัดตั้งเป็นพื้นที่ปฏิบัติงานจริงเพื่อพัฒนาส่วนไผ่ให้เกิดขึ้นจริงที่จังหวัดน่านเป็นพื้นที่แรก เพื่อส่งต่อการแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่มด้านต่างๆ 3. Prototype – Bamboo Factory เป็นโครงการในอนาคตที่ได้มีการวางแผนไว้ คือ โรงงานแปรรูป โรงงานปฏิบัติการวิจัยและพัฒนา ซึ่งเป็นพื้นที่ศูนย์รวมในการเพาะพันธุ์ การปลูก การวิจัยและพัฒนาไผ่ และสุดท้าย 4. Experimental – Bamboo Research เน้นการทำงานด้านงานวิจัยและพัฒนาโดยเฉพาะร่วมกับนักวิจัยของไทยและต่างประเทศ ในการหาสารตั้งต้นเพื่อต่อยอดไปยังผลิตภัณฑ์อื่นๆ การหานวัตกรรมเครื่องจักรเพื่อการแปรรูป เป็นต้น”

 

 

 

 

 

ทั้งนี้ สำหรับสถาบันไผ่กู้ชาติ ได้เริ่มดำเนินงานตามแนวคิด และแนวทางทุกกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อให้เกิดภาพที่ชัดเจนมากขึ้น อย่างไรก็ตามผู้ที่สนใจองค์ความรู้เรื่องไผ่ หรือโครงการต่างๆ เกี่ยวกับไผ่สามารถติดตามความเคลื่อนไหวผ่าน สถาบันไผ่กู้ชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต www2.rsu.ac.th

"

ผู้จัดทำ

บทความที่คุณอาจสนใจ