จากเด็ก “ซิ่ว” สู่ผู้ประกอบการ ดนัย ภู่เกษมสมบัติ

22 Oct 2019

 

วิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต ไม่ใช่ก้าวแรกของการเริ่มต้นของผม เนื่องจากแต่เดิมก่อนที่จะเข้าศึกษาที่วิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยรัฐแห่งหนึ่ง หลังจากจบมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 สาขาวิทย์-คณิต ในช่วงนั้นยังไม่มีความคิดหรือความชอบในด้านใดเป็นพิเศษจึงได้ลองสอบเข้าในคณะสาขาต่างๆ ที่ทางครอบครัวและโรงเรียนแนะนำเพื่อค้นหาความชอบ

 

 

ในช่วงปีแรกจนถึงชั้นปีที่ 2 จากประสบการณ์ที่ได้รับขณะนั้นยังไม่สามารถที่จะเห็นภาพได้ว่า ควรมุ่งไปทางด้านใดรวมกับที่ไม่ได้มีความสนใจในสาขานี้แต่แรกจนมาถึงช่วงชั้นปีที่ 3 และ 4 ซึ่งตลอดช่วงชั้นปีก็ได้ทำการศึกษาและค้นหาในสิ่งที่ตนเองสนใจ และได้พบข้อมูลว่ามีคณะที่เปิดสอนนั่นก็คือ วิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต ผมจึงได้ “ซิ่ว” ออกจากมหาวิทยาลัยรัฐดังกล่าว และมาสมัครเข้าศึกษาที่วิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต

 

 

หลังจากนั้นตั้งแต่เริ่มเข้าศึกษาที่นี่ก็รู้สึกถึงความแตกต่างจากที่เคยได้รับประสบการณ์มา เนื่องจากในช่วงชั้นปีแรกก็สามารถที่จะเห็นภาพได้ว่า ที่คณะมีการเรียนการสอนอย่างไร มีงานอะไรบ้าง สามารถประกอบอาชีพอะไรได้บ้าง ทำให้สามารถที่จะออกแบบอนาคตที่เราต้องการได้อย่างชัดเจน ซึ่งจากการที่เข้ามาที่วิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต อาจจะไม่ใช่ก้าวแรกแต่เป็นก้าวที่สำคัญก้าวหนึ่ง

 

 

จากที่ได้กล่าวมาจากจุดมุ่งหมายและความชอบในงานทางด้าน “การสร้างสรรค์และการช่วยเหลือ” เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมที่สามารถช่วยเหลือหรืออำนวยความสะดวกและความต้องการที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและสังคม ซึ่งการที่เราสามารถสร้างสรรค์ชิ้นงานใดชิ้นงานหนึ่งขึ้นมาที่สามารถอำนวยความสะดวก หรือสามารถทำให้คนๆ หนึ่งกลับมาใช้ชีวิตปกติอีกครั้งจะเป็นอะไรที่มีคุณค่าอย่างมาก แต่จำเป็นต้องมีองค์ความรู้ความเข้าใจในสิ่งเหล่านี้

 

 

การได้เข้ามาเรียนในวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต สอนให้เราสามารถเห็นภาพได้จริง สามารถนำองค์ความรู้ต่างๆ มาประยุกต์ใช้ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมชิ้นหนึ่งขึ้นมาให้สามารถตอบโจทย์ต่อความต้องการที่มีประโยชน์ต่อสังคมได้อย่างดี สอนให้สามารถออกแบบชีวิตในฐานะวิศวกรคนหนึ่งที่ทำประโยชน์ให้กับผู้อื่นได้ ซึ่งในช่วงที่ได้ไปทำการฝึกงานที่ศูนย์พัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ผมได้มีโอกาสสร้างผลงานหรือนวัตกรรม อาทิ จุกยางสำหรับล็อคสายวัดอุณหภูมิสำหรับเต้านม โมเดลเต้านมเทียมสำหรับอาการเฉพาะ โมเดลหัวใจที่ใช้เป็นสื่อการสอนที่ใช้ร่วมกับสายสวนหัวใจ งานซ่อมสายสวนหัวใจและผิวหนังเทียม 

 

 

ซึ่งความเป็นมาและวัตถุประสงค์ในการทำธุรกิจ โดยเริ่มจากชั้นปีที่ 1 ที่เข้ามาเรียนรู้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ โดยได้ลองผิดลองถูกซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนจากทางวิทยาลัยและอาจารย์ที่ปรึกษา จนได้มีโอกาสในการนำเสนอนวัตกรรมที่ทางแล็บที่ได้ทำการวิจัยในเรื่องพลาสติกชีวภาพมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพลาสติกชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้ซึ่งได้ทำการ OEM นวัตกรรมขึ้นมา และได้ไปนำเสนอในช่วงชั้นปีที่ 3 และต่อยอดมาจนถึงช่วงชั้นปีที่ 4 ซึ่งคาดการณ์ไว้ว่าในอนาคตจะต่อยอดและขยายออกสู่ตลาดให้กว้างยิ่งขึ้น เพื่อที่จะกลับมาช่วยพัฒนางานวิจัยของทางวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิตต่อไป

 

ดนัย ภู่เกษมสมบัติ

นักศึกษาชั้นปีที่ 4 หลักสูตร วศ.บ.สาขาวิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์

แผนการเรียน 4+1 หรือ แผนการเรียนแบบก้าวหน้า ปริญญาตรีควบปริญญาโท

วิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต

"

ผู้จัดทำ

บทความที่คุณอาจสนใจ