ยุทธศาสตร์ 5 ปี วิศวกรรมชีวการแพทย์ ม.รังสิต เน้นผลิตวิศวกรชีวการแพทย์สากล ทำงานได้ทั่วโลก

11 Aug 2020

 

            วิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต วางยุทธศาสตร์ระยะ 5 ปี มุ่งเข้าสู่วิทยาลัยแห่งนวัตกรรมและผู้ประกอบการ ในปี 2020 เน้นการผลิตวิศวกรชีวการแพทย์สากล ทางด้านนวัตกรรมทางการแพทย์แบบอัจฉริยะ วัสดุชีวการแพทย์และวิศวกรรมเนื้อเยื่อ ที่ทำงานได้ทั่วโลก

 

 

            รศ.นันทชัย ทองแป้น คณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า จากวิสัยทัศน์และแนวทางการปฏิรูปการศึกษาของ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต ในรูปแบบของ RSU Model “Innovative Startup Entrepreneurship” By Integrative and Regenerative Competency Based Technology Transformation เน้นพัฒนาสมรรถนะและทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 ก้าวนำกระแสคลื่นการเปลี่ยนแปลงของโลกนั้น ปัจจัยที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติของภูมิทัศน์และแพลตฟอร์มของโลก ไม่ยกเว้นทางด้านการดูรักษาสุขภาพของมนุษย์ก็คือ โลกยุคโลกาภิวัฒน์ สังคมยุคผู้สูงอายุ และวิวัฒนาการอย่างรวดเร็วทางด้านเทคโนโลยี ทั้งสามปัจจัยจะส่งผลไปถึงทิศทางการผลิตบัณฑิตออกไปรับใช้สังคมในศตวรรษที่ 21 มาตรฐานการดูแลรักษาสุขภาพทั้งระดับชาติและระดับสากลที่จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางการให้ความสำคัญกับคุณภาพและประสิทธิภาพการดูแลรักษามากขึ้น โดยมีปัจจัยเร่งที่สำคัญคือวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 (COVID – 19)

 

 

             จากปัจจัยที่กล่าวมาส่งผลให้ กระบวนทัศน์ (Paradigm) ของการดูแลสุขภาพเปลี่ยนไปทำให้ความคิดรวบยอด(Concept) ทางด้านการแพทย์และการดูแลรักษาสุขภาพของประชนนั้นมีการเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง จากลำพังแค่การรักษาผู้ป่วย (Cure Patients) เป็นการดูแลรักษาประชาชน (Care for Citizen) จากการที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการและผู้ให้บริการเปลี่ยนเป็นการเน้นการให้ความสำคัญกับผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง จากการให้ความสำคัญกับการรักษาอาการป่วยเปลี่ยนเป็นการดูแลในเชิงป้องกัน การเกิดจากการเน้นการดูแลรักษาที่โรงพยาบาลเปลี่ยนเป็นการกระจายการดูแลออกสู่ชุมชนและที่บ้านมากขึ้น จากการเน้นการตรวจรักษาแบบการรุกล้ำเข้าไปในร่างกาย (Invasive) เปลี่ยนเป็นการตรวจรักษาที่ไม่รุกล้ำเข้าไปในร่างกาย (Noninvasive) หรือการผ่าตัดแผลเล็ก(Minimal Invasive) มากขึ้น

 

 

            ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าทั้งกระบวนการ เทคโนโลยีรวมทั้งแพลตฟอร์มแบบเดิมๆ นั้นนับวันจะหายไปจากโลกนี้อย่างรวดเร็ว สิ่งที่มีสำคัญมากที่สุดต่อการวินิจฉัยและรักษาโรคให้กับประชาชนนับจากนี้ไปก็คือ ข้อมูลส่วนบุคคลทางด้านสุขภาพที่จะมีความสำคัญเป็นอย่างสูงยิ่งไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าน้ำมันตัวใหม่ ดังนั้น เพื่อตอบสนองและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่กล่าวมาแล้วข้างต้นในปีการศึกษา 2563 วิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์จึงได้วางยุทธศาสตร์ในระยะ 5 ปี เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนวิทยาลัย เพื่อมุ่งสู่วิทยาลัยแห่งนวัตกรรมและผู้ประกอบการทางด้านนวัตกรรมทางการแพทย์แบบอัฉริยะ วัสดุชีวการแพทย์และวิศวกรรมเนื้อเยื่อรวมทั้งเป็นศูนย์กลางทางด้านการทดสอบมาตรฐานของเทคโนโลยีทางการแพทย์ รวมทั้งผลิตบัณฑิตที่เป็นวิศวกรชีวการแพทย์สากล สามารถทำงานได้ทั่วโลก โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

ยุทธศาสตร์ที่ 1  การพัฒนาระบบการศึกษาที่สอดคล้องกับผู้ประกอบการจริง

ยุทธศาสตร์ดังกล่าวประกอบด้วย การจัดการศึกษาที่เน้นผลลัพธ์ (Outcome Based Education) และการจัดการศึกษาต้องสอดคล้องกับผู้ประกอบการจริง (Real Sector Driver) และ ปลูกฝัง แนวคิด และทัศนคติในเรื่องของทักษะหรือจิตวิญญาณการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Spirit)

 

 

ยุทธศาสตร์ที่ 2  เป็นวิทยาลัยแห่งการวิจัยและนวัตกรรมทางด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์เพื่อสังคมแห่งอาเซียน 

            ยุทธศาสตร์นี้มุ่งพัฒนาศูนย์วิจัย พัฒนาและเพื่อการเรียนรู้จำนวน 4 ศูนย์หลัก ได้แก่

ศูนย์วิจัย พัฒนาและเพื่อการเรียนรู้ด้านเครื่องมือแพทย์อัฉริยะ (Medical AI Research  Development &Learning Center (Med.AI Center)) ที่ประกอบด้วยอินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่งทางการแพทย์

( Medical IoT) ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์( Medical Artificial Intelligence (AI)) และหุ่นยนต์ทางการแพทย์ (Medical Robotic)

ศูนย์วิจัย พัฒนาและเพื่อการเรียนรู้ด้านวิศวกรรมฟื้นฟู(Rehabilitation Engineering Research Development &Learning Center (REAL Center)) ที่มุ่งตอบสนองยุคของสังคมผู้สูงอายุและผู้พิการ
ศูนย์วิจัย พัฒนาและเพื่อการเรียนรู้วัสดุทางการแพทย์และวิศวกรรมเนื้อเยื่อ(Biomaterial &Tissue Engineering Research & Development &Learning Center (BioTEL Center)
ศูนย์ทดสอบและประเมินมาตรฐานเครื่องมือแพทย์(Center for Standard & Innovative Medical Devices Testing & Assessment (SIMTA Center)

โดยที่ศูนย์ฯ ดังกล่าว มีภาระกิจด้านการวิจัย พัฒนาและจัดการเรียนการสอน การประเมินเทคโนโลยีและนำผลลัพธ์ที่ได้ให้บริการทางวิชาการในทุกมิติแก่ภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ทั้งเพื่อสังคมและเชิงพาณิชย์ รวมทั้งเป็นแหล่งการเรียนรู้และฝึกฝนการเป็นผู้ประกอบการให้กับบัณฑิต และเป็นตัวกำหนดทิศทางการพัฒนาของวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต

 

 

ยุทธศาสตร์ที่ 3 ระบบบริหารจัดการเพื่อมุ่งสู่การเป็นวิทยาลัยแห่งผลลัพธ์

ยุทธศาสตร์นี้เป็นปัจจัยสนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของวิทยาลัยให้เอื้อต่อการเปลี่ยนจากคณะวิชาให้เป็นวิทยาลัยแห่งผลลัพธ์ โดยมีจุดมุ่งหมายที่สำคัญคือ

1.    ผลิตบัณฑิตที่มีสมรรถนะเป็นวิศวกรชีวการแพทย์สากลที่สามารถทำงานได้ทั่วโลกและมีจิตวิญญาณในการเป็นผู้ประกอบการ

2.    ผลิตงานวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมทางด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ที่ทำประโยชน์ให้กับสังคม

3.    เป็นศูนย์กลางทางวิชาการด้านระบบเครื่องมือแพทย์อัฉริยะ วิศวกรรมฟื้นฟู วิศวกรรมคลินิกและ วัสดุทางการแพทย์และวิศวกรรมเนื้อเยื่อของประเทศและเชื่อมโยงสู่เครือข่ายสากล

4.    วิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต จะเป็นสังคมที่มีบรรยากาศเป็น “วิทยาลัยแห่งความเป็นนวัตกรรมและจิตวิญญาณผู้ประกอบการ” 

5.    สังคมของนักศึกษาและบุคลากรวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์จะเป็นสังคมของคนดี คนเก่ง มีความสุข อบอุ่น และทำให้บุคลากรรู้สึกผูกพันและร่วมกันสร้างมูลค่าเพิ่มทางด้านผลงานให้เกิดขึ้น

 

 

            ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันและในอนาคต ทางวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้มีการปฎิรูปการศึกษาอย่างต่อเนื่องในทุกมิติ ทั้งนี้ เพื่อทำให้ “โลกของการเรียนรู้ โลกของการทำงานและโลกแห่งอนาคต เป็นโลกเดียวกัน” ในการตอบโจทย์และรองรับกับมิติต่างๆ ของแพลตฟอร์มของโลกในศตวรรษที่ 21 คณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าว

"

ผู้จัดทำ

บทความที่คุณอาจสนใจ