BME ม.รังสิต ได้รับทุนสนับสนุนต่อยอดงานวิจัยจากภาครัฐ นำต้นแบบผลงานวิจัยสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์

29 Mar 2018

คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้รับทุนสนับสนุนการต่อยอดผลงานวิจัยจากภาครัฐ เพื่อส่งเสริมการนำผลงานวิจัยต้นแบบของคณาจารย์และนักศึกษาเข้าสู่กระบวนการรับรองมาตรฐาน นำไปสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์ และมุ่งสู่ Entrepreneurship Faculty

 

 

รองศาสตราจารย์นันทชัย ทองแป้น คณบดีคณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ ได้ลงนามความร่วมมือกับ บริษัท สตาร์ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัทไตรวิวัฒน์ อินเตอร์เทรด จำกัด โดยมีจุดมุ่งหมายในการนำเอาผลงานวิจัยต้นแบบของคณาจารย์และนักศึกษาทั้งในระดับปริญญาโทและปริญญาตรีของคณะฯ ไปดำเนินการพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์และจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ เพื่อเป็นแนวทางในการก้าวข้ามข้อจำกัด ที่เรียกกันว่าหุบเหวมรณะของการทำวิจัยของนักวิจัยไทย หรือที่เรียกกันติดปากว่างานวิจัยขึ้นหิ้งนั่นเอง ประกอบกับในปี 2561 นี้ ทางคณะฯ ได้รับทุนสนับสนุนการต่อยอดผลงานวิจัยจากภาครัฐ โดยทุนดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการนำเอาผลงานวิจัยต้นแบบของคณาจารย์และนักศึกษาไปเข้าสู่กระบวนการรับรองมาตรฐาน เพื่อนำไปสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์ต่อไป โดยผลงานวิจัยต้นแบบส่วนหนึ่งได้ผ่านการชนะเลิศรอบ Pitching โครงการ Start Up Thailand 2017 อีกส่วนหนึ่ง ได้รับรางวัลจากการประกวดรางวัลนวัตกรรมจาก สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ปี 2559 ที่ผ่านมา และทั้งหมดได้อยู่ในระหว่างกระบวนการจดสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยต้นแบบผลงานวิจัยมีรายละเอียดดังนี้

 

 

1. เครื่อง Gluco Touch เป็นเครื่องวัดระดับน้ำตาลในเลือดแบบไม่ต้องเจาะเลือด ไม่เจ็บ มีความแม่นยำในระดับที่สามารถใช้ในการวัดเพื่อติดตามเฝ้าระวังระดับน้ำตาลในเลือดสำหรับผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยโรคเบาหวานได้ตลอดเวลาที่ต้องการโดยไม่ต้องเจาะเลือด ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของห้องวิจัยเครื่องมือแพทย์ โดย อ.ธวัช แก้วกัณฑ์ และ รศ.ปรียา อนุพงษ์องอาจ ได้ผ่านการจดทะเบียนอนุสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาเรียบร้อยแล้ว

  



2. เครื่อง V-Check เป็นระบบวิเคราะห์การทำงานของเครื่องให้สารละลายทางหลอดเลือดดำ (Infusion Device) โดยผลงานดังกล่าวได้รับรางวัลจากการแข่งขัน Start-Up Thailand 2017 ใช้สำหรับการสอบเทียบและวิเคราะห์ประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องให้สารละลายทางหลอดเลือดดำ ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของห้องวิจัยเครื่องมือแพทย์ โดย รศ.นันทชัย ทองแป้น และ อ.อนุชิต นิรภัย ได้ผ่านการจดทะเบียนอนุสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาเรียบร้อยแล้ว

 



3. เครื่อง Smart Walker เป็นเครื่องช่วยเดินไฟฟ้าเคลื่อนที่ได้รอบทิศทาง โดยผลงานดังกล่าวได้รับรางวัลผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ประจำปี 2560 กลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยเครื่องมือดังกล่าวเป็นเครื่องช่วยฟื้นฟูการเดินที่สามารถเคลื่อนที่ได้อย่างอิสระโดยใช้ล้อแม็คคานั่ม เป็นผลงานวิจัยของห้องวิจัยหุ่นยนต์ทางการแพทย์ โดย อ.พิชิตพล โชติกุลนันทน์ และคณะ อยู่ระหว่างการจดทะเบียนสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา

 

 

 

4. รถโอมนิแม็กคานั่มวีลแชร์ไฟฟ้า (Omni Mecanum Electric wheelchair) เป็นรถเข็นคนพิการไฟฟ้าที่สามารถเคลื่อนที่ได้รอบทิศทาง มีจุดเด่นตรงที่เป็นรถเข็นใช้ล้อแม็กคานั่มเป็นส่วนประกอบสามารถเคลื่อนที่ได้ทุกทิศทางและสามารถเคลื่อนที่ในพื้นที่แคบๆได้ด้วยระบบควบคุมด้วยไฟฟ้า โดยผลงานดังกล่าวเป็นผลงานวิจัยและพัฒนาใหม่ล่าสุดที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสถาบันวิจัย มหาวิทยาลัยรังสิต โดยเครื่องมือดังกล่าวเป็นเครื่องมือที่ช่วยเหลือคนพิการ โดยในอนาคตเมื่อใส่ระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence (AI)) และระบบการสื่อสารแบบไร้สายเข้าไปจะทำให้มีความอัฉริยะมากขึ้น เป็นผลงานวิจัยของห้องวิจัยหุ่นยนต์ทางการแพทย์สำหรับผู้พิการ โดย อ.พิชิตพล โชติกุลนันทน์ และคณะ อยู่ระหว่างการจดทะเบียนสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา Smart

 

 

5. โปรแกรม CMDMS (Computerize Medical Device Management System) เป็นโปรแกรมที่ใช้สำหรับการบริหารจัดการระบบงานเครื่องมือแพทย์ในโรงพยาบาลโดยใช้คอมพิวเตอร์เป็นฐาน เป็นโปรแกรมที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาจากทีมวิจัยที่ผ่านประสบการณ์การทำงานในโรงพยาบาลในประเทศไทย ที่รู้สภาพปัญหาจริงๆ เหมาะสำหรับใช้ในการบริหารจัดการระบบเครื่องมือแพทย์ในโรงพยาบาลยุค 4.0 โดยเป็นโปรแกรมบริหารจัดการด้วยระบบคอมพิวเตอร์ที่สามารถใช้บริหารจัดการได้ทั้งระบบเครื่องมือ ระบบงบประมาณ และทรัพยากรบุคคลขององค์กรเป็นผลงานวิจัยของห้องวิจัยระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการทางการแพทย์ โดย อ.อนุชิต นิรภัย และคณะ อยู่ระหว่างการจดทะเบียนสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา

 

 

อย่างไรก็ตาม ผลงานและความร่วมมือที่เกิดขึ้นระหว่างคณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ ม.รังสิต ภาครัฐและภาคเอกชนในครั้งนี้ เป็นแนวปฏิบัติแนวทางหนึ่งที่มุ่งสู่ Entrepreneurship Faculty ของคณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต และยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0

"

ผู้จัดทำ

บทความที่คุณอาจสนใจ