“เยี่ยมมาก” “ปังปังปุริเย่” คำพูดหรือข้อความชื่นชม ที่ผู้ใดผู้หนึ่งแสดงออกมาเพื่อทักทาย หรือต้องการการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับอีกคนหนึ่ง ถือเป็นการสื่อสารในโลกของมายา ที่ปลูกฝังมายาคติให้กับคนที่คุณรักแบบไม่รู้ตัว และพร้อมที่จะกลับมาฆ่าพวกเขาเมื่อโลกความจริงปรากฏ
มายาคติ (Mythology) เป็นรูปแบบสัญลักษณ์ ซึ่งในบทความนี้หมายถึง คำพูดชื่นชม การแสดงความหวังดี ที่คนในสังคมสร้างขึ้นเพื่อให้คนในสังคมรู้สึกดี และให้ยากต่อการเข้าถึงความจริงจะเห็นได้ว่ามายาคตินั้นจะแฝงอยู่กับความคิด ความเชื่อของคนในสังคมนั้นๆ เช่น ความสำเร็จคือเป้าหมายของชีวิต คนเก่ง คนฉลาด คนหน้าตาดีเท่านั้นที่จะประสบความสำเร็จ มายาคติความเชื่อนี้จะถูกกลบเกลื่อนให้รับรู้เป็นเสมือนธรรมชาติ และมีการสืบทอด ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นเกิดเป็นความเชื่อที่คนส่วนใหญ่ยอมรับและกลายเป็นค่านิยมทางสังคม ที่ใคร ๆ ก็ทำกัน ดังนั้น มายาคติ (Myth) จึงเป็นการสื่อสารเชิงสัญญะเพื่อบอกว่ามันเป็นความจริง ทั้ง ๆ ที่จะจริงหรือไม่จริงอย่างไรนั้นยังไม่มีการพิสูจน์
เด็กที่เกิดมาใหม่ ๆ มักจะได้รับคำชื่นชมจาก พ่อแม่ ญาติพี่น้อง กลุ่มบุคคลใกล้ชิด ว่า เป็นเด็กที่หน้าตาน่ารักมาก หน้าตาเหมือนเด็กเกาหลีเลย หน้าตาดีตั้งแต่เกิดโตไปต้องหล่อ ต้องสวยแน่นอน ผิวพรรณดีเกินพ่อแม่ หน้าตาผิวพรรณแบบนี้โตไปต้องได้เป็นใหญ่ เป็นโต เป็นดาราดัง
คำพูดชื่นชมในลักษณะดังกล่าวเป็นการปลูกฝังมายาคติให้กับเด็ก เป็นเพียงการสร้างโลกมายาเกี่ยวกับค่านิยม ความเชื่อเรื่องรูปร่าง หน้าตา ถ้าหน้าตาดี หน้าตาเหมือนเด็กเกาหลีหล่อ สวย ผิวพรรณขาว เป็นสาเหตุความสำเร็จของมนุษย์
เมื่อเด็กเติบโตขึ้น ต้องได้รับการศึกษาจากระบบโรงเรียน คุณครู ผู้ปกครอง ก็มักจะมีคำชื่นชมให้กับเด็ก ๆ โดยมีความคิดความเชื่อที่ว่า คำชื่นชมเป็นการให้กำลังใจ แสดงความรัก ความเอาใจใส่ต่อเด็ก เช่น คำว่า สวยมาก หล่อมาก เท่มาก เก่งมาก ฉลาดที่สุด ไม่มีใครเก่งฉลาดเกินลูกของแม่เลย ลูกแม่ต้องเรียนได้ที่หนึ่งเท่านั้น หนูเป็นเด็กดีจังเลย ลูกเป็นเด็กที่ยอดเยี่ยมมาก ๆ โตไปจะได้เป็นคุณหมอรักษาคนไข้ เป็นต้น
ทุกคำพูด ล้วนเป็นคำพูดที่ดี เป็นชุดคำพูดที่มีอิทธิพลต่อความสำเร็จ เด็กจะต้องสวย ต้องหล่อ ต้องเก่ง ต้องฉลาด ต้องเป็นที่หนึ่ง ต้องเป็นเด็กดี ต้องเป็นหมอแต่มันก็ยังคงเป็นเพียงมายาคติ ที่ถูกสร้างขึ้นจากผู้ปกครอง คุณครู โดยที่เด็กไม่รู้เลยว่านั่นคือโลกของมายา หรือการสร้างภาพลวงตาให้เด็ก ๆ เชื่อว่า เขาสวย เขาหล่อ เขาเก่ง เขาฉลาด โตขึ้นเขาจะได้เป็นหมอ
ครั้นเมื่อเด็กเติบโตเป็นวัยรุ่น ในระบบโรงเรียนก็ตอกย้ำมายาคติเดิม นักเรียนที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนของห้อง ของโรงเรียน ต้องหน้าตาดี รูปร่างดี ผิวพรรณดี เป็นคนเก่ง เป็นคนฉลาด เป็นคนที่มีผลการเรียนดีที่สุด นั่นหมายความว่า คนกลุ่มนี้จะต้องเสพติด ความสวย ความหล่อ ความหน้าตาดี ความเก่งที่สุด ความฉลาดที่สุด เพราะนี่คือ ความสำเร็จที่ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เกิด และระบบของสังคมก็เชื่อเช่นนั้น
ระบบการแข่งขัน กลายเป็นสนามของการฟาดฟันกัน คนเก่ง คนฉลาด คนยอดเยี่ยมเท่านั้นที่จะได้รับการคัดเลือก และเป็นผู้ชนะ พ่อแม่ผู้ปกครองก็ต้องลงสนามเพื่อการแข่งขันในครั้งนี้ด้วย ทำทุกอย่างเพื่อให้ลูกเป็นคนเก่งที่สุด เป็นคนฉลาดที่สุด เข้าเรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียง ต้องไปสถาบันกวดวิชาที่ดีที่สุด ใช้เวลาทั้งหมดกับโลกมายา เพราะเชื่อเหลือเกินว่า นี่คือ ความสำเร็จของชีวิต
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ผู้เขียนเพียงชี้ให้เห็นว่า คำพูดชื่นชม หรือการแสดงความหวังดี เป็นชุดความคิดความเชื่อ ที่สร้างภาระหน้าที่ ภาระจำยอม ให้คนที่คุณรักต้องแบกรับภาระหน้าที่นั้นไปตลอดชีวิต คือ ต้องเป็นคนสวย คนหล่อ คนเก่ง คนฉลาดเท่านั้น ไม่มีแม้แต่เสรีภาพที่จะคิด ที่จะทำด้วยตนเอง นี่คือกลไกที่คำชื่นชมมีผลต่อความคิดความเชื่อหรือมุมมองของเด็กที่ถูกปลูกฝังคำชื่นชมมาตั้งแต่เกิดว่า ความสวย ความหล่อที่เขามี ความรู้หรือผลงานที่เขาทำ เป็นความพิเศษเฉพาะตัว ไม่ได้มาจากความพยายาม การดิ้นรนต่อสู้ หรือการแสวงหาเพื่อให้ได้มา
เมื่อเป็นเช่นนี้ เขาจึงไม่สามารถยอมรับความล้มเหลว ความพ่ายแพ้ ความไม่สวย ความไม่หล่อ ความไม่เก่ง ความไม่ฉลาดได้เลย ในที่สุดความตื่นเต้นยินดีที่เกิดจากคำชื่นชม ก็กลายเป็นความกังวล ขาดความมั่นใจในตัวเอง ไม่มีแรงจูงใจ และถ้าต้องไปพบเจอกับสถานการณ์ การบูลลี่ (Bully) หรือการกลั่นแกล้งที่แสดงออกด้วยคำพูด ผ่านสื่อออนไลน์ หรือที่เราเรียกว่า การระรานทางไซเบอร์ (Cyberbully) โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความอับอาย ทำลายความมั่นใจ ทำให้เกิดความล้มเหลว ด้วยแล้วยิ่งเพิ่มแรงกดดันทำให้เขาเกิดแผลในใจ ฝังลึกจนยากที่จะเยียวยา บางรายเลือกที่จะทำร้ายตัวเองจนถึงขั้นเสียชีวิตก็มี
Carol Dweck ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา จาก Stanford University ผู้ศึกษาเรื่องชุดความคิดที่ช่วยให้คนเติบโต ชี้ว่าเด็กที่ได้รับคำชมด้วยคำว่า “เก่งมาก” “ฉลาดมาก” “ยอดเยี่ยมมาก” เพียงเพื่อให้ผ่านไป โดยไม่ได้รับความจริงใจจากผู้ใหญ่เลย มีแนวโน้มที่จะพึงพอใจกับสิ่งที่ตัวเองกำลังทำ และไม่ขวนขวายที่จะพัฒนาตัวเอง ขณะที่เด็กที่ได้รับคำชมจากความสำเร็จของเขาจริงๆ เช่น “ครูเชื่อว่าความพยายามของเธอจะไม่ล้มเหลว” กลับมีแนวโน้มที่จะพัฒนาตัวเองไปได้ไกลมากกว่า
องค์กร Gallup Organization องค์กรให้คำปรึกษาของสหรัฐอเมริกา เน้นย้ำว่า คำชมที่ดี ต้องเหมาะสมกับประสิทธิภาพ และความสำเร็จจากการทำงานที่เกิดขึ้นจริง เพราะถ้าผู้พูดไม่ได้แสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึกที่มีต่อผู้ฟังอย่างจริงใจ และเพียงแค่แกล้งชมให้มันผ่านไป นอกจากจะทำให้ผู้ฟังคนนั้นไม่ได้รับคำแนะนำจากการทำงานที่แท้จริงแล้ว ยังไม่รู้จุดที่ต้องปรับปรุงแก้ไขอีกด้วย
ดังนั้น คำพูดชื่นชม หรือการแสดงความหวังดี ผู้พูดต้องรู้จักเลือกที่จะใช้คำชื่นชม ที่สามารถสร้างผลลัพธ์ได้อย่างเป็นรูปธรรม ตัวอย่างเช่น
คำชื่นชมที่ความพยายาม : คิดในหลาย ๆ แบบ ลองในหลาย ๆ วิธี แล้วเราก็จะพบเจอวิธีที่ใช่
ผลลัพธ์ที่ได้จากคำชื่นชมนี้ : ฉันชอบลองสิ่งใหม่ ๆ ถ้าฉันเจออะไรยาก ๆ ฉันจะฮึดสู้และลงมือทำ ฉันจะไม่กลัวความล้มเหลว เพราะความล้มเหลวคือหนทางแห่งความสำเร็จ
ผลลัพธ์ที่ได้จากคำชื่นชมนี้ ยังสามารถรับมือกับการระรานทางไซเบอร์ได้อีกด้วย นั่นคือ : อดทน ยิ้มสู้ อย่าไปให้คุณค่ากับคนหรือคำพูดที่ทำร้ายเรา ควรใช้เป็นแรงผลักดันให้เราดีขึ้น ก้าวข้ามปัญหาและอุปสรรคต่าง ได้
คำชื่นชมแบบเจาะจงชัดเจน : การวิเคราะห์ว่าเหตุการณ์นี้เป็นการหมิ่นประมาทหรือไม่นั้นนักศึกษาพยายามวิเคราะห์ได้ละเอียด ครบองค์ประกอบดีมาก
ผลลัพธ์ที่ได้จากคำชื่นชมนี้ : การวิเคราะห์ที่ดีจะต้องมีความละเอียด และครบองค์ประกอบ จึงจะเป็นการวิเคราะห์ที่ดี
เรียบเรียงโดย: ผศ.ดร.บุปผา บุญสมสุข
วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ ม.รังสิต
รายการอ้างอิง
- คนพันธุ์ N. มายาคติ ในสื่อโฆษณา. จากเว็บไซด์ https://www.bangkokbiznews.com/blogs/columnist/109054. สืบค้นเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2565.
- คำชมมีผลต่อ mindset และความเชื่อที่เด็กมีต่อศักยภาพตนเอง. จากเว็บไซด์ https://www.aksorn.com/growth-mindset-2 สืบค้นเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2565.
- สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. Cyberbully คืออะไร? ส่งผลอย่างไร? และเราควรรับมือกับมันอย่างไรดี?.จากเว็บไซด์ https://resourcecenter.thaihealth.or.th/article/cyberbully- สืบค้นเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2565.
- Chonato. ชมอย่างไรให้พอดี และมีความหมาย. จากเว็บไซด์ https://thematter.co/thinkers/how-to-compliment/36385 . สืบค้นเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2565.
- Techsauce Team. คำชม คำพูดสั้น ๆ ที่สามารถปลุกไฟในการทำงานของมนุษย์เงินเดือนได้อย่างอัศจรรย์.จากเว็บไซด์ https://techsauce.co/saucy-thoughts/the-importance-of-praise-and-recognition-in-workplace สืบค้นเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2565
"