หลายคนมีความฝันบนเส้นทางอาชีพหลังเรียนจบหลากหลายรูปแบบของการเป็นสถาปนิก ไม่ว่าจะเป็นสถาปนิกในบริษัทดังๆ เปิดบริษัทของตนเอง ทำงานสายงานที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบ หรือแม้กระทั่งเบนเข็มไปทำสายอาชีพอื่นที่อยากทำ ซึ่งทุกอย่างเป็นไปได้หมด เพราะหลังเรียนจบอาจค้นพบอะไรบางอย่างที่ทำแล้วมีความสุข แต่ที่แน่ๆ ทุกคนมีจุดมุ่งหมายที่เหมือนกันนั่นคือ การได้สร้างงานออกแบบที่ดี สร้างสรรค์ มีคุณภาพ และมีจริยธรรมในตัวทุกคน
ที่ต้องเกริ่นแบบนี้เนื่องจากสารรังสิตออนไลน์ได้มีโอกาสพูดคุยกับศิษย์เก่าจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ป๊อป-ทศวรรษ ข่ายสุวรรณ เด็กถาปัตย์รุ่นที่ 11 ของมหาวิทยาลัยรังสิต ที่มีมุมมองการทำงานและการใช้ชีวิตที่เรียบง่ายที่เชื่อว่าอาจเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลายคน
ย้อนกลับเกือบ 20 ปี ป๊อป-ทศวรรษ ข่ายสุวรรณ เป็นคนจังหวัดเชียงราย ตั้งแต่เด็กจนถึงวัยรุ่นใช้ชีวิตการเรียนระดับประถมฯ มัธยมฯ อยู่ในจังหวัดเชียงราย ส่วนระดับอุดมศึกษานั้นเลือกมาเรียนต่อที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ด้วยเหตุผลที่ว่าคณะที่ตนเองเลือกเรียนมีชื่อเสียงเรียกว่าดังอยู่พอสมควร มีผลงานของรุ่นพี่ให้เราได้เห็นค่อนข้างเยอะบวกกับมีการบอกต่อกันมาปากต่อปากว่าถาปัตย์รังสิตดี จึงได้มาเรียนที่นี่เป็นรุ่นที่ 11 ถึงแม้ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนแต่ด้วยวิชาชีพเฉพาะก็มีความมั่นใจว่าเรื่องการเรียนการสอนทันกันอยู่แล้ว และเชื่อว่าเครื่องไม้เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงสถานที่มีความพร้อมมาก บรรยากาศการเรียนที่เมื่อนึกย้อนไปแล้วยังอมยิ้มมีความสุขเสมอ คือ สังคมเพื่อนๆ
“ด้วยความเป็นเด็กต่างจังหวัดไม่รู้จักใคร มาใช้ชีวิตใหม่กับเพื่อนใหม่ สังคมใหม่ แต่เมื่อก้าวเข้ามาในรั้วมหาวิทยาลัยรังสิต ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ไม่ได้รู้สึกโดดเดี่ยวเลย เพราะกิจกรรมการรับน้องของคณะทำให้ถูกละลายพฤติกรรมกลายเป็นเพื่อน เป็นพี่ เป็นน้อง กันอย่างรวดเร็ว สังคมใหม่จึงเกิดขึ้นไปพร้อมกับการเรียน ส่วนวิชาการก็เข้มข้นมากในแต่ละวิชา กิจกรรมก็แน่น เราสนุกไปกับวิชาต่างๆ ตลอด 5 ปี อาจารย์มีความเป็นกันเองมากช่วยเหลือให้คำปรึกษาตลอด มีอะไรก็แบ่งปันคอยสนับสนุนกัน มีปัญหาก็ช่วยกันแก้ทำให้ไม่เครียดในช่วงที่เรียนอยู่
ด้านการเรียนส่วนมากอาจารย์มักจะมีการตั้งคำถาม ตั้งโจทย์ นำปัญหาใหม่ๆ มาสอนให้เราได้หาวิธีหาทางแก้ไข ซึ่งตามวิถีตัวตนของเราก็จะมีทั้งที่ชอบบ้างไม่ชอบบ้าง งานไหนถนัดก็จะทำออกมาได้ดี ส่วนงานไหนไม่ถนัดก็พยายามทำ ตรงนี้ทำให้ได้รับประสบการณ์และเรียนรู้ตัวเองไปด้วยว่าเราชอบงานออกแบบในรูปแบบไหนซึ่งจะง่ายเมื่อนำไปประกอบอาชีพ เมื่อเรียนจบชีวิตการทำงานเริ่มต้นด้วยการไปทำงานในบริษัทออกแบบตกแต่งภายใน จากนั้นย้ายไปทำบริษัทสถาปนิกระยะหนึ่งก็ตัดสินใจกลับมาทำงานที่จังหวัดเชียงรายซึ่งเป็นบ้านเกิด โดยเริ่มจากทำงานเป็นนักผังเมืองของกรมโยธาธิการและผังเมือง จังหวัดเชียงราย จากนั้นเริ่มสอบบรรจุรับราชการเป็นสถาปนิกประจำเทศบาลอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย”
จุดเปลี่ยนของ ป๊อป-ทศวรรษ ข่ายสุวรรณ ที่เปลี่ยนจากการทำงานเป็นสถาปนิกในเมืองมาใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายที่บ้านเกิดนั้น นำอาชีพที่ร่ำเรียนมากลับมาทำประโยชน์ ด้วยส่วนตัวมีแง่คิดที่บอกกับตัวเองว่า “การใช้ชีวิตในเมืองกับชนบทมันเป็นคนละอารมณ์ ทำงานในเมืองแน่นอนว่าใครๆ ก็อยากอยู่ อยากทำ แต่ส่วนตัวคิดว่า ที่ชนบทอย่างบ้านเกิดของเรายังมีสถาปนิกน้อย น่าจะมีโอกาสเยอะกว่าในการพัฒนาตนเอง พัฒนาเมือง สังคมที่เราเคยอาศัยอยู่ จากความคิดนี้ผ่านมา 14 ปี การตัดสินใจกลับบ้านไม่เสียใจเลย เพราะเราได้เห็นการพัฒนาของตัวเองมาเรื่อยๆ ผลงานที่เราพยายามทำให้กับเมืองของเราก็เห็นผลชัดเจน ปัจจุบันรับตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายแบบแผนและก่อสร้าง ดูและแบบแปรนต่างๆ ประเมินราคา คุมงานออกแบบโครงการสาธารณูปโภคต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในเขตอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย”
ประสบการณ์ที่อยากส่งต่อให้กับน้องๆ คือ การเรียนและการทำงาน เป็นคนละเรื่องกัน สิ่งที่เราได้รับมาจากการเรียนคือการปูพื้นฐานให้กับเราเพื่อพร้อมทำงาน แต่การทำงานเราต้องนำเอาสิ่งที่เรียนมาประยุกต์ใช้ตามบริบทที่เราอยู่ เพราะการทำงานจริงของสถาปนิกในสายงานผังเมืองเราไม่ได้ทำแค่ออกแบบอย่างเดียว อาจจะมีงานก่อสร้าง งานจัดสวน งานดีไซน์ทุกอย่างที่เกี่ยวกับการออกแบบ งานถนน งานโยธา รวมถึงงานเพื่อสังคมและงานอื่นๆ ที่เราต้องปรับและพัฒนาควบคู่ไป ฉะนั้นสิ่งที่เรียนมาโดยเฉพาะวิธีคิดแบบสถาปัตย์ เป็นวิธีคิดที่มีแบบแผน มีที่มาที่ไป มีเป้าหมาย มีผลลัพธ์ ทำให้เราเราสามารถหยิกยกมาปรับใช้ได้หมด
การเตรียมตัวไม่ว่าจะเป็นสถาปนิกหรือเตรียมพร้อมที่จะทำงานในสายออกแบบก็ตาม อย่างแรกต้องมั่นใจในสายวิชาชีพที่เราเลือกเรียน เราเลือกถูก และเราตั้งใจ ประสบการณ์ด้านไหนที่เราคิดว่าเราไม่มี เราขาด และหากจะเพิ่มศักยภาพให้กับตัวเองได้ เราต้องฝึก เราต้องขวนขวาย อดทนที่จะลองทำ ที่สำคัญคือเราต้องมุ่งมั่น
อาชีพสถาปนิก...
อยู่ที่ไหนเราก็เป็นสถาปนิกที่ดีได้
อยู่ที่ว่าเราอยู่ตรงไหนแล้วมีความสุข
หากมีโอกาสอยู่ในเมือง เราจะได้เป็นสถาปนิกออกแบบตึกสูง สวยงาม หรูหรา ซึ่งก็ดี แต่การสถาปนิกชนบท เป็นงานออกแบบแนวท้องถิ่น เน้นสังคม วัฒนธรรมพื้นบ้าน แหล่งท่องเที่ยว สร้างสถาปัตยกรรมจุดขายของแหล่งท่องเที่ยวเพื่อสะท้อนอารยะธรรมของท้องถิ่น การได้ออกแบบงานพื้นถิ่นเป็นงานท้าทายความสามารถ และผลงานเหล่านี้จะเกิดความภาคภูมิใจ เมื่อได้เห็นงานออกแบบสถาปัตยกรรมของเราไม่ว่าจะรูปแบบใด ในบริบทไหน ได้เกิดขึ้นจริงในบ้านเกิดของเรา ด้วยมือของเราเอง
"