“คนที่เป็นนักข่าว บางสถานการณ์เราไม่สามารถเลือกได้ว่าจะไม่ไปที่ไหน แต่เมื่อได้รับมอบหมายให้ทำข่าวนั้นแล้ว ต้องทำหน้าที่ในทุกสถานการณ์ให้เต็มที่อย่างสุดความสามารถ เพราะในทุกสนามข่าวผมพร้อม... อนุวัต จัดให้”
หากเอ่ยชื่อนักข่าวโทรทัศน์ในยุคนี้ เชื่อว่าไม่มีใครไม่รู้จัก “หนุ่ม-อนุวัต เฟื่องทองแดง” ผู้สื่อข่าวภาคสนามคนสำคัญแห่งช่อง 7 เจ้าของรางวัลโทรทัศน์ทองคำ “ผู้สื่อข่าวดีเด่น” ที่โด่งดังและถูกกล่าวขานเพียงชั่วข้ามคืนจากเหตุการณ์การปะทะระหว่างนักศึกษากับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อประมาณปี 2556 ด้วยการทำข่าวรายงานสถานการณ์ข่าวแบบสด ทันต่อเหตุการณ์ และเจาะลึกอยู่กับสถานการณ์นั้น จนต้องหมอบคลานผ่านนาทีระทึกเสี่ยงตายในเวลาเดียวกัน จนเป็นกระแสข่าวและถูกพูดถึงในสังคมโซเซียลในช่วงเวลานั้น และยังคงเป็นเหยี่ยวข่าวที่ฮอตและถูกพูดถึงในปัจุบัน กับวลีฮิตติดปากที่พูดหลังรายงานข่าวว่า “อนุวัต จัดให้”

ก่อนจะมาเป็นเหยี่ยวข่าวภาคสนาม
“จริงๆ แล้วเราเป็นคนชอบเที่ยว ติดเพื่อน ไม่ค่อยสนใจเรื่องเรียนเท่าไหร่ ทำให้ช่วงที่ตัดสินใจเข้าเรียนมหา’ลัย ต้องมานั่งทบทวนตัวเองว่า จริงๆ แล้วอะไรที่เป็นตัวเราเองมากที่สุด จนพบคำตอบว่า เราไม่เก่งด้านวิทย์ ด้านภาษาก็ไม่ค่อยดี แต่ด้วยความที่เราเป็นคนกล้าแสดงออก ทักษะหรือสิ่งที่เราทำได้ดีคือเรื่องของการพูด การพรีเซนต์ จึงทำให้ตัดสินใจที่จะเรียนต่อทางด้านนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต โดยเลือกเรียนสาขาวิชาวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ตลอดช่วงเวลาที่เรียนเราสนุกกับมัน ได้ทำส่งที่อยากทำ ได้รู้ว่าอะไรที่เราทำได้ดี และอะไรที่เราไม่ชอบ นั่นก็คือเรื่องของการเขียนข่าว แต่สุดท้ายโชคชะตาและโอกาสก็ทำให้หลังเรียนจบ ผมได้เข้าสู่สนามข่าว โดยเริ่มต้นงานด้านสารคดีข่าวที่แปซิฟิก มีโอกาสโอกาสได้สิ่งที่เรียนมา ทั้งเขียนสคริปต์บทวิทยุ ทำสารคดีทีวี ขณะดียวกันอีกมุมหนึ่งเราได้เห็นข่าวต่างๆ ในทีวีก็รู้สึกว่า อยากทำแบบนั้นบ้าง ถ้าเราอยู่ในข่าวเราน่าจะทำได้ดี จึงเดินไปบอกผอ.ฝ่ายข่าวว่าอยากทำข่าวบ้าง เขาจึงย้ายให้ไปอยู่ฝ่ายข่าว แต่นั่นแหละ! ทุกอย่างไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด กับคนที่สมัยเรียนไม่ชอบการเขียนข่าวเลย แต่อยากทำข่าวให้ได้ดี ซึ่งโจทย์ก็คือ เขียนข่าวได้ดี ตรงประเด็น”

สำหรับการเริ่มต้นงานในสายข่าวของหนุ่ม อนุวัตนั้น หลังจากย้ายแผนกมาทำสายข่าวกับศูนย์ข่าวแปซิฟิก ช่วง 6 เดือนแรก เครียดมาก โดนดุทุกวัน ร้องไห้ทุกวัน เพราะความที่เราเขียนข่าวไม่เป็น จึงเหมือนกับต้องเริ่มจากศูนย์เรียนรู้พื้นฐานใหม่ทั้งหมด เรื่องของการออกเสียงอ่านข่าวก็ต้องเริ่มใหม่ ฝึกลงเสียงเอง ทุกวันกลับบ้านก็มีแต่เรื่องต้องคิด ก็ได้แต่บอกกับตัวเองว่า คนอื่นก็มีสองมือหนึ่งสมองเหมือนกับเรา หากจะต่างกันก็แค่สมองเราอาจจะเรียนรู้ช้ากว่าคนอื่นเท่านั้นเอง และหลังจากทำงานอยู่ที่ศูนย์ข่าวแปซิฟิกได้ประมาณ 2 ปี จึงได้ตัดสินใจไปสมัครสอบผู้สื่อข่าวกับทางสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ผลคือติด 1 ใน 5 และได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้สื่อข่าวที่นี่ ซึ่งเป็นรุ่นเดียวกับ แยม-ฐปนีย์ เอียดศรีไชย (นักข่าวภาคสนามแห่งช่อง 3 ในปัจจุบัน) ซึ่งเรียนรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์อยู่ที่ไอทีวีประมาณ 4-5 ปี ที่นี่สอนเกี่ยวกับการทำงานด้านข่าวเยอะมาก มีรุ่นพี่ที่เป็นต้นแบบการทำงานด้านข่าวที่เป็นมืออาชีพในวงการข่าวหลายคน เช่น กิตติ สิงหาปัด, จตุรงค์ สุขเอียด, เชิงชาย หว่างอุ่น และธีระ ธัญญอนันต์ผล เป็นต้น ซึ่งความเป็นมืออาชีพจากการทำงานข่าวของทุกคนเหล่านี้ได้ทำให้เราได้เรียนรู้และนำมาพัฒนาตัวเองต่อไปได้ กระทั่งไอทีวีปิดตัวลง จึงได้มาร่วมงานกับทางช่อง 7 โดยเป็นทั้งผู้ประกาศข่าวและผู้สื่อข่าวจนถึงทุกวันนี้
วันนี้บนเส้นทางข่าวของ “อนุวัต จัดให้”
“กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ เรื่องราวระหว่างทางทำให้เราได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง ทุกอย่างอาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิดเสมอไป แต่เมื่อเราเชื่อมั่น พรสวรรค์ก็คงไม่สู้พรแสวง คนขยันพยายามจะผ่านไปได้ทุกเส้นทาง ถ้าถามว่าการได้ไปลงพื้นที่ทำข่าวที่มีเหตุการณ์เสี่ยงอย่างเช่นตอนมีม็อบเราไม่กลัวเหรอ คงต้องบอกว่าเมื่อหน้าที่ถูกกำหนดไว้ เราเลือกไม่ได้ว่าจะไม่ไปที่ไหน สิ่งสำคัญคือต้องรายงานทุกสถานการณ์ให้ดีที่สุดบนพื้นฐานของความจริงและความถูกต้องเมื่อได้รับมอบหมาย อนุวัตจัดให้อาจจะต้องไปปีนผา โรยตัว หรือต้องอยู่กลางม็อบท่ามกลางความเสี่ยงด้วยความเป็นนักข่าวก็ต้องทำให้เต็มที่อย่างสุดความสามารถ แน่นอนว่าสัจธรรมคือ คนเราทุกคนเกิดมาต้องตาย แต่จะดีกว่าหากเราตายในหน้าที่ได้ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม เป็นสื่อมวลชนที่ดีของสังคม”

“ต้องบอกว่าหลายอย่างในชีวิตอนุวัตได้มาจากดวงและผู้ใหญ่ให้โอกาสทั้งสิ้น เช่น เมื่อครั้งน้ำท่วมปี 2554ไปลงพื้นที่กับศรีสุภางค์ (เพื่อนนักข่าว) เราสองคนรับหน้าที่ทำข่าวแจกของน้ำท่วมที่ลพบุรี แต่ศรีสุภางค์ต้องกลับมาอ่านข่าวตอนเย็น แต่เหตุการณ์ในขณะนั้นมวลน้ำหลากมาเยอะทำให้ไม่สามารถกลับมาได้ แต่เราต้องเจาะประเด็นทำข่าวให้ได้ จึงแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าโดยหาทีมกล้องในพื้นที่ลพบุรี เราจึงสามารถเข้าไปที่ไกลๆ และรายงานข่าวถ่ายทอดผ่านช่องได้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่แตกต่างจากช่องอื่นๆ รายงาน ผู้ใหญ่ของช่องเห็นก็ชอบมากจึงให้เราไปรายงานข่าวน้ำท่วมทุกวันในช่วงนั้น ไปไกลๆ ไปลึกๆ ที่คนอื่นไม่ไปแต่เราไปได้ เมื่อจบช่วงสถานการณ์น้ำท่วมก็กลับไปทำข่าวการเมืองเหมือนเดิม และได้รับโอกาสอีกครั้งจากทางช่องให้ไปทำสนามข่าว ห้องข่าว 7 สี ในรูปแบบสไตล์อนุวัต จึงมาเป็นอนุวัต จัดให้ ในทุกวันนี้ มากับดวงและโอกาสล้วนๆ (หัวเราะ)”
ยุคโซเซียลกับการทำงานบนหลักจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อมวลชน
ทุกวันนี้เป็นยุคโซเซียล ข่าวต่างๆ ที่นำเสนอวัดกันด้วยกระแสและความเร็วของการรายงาน แต่ในฐานะสื่อเราควรจะปฏิบัติหน้าหน้าที่โดยยึดจรรยาบรรณของวิชาชีพเป็นที่ตั้ง ต้องใช้ความรอบคอบ ตรวจสอบข้อมูลเช็คให้แน่นอน ให้ชัวร์ก่อนแชร์ เมื่อความแข่งขันสูงแน่นอนความรวดเร็วมีจำเป็นแต่ความถูกต้องคือสิ่งสำคัญที่สุด
เคล็ดลับสู่ความสำเร็จในแบบฉบับของอนุวัต
“ขอแค่ทำหน้าที่ให้ดีที่สุดในทุกๆ วันอย่างตั้งใจ แม้เราจะไม่ได้เป็นคนเก่ง แต่ความตั้งใจ พยายาม และความอดทน จะพาเราไปสู่ทางแห่งความสำเร็จ และหากได้รับมอบหมายให้ทำอะไรก็ตาม จงมุ่นมั่นและทำให้ดีที่สุด อย่าเพิ่งคิดว่าเราจะทำไม่ได้ ลองทำก่อน ลองสู้ก่อน ทุกคนมีความเปราะบาง ยังไม่มีความแข็งแกร่ง เมื่อเราผ่าน ไปได้ เราจะแข็งแกร่งขึ้น สำหรับอนุวัตบอกได้เลยว่าสิ่งที่มีในตัวอย่างเต็มเปี่ยม คือ ความพยายาม”
"