“การสอนนักเรียนว่ายากแล้ว แต่การสร้างแรงกระตุ้นให้ผู้เรียนอยากเรียนรู้นั้นยากยิ่งกว่า...”
และยิ่งในยุคที่ไลฟ์สไตล์การเรียนรู้ของเด็กเปลี่ยนไป จึงเป็นความท้าทายของอาจารย์ผู้สอนที่จะนำเอาเทคนิค หรือปรับเปลี่ยนวิธีการสอนแบบไหนมาทำให้การเรียนเป็นเรื่องสนุก หรือทำให้การเรียนในเรื่องยากๆ กลายเป็นเรื่องที่ไม่น่าเบื่อ และสามารถสร้างแรงกระตุ้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมไปกับการเรียน เพราะคุณภาพของผู้เรียนนอกจากจะเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบของตัวผู้เรียนเอง เช่น ความพร้อม สติปัญญา เจตคติ และสภาพแวดล้อมอื่นๆ แล้ว กระบวนการเรียนการสอนของอาจารย์ก็นับว่าเป็นสิ่งสำคัญต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนเช่นกัน ดังนั้น เทคนิคการสอนแนวใหม่จึงมีความจำเป็นสำหรับอาจารย์ผู้สอนในยุคศตวรรษที่ 21
มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นสถาบันการศึกษาที่เปิดหลักสูตรการเรียนการสอนหลากหลาย และมีความเข้มแข็งทางวิชาการ มีอาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถ วันนี้สารรังสิตออนไลน์จะขอวาร์ปพาทุกคนไปดูห้องเรียนแลปทางด้านสายวิทย์และวิศวกรรมศาสตร์กัน อาจจะดูเหมือนเป็นห้องเรียนที่เครียดๆ เรียนกันยาก แต่ด้วยเทคนิคการสอนของสองอาจารย์หนุ่ม รับรองงานดี สนุก เป็นยังเป็นขวัญใจนักศึกษาอีกด้วย
![](/upload/image/2018/WI/AJ-Nattpawit-Prapol/01.jpg)
แลป 1: ห้องเรียนเด็กวิทย์ คลาสเรียนที่ว่าด้วยร่างกายของมนุษย์
เริ่มกันที่ห้องแลปแรกกันก่อน คลาสเรียนซึ่งเป็นที่กล่าวขานของเด็กวิทย์ว่าอาจารย์สอนสนุก เทคนิคการสอนแพรวพราว โดย อ.น้ำโค้ก หรือ อาจารย์ณัฏฐ์ปวิตร แก้วหนูนวล สังกัดหมวดวิชากายวิภาคศาสตร์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
![](/upload/image/2018/WI/AJ-Nattpawit-Prapol/06.jpg)
“ย้อนกลับไปเมื่อครั้งเป็นนักศึกษา ตนเองได้เลือกเรียนทางด้านกายวิภาคศาสตร์ เพราะมีความสนใจทางศาสตร์ด้านของร่างกายมนุษย์ เชื่อว่าสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าและใช้กล้องจุลทรรศน์ ทุกอย่างมีอยู่จริง สามารถจับต้องได้ จึงทำให้เราเชื่อว่ามีอยู่จริง ขณะเดียวกันไม่ชอบเรียนสาขาที่ให้ท่องจำจากภาพหรือไดอะแกรมโดยที่เรามองไม่เห็นตัวตน และจะไม่เชื่อว่ามันมีอยู่จริง และนี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่สนใจศึกษาต่อทางด้านนี้ และปัจุบันก็สอนทางด้านกายวิภาค ซึ่งนักศึกษาส่วนใหญ่ที่จะได้เรียนกับเราจะเป็นกลุ่มนักศึกษาสายวิทย์ โดยสอนนักศึกษาแพทย์ 3 ระบบคือ ระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ ระบบไหลเวียนโลหิต ระบบประสาท และระบบทางเดินปัสสาวะ สอนนักศึกษาทันตแพทย์ 4 วิชาคือ มหกายวิภาคศาสตร์มนุษย์ จุลกายวิภาคศาสตร์ ประสาทกายวิภาคศาสตร์ และเอ็มบริโอ สอนวิชากายวิภาคศาสตร์พื้นฐานให้แก่นักศึกษาเภสัชศาสตร์ เทคนิคการแพทย์ การแพทย์แผนตะวันออก แพทย์แผนไทย แพทย์แผนจีน ทัศนมาตรศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์ ซึ่งรายวิชาเหล่านี้อนาคตนักศึกษาจะสามารถนำความรู้ที่ได้เรียนไปบูรณาการกับผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี เเละมีสอนเพิ่มเติมให้เเก่นักศึกษาในคณะรังสีเทคนิค เเละอาชญาวิทยาเเละนิติวิทยาศาสตร์อีกด้วย”
![](/upload/image/2018/WI/AJ-Nattpawit-Prapol/03.jpg)
“ครูดีอยู่ที่ถ่ายทอดและทุ่มเท” คือสิ่งที่ อ.น้ำโค้ก ยึดถือปฏิบัติเป็นแนวทางในการสอนตลอดมา ขณะเดียวกันด้วยเนื้อหาการเรียนการสอนที่เป็นเรื่องยาก ประกอบกับไลฟ์สไตล์การเรียนรู้ของผู้เรียนที่เปลี่ยนไป อ.น้ำโค้ก จึงมักมีเทคนิคการเรียนการสอนใหม่ๆ หรือวิธีการสอนให้นักศึกษาเข้าใจเนื้อหาบทเรียนเรื่องที่ยากให้สามารถเข้าใจง่ายขึ้น![](/upload/image/2018/WI/AJ-Nattpawit-Prapol/05.jpg)
“กายวิภาคศาสตร์เป็นรายวิชาที่ต้องใช้ความจำ ซึ่งอาจะดูน่าเบื่อสำหรับผู้ที่ไม่ชอบการท่องจำ และการสอนที่บรรยายตามสไลด์จึงเป็นสิ่งที่ไม่น่าสนใจ และการที่เราอยากให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนการสอนนั้น ผมได้นำเทคนิคหลายอย่างมาใช้ เช่น ให้มีการถามตอบตลอดเวลาเพื่อเป็นการกระตุ้นสมองให้ตื่นตัว ไม่เน้นตัวหนังสือเยอะมาก ที่สำคัญคือต้องสอดแทรกหลักการจำที่ทำให้นักศึกษาจำได้ง่ายขึ้น ส่วนการสอนในห้องปฏิบัติการมหกายวิภาคศาสตร์ ซึ่งเป็นห้องที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศผนวกกับมีกลิ่นฟอร์มาลีนที่คละคลุ้ง เราก็ต้องสร้างบรรยากาศให้น่าเรียน เช่น มีร้องเพลงตอนที่กำลังชำแหละบ้าง มีการถามตอบขณะเรียนชำแหละ ถ้านักศึกษาตอบไม่ได้ก็จะมีการนับถอยหลังเรื่อยๆ แล้วใช้ฟอร์เซ็ปเคาะหัวเบาๆ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้นักศึกษาตอบ เขาก็จะพยายามคิดเพื่อไม่ให้โดนทำโทษ ถ้าใครโดนเคาะแล้วถามซ้ำอีกครั้งก็จะตอบได้ทันที หรือถ้าคนไหนพูดหรือเขียนผิดบ่อยๆ จะเอาปากกามาเขียนคำนั้นไว้ที่แขนนักศึกษาตัวโตๆ เพราะวิชานี้ผู้เรียนต้องฟังซ้ำๆ พูดซ้ำๆ อ่านซ้ำๆ เขียนซ้ำๆ ไม่มีใครอ่านรอบเดียวแล้วจำเนื้อหาได้ทั้งหมด ถ้าเขาได้พูดบ่อยๆ ก็เป็นเทคนิคหนึ่งที่ทำให้จำเนื้อหาได้ดี"![](/upload/image/2018/WI/AJ-Nattpawit-Prapol/09.jpg)
![](/upload/image/2018/WI/AJ-Nattpawit-Prapol/02.jpg)
นอกจากนี้ การพูดชื่นชมนักศึกษาเวลาที่เขาทำถูกต้องก็สามารถสร้างบรรยากาศการเรียนการสอนที่เป็นกันเอง ผู้เรียนกล้าที่จะพูดคุยสอบถาม การเรียนการสอนก็จะสนุก ไม่น่าเบื่อ เช่น เวลาที่สอนชำแหละร่างกาย หากนักศึกษาทำดีและถูกต้องก็มีการพูดชมเพื่อเป็นการสร้างกำลังใจ เช่น เก่งมากครับหมอ, เยี่ยมมากค่ะหมอ, ดีมากครับหมอ เราเชื่อว่าการเรียกเขาว่าหมอจะทำให้เขามีความภาคภูมิใจในตัวเองและในอาชีพ และจะพยายามไม่แสดงความอ่อนล้าให้นักศึกษาเห็นเพราะจะทำให้เขาอ่อนล้าไปด้วย ถึงแม้จะสอนจนเลยเวลาแต่ถ้ายังไม่เสร็จก็จะยังไม่ปล่อยให้กลับ จะอยู่ด้วยจนกว่านักศึกษาจะชำแหละเสร็จ เพื่อแสดงให้นักศึกษาเห็นว่าพวกเขาต้องมีความรับผิดชอบในหน้าที่ของตน เหล่านี้คือสิ่งที่เราสอดแทรกให้เขานอกจากเรื่องของความรู้ในห้องเรียน” อาจารย์ณัฏฐ์ปวิตร กล่าวเพิ่มเติม![](/upload/image/2018/WI/AJ-Nattpawit-Prapol/08.jpg)
เพราะเป็นคนที่ชอบเรียนรู้ ศึกษาสิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ปัจจุบัน อ.น้ำโค้ก กำลังศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาชีวภาพการแพทย์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และสำหรับน้องๆ นักศึกษาคนใดที่สนใจทางด้านกายวิภาคศาสตร์ สามารถพูดคุย หรือสอบถามเกี่ยวกับการเรียนได้ที่ FB: Nattpawit Kaewnoonual หรือสามารถเข้าร่วมกลุ่มได้ที่ Group FB: ทวนกรอสอนาโตมี่กับพี่น้ำโค้ก
แลป 2: ห้องเรียนเด็กวิศวะฯ อุตสาหการ
![](/upload/image/2018/WI/AJ-Nattpawit-Prapol/072.jpg)
“วิศวะ” คณะที่ใครๆ ใฝ่ฝันอยากเรียน ซึ่งการเรียนวิศวะนั้นบอกเลยว่า ไม่ได้ง่าย แต่ก็ไม่มีอะไรยากเกินความตั้งใจ เอาเป็นว่าวาร์ปไปเรียนกันต่อไม่รอแล้วนะ สำหรับคลาสเรียนของเด็กเกียร์ สาขาวิศวกรรมอุตสาหการนั่นเอง สอนโดยอาจารย์หนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรง อ.กอล์ฟ หรือ ดร.ประพล จิวะพรทิพย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
![](/upload/image/2018/WI/AJ-Nattpawit-Prapol/02(1).jpg)
“ทุกวันนี้สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเข้ามามีบทบาทต่อไลฟ์สไตล์ของคนเราคือเรื่องของเทคโนโลยี แน่นอนว่าเด็กส่วนใหญ่ที่เรียนทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ มีความสนใจหรือชอบเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ๆ อยากจะพัฒนาเทคโนโลยีนั้นให้เกิดประโยชน์ที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่ผู้ใช้งานอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งต้นทางของการผลิตบุคลากรออกไปสู่อุตสาหกรรมตลาดงานคือ สถาบันการศึกษา ฉะนั้น ผู้สอนเองก็ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการสอนให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของบริบทต่างๆ และสำหรับเด็ก Gen นี้ซึ่งมีโลกส่วนตัว มีความคิดเป็นของตนเอง นอกจากความรู้จากอาจารย์ผู้สอนแล้ว บางอย่างเขาสามารถหาความรู้เพื่อต่อยอดเพิ่มเติมได้จากอินเทอร์เน็ต แต่สิ่งสำคัญในการที่เราจะกระตุ้นให้เขามีความสนใจในการเรียนการสอนคือ เราในฐานะผู้สอนจะต้องหาอะไรที่น่าสนใจและแปลกใหม่มาสอนเพิ่มเติมอยู่เสมอ ให้เขาได้เห็นภาพชัดเจนมีความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่เรียนมากขึ้นว่าเรียนไปเพื่ออะไร ต้องมีตัวอย่างประกอบให้เห็นชัดเจน แม้ว่าทฤษฎีจะเป็นเรื่องสำคัญ แต่การเรียนการสอนในรูปแบบที่ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริงนั้น จะสามารถทำให้ผู้เรียนนำความรู้ไปใช้เเละต่อยอดไปสู่เป้าหมายได้เป็นอย่างดี”![](/upload/image/2018/WI/AJ-Nattpawit-Prapol/071.jpg)
![](/upload/image/2018/WI/AJ-Nattpawit-Prapol/073.jpg)
โอกาสที่ท้าทายกับ “วิศวกร” ในสมรภูมิตลาดงานที่เปิดกว้างยุคไทยแลนด์ 4.0
ดร.ประพล กล่าวเพิ่มเติมว่า การเรียนการสอนในหลักสูตรวิศวกรรมอุตสาหการ ม.รังสิต เน้นให้นักศึกษาเรียนทฤษฎีควบคู่กับการปฏิบัติจริงในโรงงานอุตสาหกรรม โดยนำปัญหาจากหน้างานจริงมาให้นักศึกษาได้เรียนรู้วิธีการแก้ไขในระหว่างเรียนและทำโปรเจกต์จบ ผู้เรียนจะได้เห็นภาพทุกอย่างก่อนออกไปทำงานจริง และรู้ได้ว่ามีความถนัดทางด้านไหน ตอนปฏิบัติงานจริงจะได้เลือกไปอยู่ในส่วนงานที่ถนัดหรือสนใจและสามารถทำงานนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งไม่ใช่แค่ในโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ยังสามารถแตกแขนงไปได้หลากหลายภาคส่วน เมื่อพูดถึงอุตสาหกรรม 4.0 ในประเทศไทย เราเป็นประเทศที่เป็นฐานการผลิตที่สำคัญไม่ใช่แค่ในระดับอาเซียน แต่รวมไปถึงระดับเอเชีย เราจำเป็นต้องมีการพัฒนาอุตสาหกรรมให้ก้าวล้ำทันสมัยกับการเปลี่ยนแปลงของโลกเสมอ ![](/upload/image/2018/WI/AJ-Nattpawit-Prapol/03(1).jpg)
ดังนั้น วิศวกรรมอุตสาหการจึงเป็นหนึ่งในสาขาวิชาที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรม 4.0 โดยตรง เพราะเราผลิตวิศวกรที่สามารถใช้เทคโนโลยีและเทคนิคต่างๆ ในการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต อาทิ เช่น การใช้ซอร์ฟแวร์เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการในโรงงานอุตสาหกรรมและการดีไซน์แผนผังโรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ
ทั้งนี้ ปัจจุบันทางหลักสูตรฯ ได้มีการปรับหลักสูตรให้รองรับอุตสาหกรรม 4.0 โดยเรียนเทคนิคทางด้านวิศวกรรมและการทำงานวิจัยที่สอดคล้องควบคู่ไปกับการบูรณาการณ์ในเรื่องการบริหารจัดการและการตลาด ฯลฯ![](/upload/image/2018/WI/AJ-Nattpawit-Prapol/0U7A9061.jpg)
สำหรับใครที่สนใจเกี่ยวกับการเรียนการสอนในหลักสูตรวิศวกรรมอุตสาหการ สามารถเจอ ดร.ประพล ได้ในรายวิชา IEN 484 CAD/CAM วิชา IEN 499 Rapid Prototyping วิชา IEN 361 Engineering Materials(Inter) และ รายวิชา MAT 238 Differential Equations for Engineers หรือสอบถามเกี่ยวกับการเรียนวิศวะได้ที่เพจ: https://www.facebook.com/EngineeringRSU/
โอ้โห! ไม่ธรรมดาเลยจริงๆ สำหรับมุมมองความคิด และเทคนิคการสอนของอาจารย์ทั้งสองท่าน เห็นแบบนี้ก็ทำให้คิดเลยว่า
“วิชาที่ง่าย ถ้าอาจารย์สอนยาก วิชานั้นก็อาจจะกลายเป็นวิชาที่ยากได้ ขณะเดียวกัน วิชาที่ยาก ถ้าอาจารย์สอนง่าย วิชานั้นก็กลายเป็นวิชาที่ง่ายได้เช่นเดียวกัน”
หนึ่งต้นกล้าจะเติบโตอย่างงดงามได้ ต้องผ่านการดูแลบ่มเพาะมาเป็นอย่างดี เช่นเดียวกับคนหนึ่งคนจะประสบความสำเร็จได้ก็ต้องผ่านการเรียนรู้และความพยายามเป็นร้อยเป็นพันครั้ง ขอเป็นกำลังใจให้ครูอาจารย์ผู้ประสาทวิชา และเป็นกำลังใจให้น้องๆ นักศึกษาก้าวไปตามฝันให้สำเร็จด้วยจ้า
สำหรับคลาสหน้าจะไปวาร์ปกันต่อที่ห้องเรียนไหน โปรดติดตามเร็วๆ นี้...
"