กายภาพบำบัดลงจอ

27 Nov 2019

 

            TEE ใครทีมันส์ ละครน้ำดีของสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ที่มีนางเอกเป็นนักกายภาพบำบัด ดูแลเรื่องกล้ามเนื้อและโภชนาการ ละครอาจแสดงบทบาทกายภาพบำบัดได้ไม่ชัดและไม่สมบูรณ์นัก พอเข้าใจได้เนื่องจากอรรถรสของละครที่เน้นดราม่า แต่ในอีกมุม "งานกายภาพบำบัดทางการกีฬา" ก็ได้ถูกปรากฎในจอทีวีให้ประชาชนได้รับรู้มากขึ้น วันนี้เราจะพาไปดูกันว่าสิ่งที่ได้จากการดูละครในแต่ละตอนนั้นมีอะไรที่น่าสนใจบ้าง

 

ภาพประกอบ :  Ch3Thailand

 

ตอนที่ 1

โปรตฤณเจ็บโคนนิ้วโป้ง ทำให้นางเอกซึ่งเป็นนักกายภาพบำบัดต้องช่วยรักษาให้ หลายคนคงสงสัยว่าพระเอกเป็นอะไรนะ?

เราจะพาไปรู้จักกับโรคปลอกหุ้มเส้นเอ็นข้อมืออักเสบ หรือ De-Quervain's Disease

            โรคปลอกหุ้มเส้นเอ็นข้อมืออักเสบคือ การอักเสบของปลอกหุ้มเส้นเอ็นบริเวณนิ้วโป้ง เวลาที่ใช้งานนิ้วโป้งซ้ำๆ ในท่ากางหรือกระดกนิ้วโป้ง กระดกข้อมือ ใช้มือบ่อยๆ เอ็นของเราจะเสียดสีไปมากับปลอกหุ้มเอ็นจนบาดเจ็บ คล้ายกับเอาแขนไปถูกับพื้น เมื่อปลอกหุ้มเอ็นอักเสบมันจะหนาตัวขึ้นและเบียดกดทับเส้นเอ็น ทำให้เกิดการบาดเจ็บและปวดได้ และการอยู่ในท่าทางที่มีแรงกระชากที่ข้อมือเช่น การสวิงกอล์ฟแรงๆ ร่วมกับบิดข้อมือ มีการสะบัดข้อมืออย่างเร็วและแรงซ้ำๆ เหมือนในตอนที่พระเอกยกดัมเบลขึ้นมาแล้วน้ำหนักเยอะเกินไป เผลอทำหลุดมือ ทำให้เกิดแรงกระชากที่ข้อมือทางนิ้วโป้งอย่างรวดเร็ว อาจทำให้เกิดการอักเสบของเอ็นกล้ามเนื้อบริเวณนิ้วโป้งได้เช่นกัน บางครั้งจะพบอาการบวมที่โคนนิ้วโป้งร่วมด้วย และเจ็บมากขึ้นเมื่อขยับนิ้วโป้ง

            อยากรู้ว่าเป็นโรคนี้ไหม ให้ลองกำนิ้วหัวแม่มือไว้ในอุ้งมือ แล้วบิดข้อมือไปด้านนิ้วก้อย หากเจ็บแปล๊บที่ข้อมือด้านนิ้งโป้ง ก็เสี่ยงเป็นโรคนี้ได้เลย

ส่วนถ้าใครมีอาการเจ็บบริเวณโคนนิ้วโป้งเหมือนโปรตฤน ต้องรีบไปพบนักกายภาพบำบัดใกล้ตัวคุณด่วนเลยจะได้ไม่เป็นมากขึ้น

 

ภาพประกอบ :  Ch3Thailand

 

ตอนที่ 2

การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา อย่าง โปรตฤณ

การใช้อัลตราซาวด์บำบัดเป็นหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยดูแลและบรรเทาอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา

            อัลตราซาวด์ที่พูดนี้ไม่ได้หมายถึงอัลตราซาวด์ที่ไว้ใช้ดูทารกในครรภ์แต่อย่างใด หากแต่หมายถึงเครื่องมือทางไฟฟ้าชนิดหนึ่งในทางกายภาพบำบัดซึ่งอยู่คนละความถี่กับอัลตราซาวด์ดูทารก

            อัลตราซาวด์บำบัดเป็นคลื่นความสั่นสะเทือน ที่มีความถี่สูงกว่าคลื่นเสียงที่เราได้ยิน แล้วเปลี่ยนมาเป็นพลังงานกล ที่ส่งผ่านไปยังเนื้อเยื่อหรือข้อต่อที่มีการบาดเจ็บโดยผ่านตัวกลางอย่างเจล ซึ่งให้ผลการรักษา 2 แบบ

 

            1. แบบไม่ใช่ผลความร้อน คือช่วยให้เกิดการเร่งการซ่อมแซมเนื้อเยื่อและข้อต่อ ช่วยลดการอักเสบ ปวดและบวม หรือการบาดเจ็บแบบเฉียบพลัน

 

            2. แบบผลความร้อน ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับกล้ามเนื้อ เพิ่มการเคลื่อนไหวของข้อต่อ หรือการบาดเจ็บที่เรื้อรัง

 

            ส่วนการตั้งค่าโหมด ความเข้มของกระแสที่ใช้ในการรักษานั้น นักกายภาพบำบัดจะเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแบบเฉพาะบุคคล

 

ภาพประกอบ :  Ch3Thailand

 

ตอนที่ 3

โปรตฤณ แอบแกะ?เทปสีที่นางเอกติดให้ออก

โดยที่ไม่รู้ว่านางเอกเป็นห่วง? อยากให้กลับไปแข่งได้ ไม่ได้ติดเป็นแฟชั่น

 

            การติดเทปสี หรือ Kinesiology tape เป็นการช่วยพยุงข้อต่อหรือกล้ามเนื้ออยู่ในตำแหน่งที่ควรอยู่ ป้องกันการบาดเจ็บซ้ำ ลดปวดและคลายกล้ามเนื้อที่ทำงานมากไป หรือจะกระตุ้นกล้ามเนื้อที่ทำงานน้อยไปให้ทำงานมากขึ้นก็ได้

 

            กลไกของเทปช่วยทำให้เพิ่มการไหลเวียนของน้ำเหลืองและเลือดให้ดีขึ้น ส่งผลให้กล้ามเนื้อคลายตัว การฟื้นฟูจึงดีขึ้น เร่งการซ่อมแซมในระยะที่มีการบาดเจ็บ ถ้าจะอาบน้ำก็ไม่ต้องแกะออก

 

ภาพประกอบ :  Ch3Thailand

 

            โปรดติดตามตอนต่อไปว่าสาวเจนนักกายภาพบำบัดคนสวยจะได้ดูแลใจ เอ้ย! ดูแลอะไรให้โปรตฤณอีกไหมน๊า หรือถ้าสนใจดูแลโปรตฤณแบบสาวเจน มาเรียนกายภาพบำบัดที่ ม.รังสิต ที่นี่เรามีสอน

 

โดย คณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยรังสิต

ขอขอบคุณภาพประกอบ :  Ch3Thailand

"

ผู้จัดทำ

บทความที่คุณอาจสนใจ