ทุกโอกาสที่เข้ามาเป็นบันไดสู่ความสำเร็จ เป็นสิ่งที่ทุกคนควรคว้าไว้ ศาสตร์และศิลป์ที่ไม่มีขอบเขตพร้อมให้เรียนรู้ ความสนุกที่หลายคนอาจค้นพบได้เพียงแค่หลงใหลและชื่นชอบในสิ่งที่ทำ จะนำพาเราก้าวไปบนเส้นทางที่ฝัน ได้ตามที่ตั้งใจไว้
เต๊ะ - พิชญ์วุฒิ วิรุตมวงศ์ ตำแหน่งอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล่าเส้นทางของการเป็นอาจารย์ให้ฟังว่า สถาปัตย์เราสามารถนำทั้งศาสตร์และศิลป์มาผสมผสานกันให้เกิดเป็นผลงานการออกแบบหนึ่งชิ้น ด้วยความชื่นชอบการวาดรูปและวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์ ทำให้เขาสนใจในสายงานของสถาปัตย์ ซึ่งม.รังสิต มีอุปกรณ์ที่พร้อมด้วยเทคโนโลยี เป็นยุคของดิจิทัลดีไซน์ ที่เกิดความผสมผสานของการวาดภาพและการใช้คอมพิวเตอร์ร่วมกัน ทำให้ที่นี่คือจุดเริ่มต้นของการเลือกเดินทางตามความฝัน หลังจากเรียนจบ ม.รังสิต เขาได้มีโอกาสไปทำงานที่สิงคโปร์เป็นเวลา 3 ปี จึงได้ศึกษาและเรียนรู้ ก่อนที่จะอยากพัฒนาตัวเองให้ก้าวขึ้นไปอีกขั้น จึงตัดสินใจศึกษาต่อป.โท ที่มหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น (The University of Tokyo) จากทุนรัฐบาลญี่ปุ่น (MEXT) ก่อนที่จะมาเป็นอาจารย์ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นเวลา 3 ปี จึงได้ไปศึกษาต่อ ป.เอก ที่มหาวิทยาลัยคิวชู (Kyushu University) และกลับมารับบทบาทอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่อีกครั้ง
พิชญ์วุฒิ กล่าวต่อว่า สถาปัตยกรรมศาสตร์เป็นการเรียนรู้กระบวนการหลาย ๆ อย่าง ก่อนจะนำมาประกอบออกแบบให้ได้ผลงานตามที่ต้องการ ต้องผ่านการคิดวิเคราะห์ข้อมูล ใช้จินตนาการในการออกแบบค่อนข้างสูง เรียนรู้การมองภาพให้หลายมิติ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวนี้ไม่ใช่แค่สำหรับงานออกแบบเท่านั้น แต่ยังสามารถเชื่อมโยงไปถึงการนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันด้วย
ในปัจจุบัน ทักษะเรื่องเทคโนโลยีเป็นความต้องการพื้นฐานของยุคสมัย เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เด็กรุ่นใหม่รวมถึงรุ่นเก่าควรเล็งเห็นความสำคัญและปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย จริงอยู่ที่อาจารย์เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ แต่อีกช่องทางที่สำคัญคือการค้นคว้านอกห้องเรียนที่จะช่วยพัฒนาทักษะให้ดีมากยิ่งขึ้น เทคโนโลยีจะช่วยให้การศึกษาค้นคว้าเข้าถึงได้ง่ายและหลากหลาย
“การที่เราจบออกมาไม่ใช่เพียงอาชีพสถาปนิกที่ทำงานได้ครบและครอบคลุม แต่สามารถนำความรู้ ความถนัดเฉพาะด้าน ไปต่อยอดและเติบโตในเส้นทางที่ชอบได้เหมือนกัน บางคนอาจสนใจเรื่องเมือง เรื่องชุมชน พฤติกรรม หรือสังคม ก็สามารถที่จะนำไปใช้กับการเรียนของเราได้ หาความชอบให้เจอและโฟกัสไปกับสิ่งนั้น บทบาทที่เราเป็นได้มากกว่าอาจารย์ มากกว่าการสอน ยังทำรีเสิร์ช ทำวิจัย ที่จะนำทักษะทางสถาปัตย์เกี่ยวกับการออกแบบมาประยุกต์ใช้ เพื่อพัฒนาชุมชนให้เติบโตและก้าวไปข้างหน้า ซึ่งเป็นความสุขและสนุกไปอีกแบบ” พิชญ์วุฒิ กล่าวแบบนั้น
อาจารย์เต๊ะยังทิ้งท้ายไว้ว่า สถาปัตย์ ม.รังสิต เป็นมหาวิทยาลัยที่ช่วยสร้างเครือข่ายให้กับนักศึกษา ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ รุ่นพี่ หรือวงการการทำงาน ทำให้มองเห็นภาพที่กว้างขึ้น ความแตกต่างของสถาปัตย์แต่ละที่มีความน่าสนใจยังไง ซึ่งเราสามารถนำคอนเนคชั่นเหล่านั้นมาต่อยอดในชีวิตการทำงานได้
"