วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต จัดงานสัมมนา “Make Fin in Digital Life” มุ่งให้นักศึกษาที่เรียนในรายวิชา RSU 161 การออกแบบและผลิตสื่อดิจิทัล และวิชา RSU 111 สังคมธรรมาธิปไตย ได้เรียนรู้กระบวนการผลิตสื่อและเทคนิคการครีเอทคอนเทนต์ให้น่าสนใจ หลักการทำงานเป็นทีม กระบวนการทำงานในยุคดิจิทัลอย่างมีความสุข โดยมี คุณรักชัย ไชยพยัคฆ์ CEO บริษัท โลละห้า จำกัด ให้เกียรติเป็นวิทยากร ผ่านระบบสตรีมมิ่งบนเพจเฟซบุ๊กของวิทยาลัยนิเทศศาสตร์

คุณรักชัย ไชยพยัคฆ์ เผยถึงหลักการบริหารบุคคลและกระบวนการทำงานด้านการผลิตสื่อว่า “ผมให้ความสำคัญกับการเลือกพนักงานที่มีเคมีเข้ากัน โดยพิจารณาว่าจะทำงานเข้ากับทีมส่วนใหญ่ได้หรือไม่ เพราะการทำงานเป็นทีมเป็นเรื่องสำคัญ ทุกคนมีความสำคัญ เราต้องมีความรักและเชื่อใจกัน นอกจากนี้ จะมีการให้รางวัลกับพนักงานที่ทำงานดี โดยให้วันเกิดของเขาเป็นวันหยุดของบริษัท หรือในช่วงที่พนักงานรู้สึกเหนื่อย ก็จะมีกิจกรรมผ่อนคลาย เช่น ชวนไปทานข้าว เล่นเกมกัน เพื่อให้พนักงานได้พัก

“สำหรับการทำงานในยุคดิจิทัลจะเริ่มจากการรับบรีฟงานจากลูกค้า ซึ่งขั้นตอนนี้สำคัญมาก ต้องเข้าใจว่าลูกค้าต้องการอะไร จากนั้นก็มาแจ้งทีมงาน แบ่งหน้าที่ ซึ่งกระบวนการทำงานหลักๆ ก็จะมีรับบรีฟงานให้แม่น แจกงานให้ทีมงาน ถ่ายทำ ตัดต่อ และส่งลูกค้า ส่วนเทคนิคการคิดคอนเทนต์ให้ไม่ซ้ำซากจำเจคือให้รู้จักบิดมุมมอง เช่น รายการเราอาจจะพาไปกินอาหารแปลกที่ไม่อร่อย หรือถ้าเราจะทำรายการเหมือนคนอื่นสามารถทำได้แต่เราต้องทำให้ดีกว่าคนอื่น” คุณรักชัย ฝากทิ้งท้าย


ในมุมมองของนักศึกษาในรายวิชา RSU 111 นายธนา ภู่พันธ์เจริญสุข (ลีวายส์) นักศึกษาสาขาวิชาการภาพยนตร์ดิจิทัล วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า “การเรียนในวิชา RSU 111 ช่วยให้ผมเข้าใจในเรื่องกระบวนการสื่อสาร เข้าใจนิสัยที่แตกต่างของผู้คนในสังคมมากขึ้น ซึ่งสามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงได้ แล้วพอได้มาฟังงานสัมมนาครั้งนี้ ทำให้ผมได้เรียนรู้การทำงานที่เป็นระบบ และตระหนักถึงความสำคัญของ Teamwork และการเลือกทำในสิ่งที่ชอบ ซึ่งทั้งพิธีกรและวิทยากรพูดได้ดีมากๆ ทำให้ผมอยากเดินหน้าต่อไปในสิ่งที่ผมชอบครับ”

ด้านนางสาวกรณิศา หัวหมื่น (นิด้า) นักศึกษาสาขาวิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ วิทยาลัยการออกแบบ มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้เรียนในรายวิชา RSU 161 แสดงความคิดเห็นว่า “งานนี้ช่วยให้ได้เรียนรู้วิธีการคิดคอนเทนต์ให้แปลกใหม่ ไม่ซ้ำใคร วิธีการหาแรงบันดาลใจในการทำงาน รวมถึงได้เรียนรู้ประโยชน์ของการทำงานแบบทีมเวิร์ค ที่หากเรามีทีมที่ดีจะช่วยให้งานออกมาดี และรู้สึกประทับใจการเรียนในวิชา RSU161 ตรงที่ช่วยให้เราเรียนรู้วิธีการสื่อสารผ่านสื่อรูปแบบต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ในการทำงานมากขึ้น เพราะที่สาขาวิชาการออกแบบนิเทศศิลป์เรียนเกี่ยวกับการสื่อสารด้วยภาพ จึงสามารถนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ด้วยกันได้ง่ายค่ะ”

นักศึกษาที่มีความสนใจอยากเรียนรู้และพัฒนาทักษะด้านการสื่อสาร การใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการผลิตสื่อที่หลากหลาย สามารถเลือกเรียนวิชา RSU 161 การออกแบบและผลิตสื่อดิจิทัล โดยรายวิชานี้จัดอยู่ในหมวดการศึกษาทั่วไป (Gen Ed.) รับผิดชอบดูแลการเรียนการสอนโดยวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ ซึ่งจะเปิดให้นักศึกษาทุกคณะเลือกลงทะเบียนเรียนได้ในทุกภาคการศึกษา
"