วันนี้เราได้มีโอกาสพูดคุยกับศิษย์เก่าคณะทัศนมาตรศาสตร์ ที่มีดีกรีสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทด้าน Optometry: Vision Science and Business (ทัศนมาตรศาสตร์) จากประเทศเยอรมัน อาจารย์ภัชภิชา ยกกำพล หรือ อาจารย์ปุ๋ย ผู้ช่วยรองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะทัศนมาตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต หนึ่งในสมาร์ททีม รุ่นแรก ของมหาวิทยาลัยรังสิต ที่จะมาถ่ายทอดประสบการณ์ทั้งการเรียนและการสอนในรั้วรังสิตให้ฟังกัน
คุยกับ Young Gen ไฟแรง
อาจารย์ปุ๋ย เล่าว่า เดิมหลักสูตรทัศนมาตรศาสตร์เป็นหลักสูตร 4 ปี เมื่อเรียนจบก็กลับไปบ้านเกิดที่หาดใหญ่ ในขณะเดียวกันก็กลับมาเรียนหลักสูตรต่อเนื่องอีกสองปีด้วย เพื่อให้ครบตามหลักสูตรสากลซึ่งเป็นหลักสูตร 6 ปี Doctors of optometry (O.D./ optometrist) หลังจากนั้นจึงกลับมาเป็นอาจารย์ที่ม.รังสิต และได้ทุนไปเรียนต่อปริญญาโททางด้าน Visual Science and Business ที่ Aalen University ประเทศเยอรมัน เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจึงกลับมาสอนต่อจนถึงปัจจุบัน
“ย้อนไปในขณะที่กำลังศึกษาปริญญาตรี ด้วยความที่ตอนนั้นคณะทัศนมาตรศาสตร์เป็นคณะใหม่ ปุ๋ยเรียนเป็นรุ่นที่ 2 ก็เริ่มมีการตั้งสมาร์ททีม โดยฝ่ายสื่อสารองค์กร ของมหาวิทยาลัยรังสิตขึ้นมา ซึ่งเป็นทีมที่นักศึกษาจากทุกคณะจะให้ข้อมูลถามตอบเกี่ยวกับการเรียนการสอนให้แก่น้องๆ ม.ปลายที่สนใจ ซึ่งเราเป็นเด็กกิจกรรมอยู่แล้วตั้งแต่เรียนม.ปลาย และตอนนี้ก็ยังคงทำหน้าที่นี้อยู่จนถึงปัจจุบันที่เป็นอาจารย์ ในขณะเรียนตอนนั้นเป็นนักศึกษารุ่นที่ 2 ซึ่งมีรุ่นพี่คอยช่วยเหลือ เราก็พยายามพาเพื่อนๆ และรุ่นพี่ไปทำกิจกรรมให้คณะต่างๆ รู้จัก และตอนที่กลับมาเรียนสองปีต่อเนื่องได้มีโอกาสเจออาจารย์เก่งๆ รู้สึกว่าทำให้เราได้งานดีๆ ด้วย ตอนจบออกมาได้เกียรตินิยมอันดับ 2 หลังจากนั้นอาจารย์ก็ชวนมาเป็นอาจารย์ที่นี่ ซึ่งในระหว่างที่เรียน 2 ปีนั้น ได้ทำงานที่โรงพยาบาล คลินิกตา และเป็นดีเจไปพร้อมกัน
โดยส่วนตัวมีความรู้สึกว่าการเป็นนักวิชาการประสบการณ์เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะการที่จะถ่ายทอดให้เด็กโดยที่ไม่มีประสบการณ์เลยเราอยู่แต่ในหนังสือค่อนข้างยาก รู้สึกโชคดีมากที่ได้ออกไปทำงานข้างนอกมาก่อนที่จะกลับมาเป็นอาจารย์ ได้อะไรหลายอย่างกลับมาสอนนักศึกษา โดยเฉพาะทางด้านการตลาดและการบริหารจัดการโดยเฉพาะที่คลินิกซึ่งต้องจัดการเองเกือบทั้งหมด จากการไปเรียนต่อที่เยอรมันทำให้เราได้ความรู้ทางด้านการตลาดเพิ่มขึ้นมามาก อาจารย์ที่สอน Marketing เป็น CEO ของบริษัท ไลก้า แต่ในคลาสมีเราเป็นเอเชียนอยู่คนเดียวก็รู้สึกสนุกดีค่ะ”
ม.รังสิตคือ “บ้าน”
ให้นิยามสั้นๆ ว่า ม.รังสิต คือ “บ้าน” อาจารย์หลายท่านเหมือนเป็นคนในครอบครัว ที่นี่เหมือนบ้านหลังหนึ่งด้วยความที่เราไป-กลับ และพี่ๆ ในมหาวิทยาลัยก็เป็นเหมือนพี่เรา รู้สึกอบอุ่น ปุ๋ยมีความรู้สึกว่าม.รังสิต เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีการบริหารจัดการตัวเองที่รวดเร็ว ความผูกพันกับคณะก็ยังเหมือนเดิม เพราะว่าสาขาของเราเป็นสาขาที่คนไม่เยอะ เวลาไปไหนมาไหนก็จะเจอเพื่อนๆ น้องๆ ที่สนิทกัน
จากศิษย์เก่าสู่การเป็น “อาจารย์”
ปุ๋ยมองว่าเด็กรุ่นใหม่จะมีความคิดเป็นของตัวเองสูง เวลาที่จะพูดอะไรกับเขาเราจะมองว่าเราเป็นครูที่เก่งทุกเรื่องไม่ได้นะ ในแง่ของการถ่ายทอดความรู้เราจะเป็นลักษณะของการแชร์กันมากกว่า การแชร์ความรู้ซึ่งกันและกัน เด็กหลายคนที่เขามีการต้องการศึกษาหาความรู้บางทีเขาก็เปิดหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตอ่านมาก่อน โดยเฉพาะเด็กสายวิทย์ ซึ่งเขาอาจจะไปรู้เรื่องอะไรที่เราไม่รู้ก็ได้ ส่วนตัวเรารู้สึกว่าระหว่างนักศึกษามีความเป็นพี่เป็นน้องด้วยส่วนหนึ่ง เป็นครูด้วยส่วนหนึ่ง เหมือนเราแชร์กันในครอบครัวแล้วคุยกัน อย่างที่บอกว่าเด็กรุ่นใหม่จะมีความคิดความอ่านเป็นของตัวเอง อยากให้ฟังเขามากขึ้นหน่อย อย่ามองว่าเรารู้ไปทุกเรื่อง เขาเก่งในหลายเรื่องที่เราไม่รู้ก็เยอะมาก พอเราฟังเขาก็ทำให้ได้อะไรหลายๆ อย่าง เหมือนเราได้เรียนรู้ซึ่งกันและกันค่ะ
ไลฟ์สไตล์ อ.ปุ๋ย
ทุกวันนี้ทำงาน 7 วัน แต่ด้วยความที่อยากก้าวไปอีกสเตป ซึ่งตอนนี้คณะทัศนมาตรศาสตร์ เปิดหลักสูตรปริญญาโท ซึ่ง Master's degree ในประเทศไทยยังไม่มี Master’s degree ด้าน Optometrist และ Masters Degrees Clinical Optometry เป็นแห่งแรกแห่งเดียวในไทย จึงเป็นอะไรที่เรารู้สึกภูมิใจมาก และนับเป็นหลักสูตรในระดับสากล เมื่อเข้ามาเรียนแล้วสามารถที่จะก้าวสู่สมาคมโลกได้จึงต้องทุ่มเทในระยะเริ่มต้น ก็รู้สึกมีความสุขกับการทำงาน ซึ่งนี่คือไลฟ์สไตล์จริงๆ
"