คณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมกับ เครือข่ายคนพิการ เปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดหน่วยบริการผู้ช่วยคนพิการ มุ่งพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมหน่วยจัดบริการผู้ช่วยคนพิการ
ดร.วรชาติ เฉิดชมจันทร์ คณบดีคณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า คณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา ได้เปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดหน่วยบริการผู้ช่วยคนพิการ โดยมีหน่วยงานที่เข้าร่วมประชุม ได้แก่ มูลนิธิการดำรงชีวิตอิสระคนพิการ ศูนย์ดำรงชีวิตอิสระคนพิการ จังหวัดชลบุรี ศูนย์ดำรงชีวิตอิสระคนพิการ จังหวัดปทุมธานี ศูนย์ดำรงชีวิตอิสระคนพิการ จังหวัดนนทบุรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังสถานการณ์ ปัญหาอุปสรรค มุมมอง ข้อคิดเห็น จากหน่วยจัดบริการผู้ช่วยคนพิการ และมุ่งพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมหน่วยจัดบริการผู้ช่วยคนพิการ
ผศ.ดร.นเรฏฐ์ พันธราธร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม
“ที่ผ่านมาได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมเนื่องจากเราเป็นเครือข่ายคนพิการอยู่แล้ว ซึ่งทำงานร่วมกันหลายอย่างตั้งแต่การกำหนดวิสัยทัศน์ของเครือข่ายที่จะทำงานร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทั้งนี้ ปัญหาของคนพิการคือ การที่จะดำรงชีวิตอิสระ หรือการไปไหนมาไหนได้อย่างอิสระ ถือเป็นประเด็นสำคัญมากๆ สำหรับคนพิการที่ยังมีข้อจำกัด ที่ระบบสาธารณูปโภคบ้านเราไม่ได้ออกแบบมาให้คนพิการสามารถออกมาใช้ชีวิตได้ ฉะนั้น คนพิการจึงต้องมีผู้ช่วยคนพิการขึ้นมา และการที่จะมีผู้ช่วยคนพิการที่ดีเพื่อจะช่วยเหลือให้คนพิการใช้ชีวิตอิสระได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีหน่วยจัดบริการ เพื่อจัดบริการผู้ช่วยที่มีคุณภาพส่งไปให้กับคนพิการที่สามารถพาคนพิการออกไปใช้ชีวิตได้ ด้วยเครือข่ายของกลุ่มคนพิการเองมองเห็นศักยภาพของคณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยรังสิต จึงถือโอกาสเชิญชวนทางคณะฯ ในการพัฒนาหลักสูตรการจัดตั้งหน่วยจัดบริการผู้ช่วยคนพิการ เพื่อให้โอกาสคนพิการได้รับการช่วยเหลือจากผู้ช่วยคนพิการ และปลายทางคือคนพิการก็จะมีชีวิตอิสระ มีคุณค่าในสังคมเพิ่มมากขึ้น”
ดร.วรชาติ กล่าวว่า สำหรับกระบวนการหลักสูตรนั้นจะต้องสอบถามผู้ที่เกี่ยวข้องว่ามีความคิดเห็นและเนื้อหาอย่างไร เวทีวันนี้เป็นอีกเวทีหนึ่งที่เราจะขอข้อมูลสำคัญของคนที่มีประสบการณ์ในการทำงานที่เป็นหน่วยจัดบริการอยู่แล้ว เข้ามาร่วมสะท้อนเกี่ยวกับปัญหาอุปสรรค เพื่อที่จะนำมาใช้เป็นข้อมูลตั้งต้นในการออกแบบหลักสูตร ดังนั้น ในกระบวนการที่เราสนใจก็คือเราหาข้อมูลของเขามาแล้วก็ร่างข้อมูลเทียบกับข้อมูลที่มีในต่างประเทศว่าเป็นอย่างไร และทำร่างหลักสูตรขึ้นมาและนำเสนอให้เขาวิพากย์อีกครั้งหนึ่ง โดยอาจทดลองใช้ในบางพื้นที่ดูก่อนว่าเป็นอย่างไร และถ้าดีจริงเราจะนำหลักสูตรนี้ไปยื่นให้กับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) รับรอง ซึ่งจะทำให้เรามีหลักสูตรหน่วยจัดบริการที่มีคุณภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดกับคนพิการได้จริงๆ โดยตั้งใจว่าถ้าประสบความสำเร็จได้รับการรับรองหลักสูตรแล้วคนพิการทั่วประเทศไทยในจังหวัดต่างๆ ก็จะลุกขึ้นมาจัดหน่วยบริการนี้ขึ้นมาเพื่อดูและกันเอง หรือองค์กรภาคเอกชนที่เห็นความสำคัญ เห็นคุณค่าและความหมายของคนพิการมากขึ้นก็อาจจะมาร่วมจัดบริการกับคนพิการแบบนี้
ด้าน นายวันเสาร์ ไชยกุล กรรมการ/ เลขานุการมูลนิธิการดำรงชีวิตอิสระคนพิการ กล่าวว่า สำหรับเวทีในวันนี้มีความตั้งใจจะพัฒนาให้เกิดหน่วยบริการผู้ช่วยคนพิการ ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยยังไม่มีหลักสูตรนี้โดยเฉพาะ เราจึงต้องการพัฒนาหลักสูตรขึ้นมา เพื่อให้มีหน่วยตรงกลางจะทำให้ไม่เกิดการประสานงานโดยตรงระหว่างผู้ช่วยผู้พิการและคนพิการ เนื่องจากหากเกิดการประสานงานกันเองเราจะไม่สามารถควบคุมการให้บริการได้ อย่างเช่นอาจจะจัดบริการเกินเวลาที่กำหนด หรือไม่ไปให้บริการตามที่แจ้งไว้ หากเราไม่มีระบบก็จะไม่สามารถควบคุมได้ เนื่องจากไม่มีหน่วยงานตรงกลางเข้ามาควบคุม
“อย่างไรก็ตาม วิธีการบริหาร การจัดการคน การจัดการปัญหาหน่วยจัดจะต้องมีทักษะ ซึ่งที่ผ่านมา 2 ศูนย์ ที่ประสบความสำเร็จคือ ศูนย์ดำรงชีวิตอิสระคนพิการ จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดชลบุรี วันนี้จึงเป็นการเชิญแต่ละศูนย์มาร่วมงานและจะพัฒนาเป็นหลักสูตร ซึ่งที่ผ่านมาเรามีประสบการณ์ มีทักษะ แต่ไม่สามารถพัฒนาเป็นหลักสูตรได้ จึงต้องขอความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยรังสิต ช่วยจัดบริการวิชาการให้เรา เพื่อดึงชุดความรู้ของเรามาพัฒนาเป็นหลักสูตร และเมื่อพัฒนาหลักสูตรสำเร็จแล้วจึงจะสามารถนำหลักสูตรที่ได้รับการรับรองจากมหาวิทยาลัยรังสิต ไปนำเสนอให้กับหน่วยงานรัฐได้ว่าหลักสูตรเราได้รับการรองรับและพัฒนาเป็นหลักสูตรแล้ว” กรรมการและเลขานุการมูลนิธิการดำรงชีวิตอิสระคนพิการ กล่าว
คุณชญาดา วิริยะสิริเวช ศูนย์ดำรงชีวิตอิสระคนพิการ จังหวัดชลบุรี กล่าวว่า สำหรับการอบรมครั้งนี้มีความคาดหวังว่าจะนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการเป็นทั้งวิทยากร และผู้ถ่ายทอดประสบการณ์ในการทำงานจริงเวลาที่ทางมูลนิธิฯ จัดกิจกรรม เพื่อที่จะจัดการประชุมให้กับหน่วยงานองค์กรที่สนใจ และคาดหวังว่าอยากจะให้เรามีหลักสูตรที่สามารถทำให้คนที่สนใจและองค์กรที่สนใจเข้ามาร่วมอบรมกับเรา และเป็นหน่วยจัดบริการผู้ช่วยคนพิการไปด้วยกันค่ะ
"