อธิการบดี ม.รังสิต นำทีมคณาจารย์สัมมนาระดมความคิดเห็น “การปฏิรูปการศึกษา มหาวิทยาลัยรังสิต”

08 Feb 2018

 

     ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ปักหมุดเดินหน้า การปฏิรูปการศึกษา มหาวิทยาลัยรังสิต” ครั้งที่ 4  โดยจัดสัมมนาระดมความคิดเห็นผู้บริหาร คณาจารย์มหาวิทยาลัยรังสิต ชูธงการศึกษายุคใหม่ต้องสามารถผลิตบัณฑิตที่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบันและอนาคตได้อย่างอิสระ เพื่อเท่าทันยุค Digital tech transformation

 

 

     ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า มหาวิทยาลัยรังสิตเคยมีการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่มาแล้ว 3 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 (พ.ศ.2544) ช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง โดยชูธงเรื่องการปฏิรูประบบโครงสร้างการบริหารจัดการภายใน ครั้งที่ 2 (พ.ศ.2548-4549) ช่วงวิกฤตมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ และมีคำถามว่ามหาวิทยาลัยเอกชนจะอยู่รอดหรือไม่ โดยชูธงเรื่องการปฏิรูปการเรียนการสอน ครั้งที่ 3 (พ.ศ.2551) ช่วงการเปลี่ยนแปลงความวุ่นวายทางการเมือง ปฏิรูปมหาวิทยาลัยชูธงเรื่องสังคมธรรมาธิปไตย และครั้งที่ 4 (พ.ศ.2561) จะเป็นการปรับตัวการปฏิรูปการศึกษาครั้งสำคัญ สู่การสร้างผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลงและความเป็นมืออาชีพเพื่อเท่าทันยุค Digital tech transformation

 

 

     อธิการบดี ม.รังสิต กล่าวต่อว่า ทุกครั้งที่เกิดวิกฤตเราชาวมหาวิทยาลัยรังสิตจะรวมตัวกัน สำหรับการจัดเวทีเพื่อระดมความคิดเพื่อการปฏิรูปการศึกษาในครั้งนี้ เพราะจำนวนนักศึกษาที่ลดลง เพราะประชากรลดลง จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น เด็กไม่เรียนหนังสือมากขึ้น เหล่านี้คือส่วนหนึ่งของปัญหา แต่เรื่องที่มีความน่ากังวลมากกว่านั้นคือ เรียนแล้วได้อะไร เพราะที่ผ่านมาเรามีค่านิยมที่ผิดมาตลอด เช่น เรื่องการแบ่งชั้นวรรณะ สร้างความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ใช้ระบบแพ้คัดออก สิ่งเหล่านี้ทำให้การศึกษาไม่เจริญ เพราะการศึกษาต้องสร้างศักยภาพให้เต็มที่ สามารถทำอะไรได้ไม่สิ้นสุด สร้างความเข้มแข็งให้คน และเราต้องมาดูกันว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นจะมีเหตุการณ์อะไรที่เรียกว่า คลื่นลูกที่4 คือ โลกจะเปลี่ยนแปลงเร็วเป็นปกติ อัจฉริยะของคนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น เช่น โทรศัพท์เป็นอภิสิทธิ์ชน ปรากฏการณ์ที่สื่อสิ่งพิมพ์เริ่มล่มสลาย ธนาคารเริ่มปิดสาขาและลดพนักงาน เป็นต้น ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นถึงวิกฤตที่เกิดขึ้น ถึงแม้ว่าจะดูรุนแรงแต่ทั้งนี้ก็มีการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอดในทางเทคโนโลยี “คน” จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดเท่าที่โลกสร้างมา เมื่อเป็นเช่นนี้สิ่งที่จำเป็นต้องทำคือ การสร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมาแทน การศึกษาของเราตอบโจทย์ ตอบความความต้องการของชีวิตหรือไม่ จบแล้วไปสร้างคุณค่าและสร้างประโยชน์อย่างไร หมดยุคที่เราจะกำหนดว่าเรียนจบแล้วต้องทำงานตรงสาขาที่เรียนมา

      “เพราะการศึกษาแบบใหม่สิ่งสำคัญคือผู้เรียนต้องเรียนด้วยความเข้าใจจนเชี่ยวชาญทักษะในความหมายกว้าง มีวิธีคิด ไม่ใช่เรียนรู้เพียงแค่ท่องจำเนื้อหาในหนังสือ หรือเรียนจบตามหลักสูตรการวัดผล แต่เราต้องดูว่าเรียนแล้วประสบความสำเร็จและมีทักษะชีวิต  Personalized, Perfect and Free   การศึกษาทุกอย่างต้องมีทางเลือก (Regenerative) หรือใช้แนวทางการศึกษาแบบ Innovation startup entrepreneurship” ดร.อาทิตย์ กล่าวเพิ่มเติม

 

 

     ด้าน ผศ.ดร. นฤพนธ์ ไชยยศ ผู้อำนวยการสถาบันGen Ed. และคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า การที่เราจะเดินหน้าต่อไปเพื่อร่วมกันปฏิรูปการศึกษา ม.รังสิต ต่อไปได้ ทุกคนต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลง และร่วมมือกันกำหนดทิศทางในการพัฒนาคนไปสู่เป้าหมาย โดยไม่ยึดติดกับกรอบเดิมๆ แล้วมาตั้งเป้าหมายโดยพิจารณาว่า ความจริงของการศึกษาทุกวันนี้แก่นคืออะไร เราดำเนินการจัดการเรียนการสอนโดยยึดหลักเกณฑ์ทางการศึกษาและการวัดผลตาม สกอ. สมศ. มานานกว่า 30 ปี แต่เดิมการศึกษาเน้นสร้างวิชาชีพ และเราไปโฟกัสที่จุดนี้ 80% โดยมีวิธีคิดแบบอุตสาหกรรม ผลิตคนในแบบเดียวกันหมด ซึ่งไม่สอดคล้องกับโลกแห่งความเป็นจริง ขณะเดียวกันเด็กยุคใหม่เติบโตมาในยุคการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี พวกเขามีความรู้เกี่ยวกับสื่อโซเซียลต่างๆ เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว สิ่งที่เราในฐานะผู้สอนจะต้องคิดเพิ่มเติมคือ เนื้อหาอะไรที่เราจะเอาไปสอน ผู้สอนจะ Coaching และเรียนรู้ไปพร้อมกับผู้เรียนอย่างไร และในการปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้จะมองใน 4 ประเด็น คือ 1.Professing 2.ด้านภาษาและเทคโนโลยี 3.Living Skill และ 4.Life Skill การสร้างวุฒิภาวะของผู้นำ 

     นอกจากนี้ มีการแสดงวิสัยทัศน์ของคณบดีวิทยาลัยและคณะต่างๆ ช่วง RSU Talk นอกกรอบ ประเด็นต่างๆ ดังนี้

เน้นวิชาเรียนที่หลากหลาย ทันสมัย สร้างความร่วมมือกับอาชีวะและมหาวิทยาลัยต่างประเทศ

     ดร.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ อธิการวิทยาลัยการท่องเที่ยวและการบริการ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่าปัจจัยสำคัญ 4 อย่างในการปฏิรูปการศึกษาของเราคือ ครู นักเรียน หลักสูตร และการบริหาร ต้องมีการสำรวจความต้องการ การจัดลำดับความสำคัญ รวมทั้งการสร้างจุดแข็งให้กับองค์กร ซึ่งการสร้างแรงบันดาลใจเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการที่จะเดินหน้าทำงานไปด้วยกัน ในส่วนของการดำเนินงานและการจัดการเรียนการสอนของวิทยาลัยการท่องเที่ยวและการบริการมีการปรับโครงสร้างแบบพลิกโฉม การสร้างความเข้าใจและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในการดำเนินการหรือทำโครงการต่างๆ ได้มีการทำแบบสอบถาม และไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามต้องมีการทดลองทำก่อนเพื่อดูถึงจุดเด่น จุดด้อย และนำไปพัฒนาต่อยอดให้ดีขึ้น นอกจากนี้ ในด้านการเรียนการสอนเราได้มีการกำหนดการจัดรายวิชาการเรียนการสอนที่ทันสมัย เน้นให้ผู้เรียนสามารถคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และประยุกต์ใช้งานได้จริง มีการสร้างความร่วมมือกับอาชีวะ และความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างชาติ ในโครงการฝึกงานต่างประเทศ ให้ผู้เรียนสามารถใช้ทักษะในการเรียนการสอนที่หลากหลายไปใช้ในการทำงานในวิชาชีพต่างๆ ได้อย่างมืออาชีพ

 

นวัตกรรมสังคม... เน้นการเรียนรู้ร่วมกัน

       รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า การเรียนการสอนของวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม จะเน้นสร้างบรรยากาศในการเรียนการสอนโดยให้นักศึกษาได้ฝึกการคิด วิเคราะห์ มีการออกแบบการเรียนการสอนให้มีความยืดหยุ่น ใช้หลักการวัดผลที่หลากหลาย เช่น การสอบปากเปล่า การทำรายงานโดยนำเรื่องราวในสังคมหรือร่วมสมัยมาเป็นโจทย์ ให้รายวิชาต่างๆ มีอาจารย์ผู้สอนมากกว่าสองคนต่อคลาสการเรียนการสอน สำหรับคุณสมบัติของการผลิตบัณฑิตนวัตกรรมสังคม คือ มีความซื่อสัตย์ในความเป็นมนุษย์ มีมนุษยสัมพันธ์ สามารถทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะได้ดี เป็นผู้นำองค์กรได้ ระหว่างเรียนมีการส่งเสริมการหารายได้ให้แก่นักศึกษาหรือสนับสนุนในสิ่งที่นักศึกษามีความถนัดและอยากทำ โดยมีการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะกับคน

เปลี่ยนจากคณะวิชา เป็นคณะวิชาเป็นผลลัพธ์ เพื่อสร้างนวัตกรรม

          รศ.นันทชัย ทองแป้น คณบดีคณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ลักษณะการเรียนการสอน เราต้องเปลี่ยนจาก Informative และ Formative Learning ให้เป็น Transformative Learning เพื่อสร้าง Change Agent Skill และ Leadership Skill ให้กับผู้เรียน เป้าหมายของเราคือ การสร้างให้นักศึกษามีทักษะการเป็นเจ้าของ มี Innovation มีความเป็นผู้นำ และสร้างความเป็นผู้ประกอบการเป้าหมายของเราคือ การสร้างให้นักศึกษามีทักษะการเป็นเจ้าของ มี Innovation มีความเป็นผู้นำ และสร้างความเป็นผู้ประกอบการ โดยมีแนวทางการทำงานดังนี้ 1.ทีมบริหาร ในคณะควรมีคนที่มีทัศนคติที่ต่างกันอยู่ในทีมเดียวกัน โดยต้องมีทีมที่หาแหล่งทำความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน เพื่อหาทุนพัฒนาผลงานต่างๆ ให้เกิดเป็นผลลัพธ์ตามที่เราต้องการ 2.ทีมพัฒนานักศึกษา โดยมีสโมสรนักศึกษา และชมรมนักศึกษา โดยมีเป้าหมายคือ การตั้งสโมสรนักศึกษาให้เสร็จภายใน 3 เดือน มีการตั้งสมาคมศิษย์เก่า ซึ่งทีมนี้เป็นการพัฒนาทัศนคติของนักศึกษา 3.ทีมหลักสูตร ดูแลในเรื่องของการเรียนการสอน และคุณภาพการศึกษา เราไม่สอนวิชาแต่สอนผลลัพธ์ที่ต้องการ มีการสอนผ่านService Learning และ Innovation จากนั้นสิ่งที่จะทำต่อไปคือ การประเมินผล โดยอาจารย์ผู้สอนจะต้องมีห้องวิจัย หรือมีส่วนร่วมในการวิจัยของนักศึกษา ทั้งนี้ การประเมินผลการเรียนการสอนมี 3 เกณฑ์คือ 1.เน้นจากห้องสอบที่เปิดเผย เพราะเราไม่สอนวิชาแต่เน้นสอนผลลัพธ์ 2.เน้นการสอบเป็นทีม 3.ถูกผิดไม่มี เน้น Critical Thinking และสุดท้ายคือให้อาจารย์เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มีการสร้างทักษะอาจารย์แนวใหม่

ไม่เอาวิจัยขึ้นหิ้ง… เปลี่ยนจากผู้เสพเป็นผู้สร้าง

        ผศ.ดร.เชฏฐเนติ ศรีสะอ้าน คณบดีวิทยาลัยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า เราต้องสร้างเยาวชนรุ่นใหม่ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ จึงเป็นที่มาของ Startup ยกตัวอย่างงานวิจัยที่อยู่บนหิ้ง เรื่องไหนที่ควรทำเราควรทำต่อ ทางคณะได้สร้างวิชาหนึ่งขึ้นมาคือ Innovation Startup ซึ่งทุกสาขาวิชาต้องเรียน เราต้องการโค้ชที่จะสร้างเด็กรุ่นใหม่ที่เขาฝันอะไรเราต้องไปเติมเต็มสิ่งนั้น End Product คือ เราหวังว่านวัตกรรมนั้นจะต้องเปลี่ยนโลกได้ ทั้งนี้ นวัตกรรมที่ดีคือ ต้องทลายนวัตกรรมเก่าแล้วสร้างใหม่ให้ดีกว่า ซึ่งนี่คือลักษณะนวัตกรรมที่เปลี่ยนโลก

 

 

         ผู้ปกครองต้องการให้ลูกมีอนาคตที่ดี สิ่งแรกที่เราต้องสร้างคือ ต้องสร้างอาชีพให้เขา ถ้าเราไม่สามารถสร้างโอกาสให้เขานั่นคือผู้ประกอบการ เด็กจะไม่สามารถเลี้ยงตนเองได้ ดังนั้น ทางคณะจึงจัดให้มีการฝึกงาน 2 ครั้ง และต้องมีการจ่ายค่าตอบแทนตามจริง ที่สำคัญคือมุ่งสู่ต่างประเทศ สู่การเป็นโคช อย่างเช่น น้องสแปม นางสาวภูวิสา ฉวาง นักศึกษาสาขาวิชาสารสนเทศการลงุทน ที่คว้ามงกุฎ Miss All Nations สร้างความภูมิใจให้แก่คนทั้งประเทศ ดังนั้น ถ้าเราไม่สามารถขยับวิจัยที่ขึ้นหิ้ง เราทำอะไรแล้วถูกวางไว้บนหิ้ง งานวิจัยที่ขายไม่ได้ก็ไม่ใช่นวัตกรรม และนวัตกรรมที่ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนโลกได้ก็จะไม่ใช่ Creative Disruption

นิเวศการเรียนรู้สู่การเติบโตภายใน

            ดร.วรชาติ เฉิดชมจันทร์ คณบดีคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า เราให้ความสำคัญกับนิเวศการเรียนรู้ ซึ่งหมายถึงสิ่งมีชีวิตทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ สิ่งที่เราคิดว่าสำคัญที่นำไปสู่กุญแจแห่งความสำเร็จคือ เพื่อน อาจารย์(ครู) หลักสูตร สังคมและชุมชน สิ่งที่เราพยายามทำคือ เปิดโลกภายในตัวเขาเอง สามารถเปิดมุมมองในชีวิตใหม่ๆ ได้ เพื่อนอาจจะเป็นคนชายขอบ คนไทยไร้สัญชาติ ฯลฯ ยกตัวอย่าง นางสาวหทัย คนไทยพลัดถิ่น ที่ไม่มีนามสกุลและบัตรประชาชน โดยท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต ได้มอบนามสกุล และให้โอกาสทางการศึกษาโดยให้ทุนเรียนในคณะกายภาพบำบัด ซึ่งเพื่อนกลุ่มนี้จะช่วยเปิดมุมมองให้กับเด็กที่อยู่ในกรุงเทพ การเรียนรู้เชื่อมโยงกับชีวิตเขา ทั้งนี้ ในเชิงของทักษะวิชาชีพที่เราจัดการศึกษา 4 ชั้นปีคือ Head Hand Heart โดยปี 1 สามารถเขียนเรื่องราวของตนเองเป็นเรื่องเล่าได้ และสามารถเชื่อมโยงทักษะต่างๆ ปี 2 เน้นเรื่องของ Teamwork การทำโปรเจ็กต์ เล่นละคร อ่านวรรณกรรมเพื่อเรียนรู้ ทักษะการฟัง เพื่อการทำงานร่วมกับผู้อื่น ปี 3 สร้างความเป็นผู้นำที่ขึ้นเป็นลงเป็น สอนเรื่องของการใช้ Soft Power-Research Mind และปี 4 เน้นในเรื่องของการส่งเด็กไปอยู่ในชุมชน ซึ่งที่อื่นไม่มี สอนในเรื่องของความตาย เป็นต้น

           อย่างไรก็ตาม คนที่ประสบความสำเร็จมีอยู่ 2 อย่างคือ หนึ่ง ไอเดีย ซึ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จเพียงแค่ 2% และสองคือ บุคลิกท่าทาง อย่างเช่น กรณีเด็กแวนซ์ ซึ่งไม่สามารถเข้าระบบอุดมศึกษาได้เลย ติดดื่ม ติดนอน ติดอบายมุข และเรียนไม่จบภายใน 4 ปีตามหลักสูตร สอบใบประกอบวิชาชีพไม่ได้ เพราะความรู้ความสามารถยังไม่พอ พอไปเป็นทหารและกลับมาสอบใบประกอบโรคศิลป์ได้ อะไรคือสิ่งที่เขาสนใจที่จะมีชีวิตอยู่เพื่อทำสิ่งที่มีความหมาย และนี่คือสิ่งที่ทำให้เห็นว่าอะไรคือสิ่งที่เขาสามารถชนะใจคนอื่นและนำไปสู่ความสำเร็จ

 

 

 

"

ผู้จัดทำ

บทความที่คุณอาจสนใจ